สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เตรียมต้อนรับดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14

เตรียมต้อนรับดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14

5 พ.ค. 2555
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในปีหน้า ถัดจากวันแห่งความรักเพียงหนึ่งวัน จะเป็นวันแห่งความหวาดเสียวของหลาย ๆ คน เพราะจะมีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งพุ่งมาเฉียดโลกให้เสียวสันหลังเล่น ๆ 
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ชื่อ 2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 
การค้นพบในครั้งนั้นก็เป็นเรื่องน่าตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการพบหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยเพิ่งผ่านใกล้โลกไปแล้วโดยไม่มีใครรู้เรื่อง ในครั้งนั้นระยะห่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อยู่ที่ เท่าของระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ แต่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีหน้า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเฉียดไปด้วยระยะห่างเพียง 24,000 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าระยะโคจรของดาวเทียมสื่อสารทั่วไปเสียอีก
ข่าวร้ายสำหรับคนที่ชอบข่าวหายนะ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกอย่างแน่นอนในปีหน้า 
ข่าวดีสำหรับคนชอบดูดาว ที่ระยะเพียง 24,000 กิโลเมตรนี้ หมายความว่าในช่วงเวลาที่มันเข้าใกล้โลก จะสว่างพอที่จะสังเกตเห็นได้ด้วยกล้องสองตา 
ในโอกาสนี้นักดาราศาสตร์จะถือโอกาสศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถึงผลกระทบจากสนามความโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์ว่าทำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการประเมินความเสี่ยงที่จะชนโลกในอนาคตอีกด้วย
จากการคำนวณเบื้องต้น พบว่า ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 45 เมตร มีวงโคจรคล้ายโลกมาก รีกว่าเล็กน้อย โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบหนึ่งใช้เวลา 366.24 วัน ช่วงที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ช่วงที่ห่างดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ก็อยู่ไกลกว่าโลก ดังนั้นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะผ่านวงโคจรของโลกสองครั้งทุกปี
นักดาราศาสตร์ประเมินไว้ว่า ในระบบสุริยะดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรคล้ายโลกแบบนี้และมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 30 เมตรถึงราวครึ่งล้านดวง 
เดตช์เลฟ คอสช์นีย์ ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุใกล้โลกขององค์การอีซากล่าวว่า ขณะนี้ทางอีซากำลังพัฒนาระบบค้นหาดาวเคราะห์น้อยอัตโนมัติที่มีความสามารถมากพอจะตรวจจับวัตถุประเภทนี้ได้ โดยมีเป้าหมายที่จะตรวจพบได้ล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าสามสัปดาห์ก่อนที่จะเข้าใกล้โลกที่สุด
โครงการนีโอ (NEO Project) ประเมินความอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไว้ว่า ปัจจุบันมีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 0 ตามมาตราโตริโน และจะคงอยู่ที่ 0 อย่างนี้ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2625
ผังวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 15 (2012 DA14) (เส้นจุดไข่ปลาสีเหลือง) เทียบกับวงโคจรของโลก (เส้นสีเขียว)

ผังวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 15 (2012 DA14) (เส้นจุดไข่ปลาสีเหลือง) เทียบกับวงโคจรของโลก (เส้นสีเขียว) (จาก Deimos-Space)

ที่มา: