สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บรรยากาศผลุบ ๆ โผล่ ๆ ของซีรีส

บรรยากาศผลุบ ๆ โผล่ ๆ ของซีรีส

30 เม.ย. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวซีรีส เป็นดาวเคราะห์แคระดวงหนึ่ง อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย เคยจัดเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 1,000 กิโลเมตร ขณะนี้มียานดอว์นกำลังสำรวจอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2558 

ดาวซีรีสมีสิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งที่นักดาราศาสตร์พบมาตั้งแต่ก่อนที่ยานดอว์นไปถึงแล้ว นั่นคือ ดาวเคราะห์แคระดวงนี้มีบรรยากาศด้วย 

บรรยากาศของซีรีสเบาบางมาก ประกอบด้วยไอน้ำเป็นหลัก เป็นบรรยากาศไม่ถาวร บางครั้งก็ตรวจพบ บางครั้งก็ตรวจไม่พบ เช่นเมื่อปี 2534 ดาวเทียมไอยูอีตรวจพบแก๊สไฮดร็อกซีลปล่อยออกมาจากซีรีส ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งปีตรวจไม่พบ ในปี 2550 เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีของหอสังเกตการณ์ยุโรปซีกใต้ได้พยายามค้นหาไฮดร็อกซีลบนซีรีสบ้างแต่ก็ไม่พบ มาถึงในปี 2557 หอสังเกตการณ์อวกาศเฮอร์เชลตรวจพบน้ำในบรรยากาศอันเบาบางของซีรีสจากการสำรวจสามครั้ง แต่ในครั้งที่สี่กลับไม่พบ

ยานดอว์นซึ่งสำรวจซีรีสอย่างละเอียดจากวงโคจรมาตั้งแต่ปี 2558 พบหลักฐานว่าดาวเคราะห์แคระดวงนี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงเกือบครึ่ง การที่เป็นวัตถุที่มีน้ำแข็งมาก ในบางแง่มุมนักดาราศาสตร์จึงมองดาวซีรีสว่าเป็นนิวเคลียสดาวหางขนาดยักษ์ และกลไกการกำเนิดบรรยากาศของซีรีสก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนดาวหาง เมื่อดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งในหัวดาวหางระเหิดไปเป็นไอออกมาและก่อตัวกันเป็นบรรยากาศ ยิ่งเข้าใกล้ อัตราระเหิดก็ยิ่งมากขึ้น 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งนำโดย มิเคลา วิลลารีล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ ณ ลอสแองเจลีส พบว่า พฤติกรรมแบบดาวหางอาจอธิบายการเกิดบรรยากาศของซีรีสไม่ได้ทั้งหมด โดยชี้ว่าช่วงเวลาที่ตรวจพบบรรยากาศบนซีรีสสอดคล้องกับช่วงที่มีกัมมันตภาพดวงอาทิตย์สูงกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงที่ดาวซีรีสมีบรรยากาศเด่นชัดที่สุด ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ดาวซีรีสเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 

"เราเชื่อว่าบรรยากาศของซีรีสเกิดขึ้นและหายไปตามการกระตุ้นของกัมมันตภาพสุริยะมากกว่า เมื่ออนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์พุ่งเข้ากระทบกับน้ำแข็งบนพื้นผิวหรือที่ใต้ดินที่อยู่ใกล้ผิว จะทำให้โมเลกุลของน้ำหลุดออกจากพื้นดินและลอยสูงขึ้นก่อเป็นบรรยากาศบางเบาที่อาจคงอยู่ได้นานราวหนึ่งสัปดาห์" วิลลารีลอธิบาย

กระบวนการเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นบนวัตถุในระบบสุริยะที่ไม่มีบรรยากาศดวงอื่นเช่นกัน เช่นบริเวณขั้วของดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย" คริส รัสเซล หัวหน้าผู้สอบสวนของภารกิจดอว์นเสริม

ขณะนี้ ดาวซีรีสกำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ ตามวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นวงรี ส่วนดวงอาทิตย์ก็กำลังอยู่ในช่วงที่เข้าสู่ช่วงต่ำสุดของวัฏจักรสุริยะ ทำให้ดวงอาทิตย์ไม่ค่อยมีกัมมันตภาพรุนแรงนัก ดังนั้น หากทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์คณะนี้ถูกต้อง ช่วงหลายปีต่อจากนี้ดาวซีรีสน่าจะไม่มีบรรยากาศหรือถ้ามีก็เพียงน้อยนิด

ภาพสีแปลงของดาวซีรีส <wbr>สร้างขึ้นโดยยานดอว์น <wbr>แสดงการเจือปนของไฮโดรเจนบนพื้นผิว <wbr>บริเวณสีน้ำเงินมีไฮโดรเจนเจือปนมาก <wbr>บริเวณสีแดงมีไฮโดรเจนเจือปนต่ำกว่า<br />

ภาพสีแปลงของดาวซีรีส สร้างขึ้นโดยยานดอว์น แสดงการเจือปนของไฮโดรเจนบนพื้นผิว บริเวณสีน้ำเงินมีไฮโดรเจนเจือปนมาก บริเวณสีแดงมีไฮโดรเจนเจือปนต่ำกว่า
(จาก NASA/JPL-Caltech/UCLA/MPS/DLR/IDA/PSI)

ยานดอว์น ขณะเข้าใกล้ดาวซีรีส (ภาพในจินตนาการศิลปิน)

ยานดอว์น ขณะเข้าใกล้ดาวซีรีส (ภาพในจินตนาการศิลปิน) (จาก JPL/NASA)

ที่มา: