สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเดี่ยวมีมากกว่าดาวคู่

ดาวเดี่ยวมีมากกว่าดาวคู่

23 ก.พ. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1700 นักดาราศาสตร์ได้ทราบว่าดวงดาวบนท้องฟ้านั้นมีดาวที่เป็นดาวคู่หรือระบบดาวหลายดวงมากกว่าดาวเดี่ยว แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอัตราส่วนที่แท้จริงจะเป็นเท่าใด แต่นักดาราศาสตร์หลายคนอาศัยข้อมูลจากการสำรวจที่พบว่าดาวฤกษ์ขนาดดวงอาทิตย์และที่ใหญ่กว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในดาวคู่ ประมาณไว้ว่าน่าจะมีดาวถึงกว่าครึ่งในดาราจักรที่อยู่ในดาวคู่หรือระบบดาวหลายดวง

แต่การศึกษาใหม่โดย ชาลส์ ลาดา จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียนแสดงว่าข้อสรุปนั้นผิดโดยสิ้นเชิง เพราะการศึกษาก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์มองข้ามดาวประเภทหนึ่งไป นั่นคือดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวมวลต่ำและจางมาก แต่กระนั้นก็เป็นดาวส่วนใหญ่ของดาราจักรของเรา คาดว่ามีมากถึงราว 70 เปอร์เซ็นต์ของดาวทั้งหมดในทางช้างเผือก

ลาดาพบว่าดาวแคระแดงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นดาวเดี่ยวมากกว่าดาวคู่ระบบดาวหลายดวง และเนื่องจากดาวแคระแดงเป็นดาวส่วนใหญ่ของดาราจักร ประมาณแล้วคาดว่าในดาราจักรทางช้างเผือกมีดาวที่เป็นดาวเดี่ยวมากถึงสองในสามเลยทีเดียว ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของนักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง

การศึกษานี้สอดคล้องกับการสำรวจที่ทำโดยนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบว่า มีเพียง 43 ดวงจากดาวแคระแดงจำนวน 171 ดวงที่อยู่ในรัศมี 10 พาร์เซกจากดวงอาทิตย์เท่านั้นที่มีดาวสหาย 

การศึกษาลักษณะนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีการกำเนิดดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ เนื่องจากระบบดาวเดี่ยวเอื้อต่อการกำเนิดดาวเคราะห์มากกว่าดาวคู่ ก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการค้นพบดาวเคราะห์มวลต่ำที่โคจรรอบดาวแคระแดงดวงหนึ่งมาแล้ว



ภาพวาดดาว กลีส 876 (Gliese 876) เป็นดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าและจางกว่าดวงอาทิตย์  และเป็นดาวส่วนใหญ่ในทางช้างเผือก นักดาราศาสตร์พบว่าดาวชนิดนี้มักเป็นดาวเดี่ยวมากกว่าดาวคู่ (ภาพจาก NASA , G. Bacon (STScI))

ภาพวาดดาว กลีส 876 (Gliese 876) เป็นดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าและจางกว่าดวงอาทิตย์ และเป็นดาวส่วนใหญ่ในทางช้างเผือก นักดาราศาสตร์พบว่าดาวชนิดนี้มักเป็นดาวเดี่ยวมากกว่าดาวคู่ (ภาพจาก NASA , G. Bacon (STScI))

แบบจำลองที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ แสดงลักษณะของจานสร้างดาวเคราะห์รอบระบบดาวคู่ สายรูปก้นหอยคือก้อนแก๊สที่มีมวลมากประมาณดาวพฤหัสบดี หลังจากนี้อีกไม่นาน ก้อนแก๊สนี้จะรวมกันเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ (ภาพจาก Alan Boss)

แบบจำลองที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ แสดงลักษณะของจานสร้างดาวเคราะห์รอบระบบดาวคู่ สายรูปก้นหอยคือก้อนแก๊สที่มีมวลมากประมาณดาวพฤหัสบดี หลังจากนี้อีกไม่นาน ก้อนแก๊สนี้จะรวมกันเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ (ภาพจาก Alan Boss)

ที่มา: