สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อุกกาบาตยักษ์ระเบิดเหนือฟ้ารัสเซีย

อุกกาบาตยักษ์ระเบิดเหนือฟ้ารัสเซีย

18 ก.พ. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีอุกกาบาตยักษ์พุ่งเข้าสู่โลกและระเบิดขึ้นเหนือฟ้าของเมืองเชลยาบินสค์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใกล้เทือกเขาอูรัล ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออกประมาณ 1,500 กิโลเมตร ไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิต แต่มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยจากเศษกระจกที่แตกกระจายปลิวว่อนเพราะคลื่นกระแทกรุนแรงของการระเบิด
การระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 9:20:26 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น หรือ 10:20:26 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทย ลูกไฟจากการระเบิดถึงกับสว่างกว่าดวงอาทิตย์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 
ในเบื้องต้น นักวิทยาศาสตร์จากนาซาประเมินว่าอุกกาบาตลูกนี้มีขนาดประมาณ 15 เมตร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก แรงระเบิดที่เกิดขึ้นรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 300 กิโลตัน แต่ต่อมาได้ประเมินขนาดและพลังงานของอุกกาบาตใหม่โดยอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานีอินฟราซาวนด์ห้าแห่งที่ตั้งอยู่ทั่วโลก คาดว่าหินจากอวกาศก้อนนี้มีขนาดกว้างถึง 17 เมตร มีมวลประมาณ 10,000 ตัน พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยความเร็วประมาณ 64,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระเบิดด้วยความรุนแรงเทียบเท่าทีเอ็นที 500 กิโลตัน  
หลังจากการตกไม่นาน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอูรัลส์ได้พบเศษอุกกาบาตราว 50 ชิ้นจากบริเวณรอบทะเลสาบเชบาร์คุลใกล้เมืองเชลยาบินสค์ คาดว่าเป็นเศษของอุกกาบาตที่พุ่งชนในครั้งนี้ จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นอุกกาบาตชนิดคอนไดรต์ หรืออุกกาบาตหินเนื้อเม็ด มีเหล็กเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
เหตุการณ์ที่เชลยาบินสค์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงหนึ่งวันก่อนที่ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 จะเข้าเฉียดโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังตั้งตารอชมอยู่
ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 เข้าเฉียดโลกเมื่อเวลา 02:25 นาฬิกาตามเวลาประเทศไทยด้วยระห่างเพียง 27,000 กิโลเมตร การที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากสองเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน จึงไม่แปลกที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าสองเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่ บ้างเข้าใจว่าเป็นดวงเดียวกัน หรือสงสัยว่าอุกกาบาตที่ตกลงที่เชลยาบินสค์เป็นชิ้นส่วนที่หลุดมาจาก 2012 ดีเอ 14  อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์อธิบายว่า วัตถุสองดวงนี้มีเส้นทางการเคลื่อนที่ต่างกันมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุสองดวงนี้จะเกี่ยวข้องกัน การที่สองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเดียวกันจึงเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น
ปรากฏการณ์อุกกาบาตตกใส่โลกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน ในแต่ละวันมีอุกกาบาตตกใส่โลกราว 80 ตัน ส่วนใหญ่เป็นอุกกาบาตขนาดเล็ก อุกกาบาตขนาดใหญ่มีจำนวนน้อย โดยเฉลี่ยแล้ว อุกกาบาตขนาดเท่าลูกบาสเก็ตบอลอาจเกิดได้วันละลูก อุกกาบาตขนาดเท่ารถยนต์อาจเกิดขึ้นทุก 1-2 เดือน  แต่อุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่เท่ากับลูกที่ตกเมื่อวันศุกร์เกิดขึ้นได้ทุก 100 ปี 
เหตุการณ์เชลยาบินสค์นี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากวัตถุนอกโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 105 ปี ย้อนหลังไปเมื่อปี 2451 ดาวเคราะห์น้อยลูกหนึ่งได้พุ่งเข้าใส่โลกและระเบิดขึ้นที่เหนือแม่น้ำทังกัสกาในไซบีเรีย แรงระเบิดในครั้งนั้นได้กวาดพื้นที่ป่าจนราบเรียบเป็นพื้นที่กว้างถึง 2,137 ตารางกิโลเมตร 



โพรงบนน้ำแข็งที่พบบนผิวทะเลสาบเชลยาบินสค์ <wbr>รัสเซีย <wbr>คาดว่าอาจเกิดจากชิ้นส่วนของอุกกาบาตตกใส่<br />

โพรงบนน้ำแข็งที่พบบนผิวทะเลสาบเชลยาบินสค์ รัสเซีย คาดว่าอาจเกิดจากชิ้นส่วนของอุกกาบาตตกใส่

รอยทางดาวตกขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556

รอยทางดาวตกขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะระเบิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 (จาก Russian Emergency Ministry)

ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) ถ่ายโดยทีมถ่ายภาพสมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) ถ่ายโดยทีมถ่ายภาพสมาคมดาราศาสตร์ไทย

ที่มา: