สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ระบบสุริยะที่ใหญ่ที่สุด โคจรครบรอบเกือบล้านปี

ระบบสุริยะที่ใหญ่ที่สุด โคจรครบรอบเกือบล้านปี

30 ม.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สมาคมดาราศาสตร์หลวงแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่อยู่ในระบบสุริยะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ 

ถ้าคุณเกิดที่ดาวเคราะห์ดวงนี้ กว่าที่คุณจะได้ฉลองวันเกิดครบรอบหนึ่งขวบ ต้องรอเป็นเวลานานถึงเกือบหนึ่งล้านปีของโลก!

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า แมส เจ 2126 (2MASS J2126)  อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ราวหนึ่งล้านล้านกิโลเมตร มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ถึง 7,000 เท่า ด้วยระยะทางเท่านี้ มันต้องใช้เวลาประมาณ 900,000 ปีจึงจะโคจรรอบดาวฤกษ์ครบหนึ่งรอบ

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ แมส เจ 2126 มานานแล้ว แต่ในช่วงแรกยังไม่แน่ใจว่าเป็นวัตถุชนิดใดกันแน่ระหว่างดาวแคระน้ำตาลกับดาวเคราะห์อิสระ

ดาวแคระน้ำตาล คือวัตถุคล้ายดาวฤกษ์ แต่มีมวลน้อยเกินกว่าจะจุดปฏิกิริยาหลอมไฮโดรเจนได้ แต่ก็ยังมีความร้อนอยู่จากปฏิกิริยาหลอมดิวทีเรียม

ส่วนดาวเคราะห์อิสระ เป็นวัตถุคล้ายดาวเคราะห์แก๊สอย่างดาวพฤหัสบดี แต่ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด วัตถุจำพวกนี้อาจเคยเป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่งมาก่อน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ต่อมาได้หลุดออกจากวงโคจรมาเป็นดาวเคราะห์ที่พเนจรไปในอวกาศอย่างอิสระ

ก่อนหน้านี้ในปี 2557 นักดาราศาสตร์แคนาดาคณะหนึ่งยืนยันว่า วัตถุดวงนี้เป็นดาวเคราะห์อิสระ ไม่ใช่ดาวแคระน้ำตาล

แต่ล่าสุด ดร.นีออล ดีคอน จากมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ ซึ่งใช้เวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการค้นหาดาวฤกษ์ที่มีวงโคจรกว้างเป็นพิเศษ โดยการไล่วิเคราะห์วัตถุจำพวกดาวแคระน้ำตาล ดาวฤกษ์อายุน้อย และดาวเคราะห์อิสระ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุเหล่านี้ จนในที่สุดก็พบความสัมพันธ์ระหว่าง แมส เจ 2126 กับดาวฤกษ์ชื่อ ทีวายซี 9486-927-1 (TYC 9486-927-1) ทั้งสองอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 104 ปีแสงเท่ากัน และเคลื่อนที่ไปในอวกาศทิศทางเดียวกัน 

ระยะห่างระหว่างวัตถุทั้งสองเป็นเรื่องเหลือเชื่อ มันทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทบทวนทฤษฎีการกำเนิดดาวเคราะห์อีกครั้ง ทฤษฎีปัจจุบันให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำเนิดระบบสุริยะที่มีขนาดพอเหมาะอย่างระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่ 

แต่ไม่ใช่กับระบบสุริยะที่ใหญ่โตมหึมาแบบของทีวายซี 9486-927-1 

ภาพดาวเคราะห์ชื่อ 2 แมส เจ 2126 (2MASS J2126) ตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพดาวเคราะห์ชื่อ 2 แมส เจ 2126 (2MASS J2126) ตามจินตนาการของศิลปิน (จาก University of Hertfordshire / Neil Cook)

ภาพสีแปลงของดาวเคราะห์ชื่อ 2 แมส เจ 2126 (2MASS J2126) และดาวฤกษ์ชื่อ ทีวายซี 9486-927-1 (TYC 9486-927-1) ลูกศรแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ในอวกาศ

ภาพสีแปลงของดาวเคราะห์ชื่อ 2 แมส เจ 2126 (2MASS J2126) และดาวฤกษ์ชื่อ ทีวายซี 9486-927-1 (TYC 9486-927-1) ลูกศรแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ในอวกาศ (จาก 2MASS/S. Murphy/ANU)

ที่มา: