สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ซูเปอร์โนวาจากดาวแคระขาวชนกัน

ซูเปอร์โนวาจากดาวแคระขาวชนกัน

1 พ.ย. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลายล้านปีก่อน มีดาวคู่คู่หนึ่งที่โคจรรอบกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ดาวดวงหนึ่งได้ใช้พลังงานของตนเองไปจนหมด จึงเริ่มพองใหญ่ขึ้นกลายเป็นดาวยักษ์แดง และหลังจากนั้นก็ค่อยยุบลง เย็นลง กลายเป็นดาวแคระขาว อันเป็นสถานะสุดท้ายของวงจรชีวิตของดาวฤกษ์ขนาดธรรมดา ต่อมาเมื่อดาวฤกษ์สหายกลายเป็นดาวยักษ์แดงบ้าง มวลสารจากดาวสหายจะไหลมาสู่ดาวแคระขาว  มวลของดาวแคระขาวจึงเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนในที่สุด เมื่อมีมวลถึง 1.4 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นขีดจำกัดสูงสุดของมวลดาวแคระขาวที่รู้จักกันในชื่อ ขีดจำกัดจันทรา (Chandrasekhar limit) ก็ระเบิดขึ้นเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างไสว มองเห็นได้ไกลจากระยะนับพันล้านปีแสง

ลำดับเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่นักดาราศาสตร์เชื่อว่า เป็นต้นกำเนิดของซูเปอร์โนวาชนิดหนึ่ง เรียกว่าซูเปอร์โนวาชนิด เอ ซึ่งเป็นซูเปอร์โนวาที่พบได้ทั่วไป

เมื่อครั้งที่ซูเปอร์โนวา เอสเอ็น 2006 จีแซด ถูกค้นพบเมื่อปลายปีที่แล้ว นักดาราศาสตร์ก็คาดว่าซูเปอร์โนวานี้ก็เป็นชนิด เอ เช่นเดียวกัน 

แต่เมื่อนักดาราศาสตร์ศึกษารายละเอียดของ เอสเอ็น 2006 จีแซดเพิ่มขึ้น กลับพบว่าซูเปอร์โนวานี้ดูจะสว่างเกินไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มันมีมวลก่อนระเบิดมากกว่าขีดจำกัดจันทรา นอกจากนี้สเปกตรัมยังแสดงปริมาณคาร์บอนที่ยังไม่เผาไหม้มากกว่าดวงอื่นอีกด้วย

จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์หลายแบบที่สร้างขึ้นพบว่า ปริมาณคาร์บอนที่ยังไม่เผาไหม้ที่มากขนาดนี้จะเกิดได้จากดาวแคระขาวสองดวงชนกัน ไม่ใช่แค่ดาวแคระขาวระเบิดดวงเดียว และยังแสดงหลักฐานของชั้นซิลิคอนอัดแน่นที่เกิดขึ้นจากการระเบิดและคลื่นกระแทก ซึ่งสิ่งนี้ก็พบจากการสำรวจเอสเอ็น 2006 จีแซดเช่นกัน

ในกรณีของซูเปอร์โนวาเอสเอ็น 2006 จีแซดนี้ นักดาราศาสตร์โชคดีที่สามารถจำแนกประเภทได้ไม่ยากนักเนื่องจากมีข้อมูลจากการสังเกตการณ์มาก แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าซูเปอร์โนวาประเภทนี้น่าจะมีอยู่มากกว่าที่เคยพบ ขณะนี้จึงมีการกลับไปวิเคราะห์ซูเปอร์โนวาในที่เคยพบในอดีตอีกรอบ เผื่อว่าอาจมีบางดวงที่เป็นการระเบิดประเภทเดียวกัน

ที่มา: