สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุท้องฟ้าชนิดใหม่ ครึ่งดาวเคราะห์น้อย ครึ่งดาวหาง

วัตถุท้องฟ้าชนิดใหม่ ครึ่งดาวเคราะห์น้อย ครึ่งดาวหาง

9 พ.ค. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
 ระบบสุริยะเรามีสมาชิกประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่งแล้ว จะว่าดาวเคราะห์น้อยก็ไม่ใช่ จะว่าดาวหางก็ไม่เชิง

เฮนรี เซียห์ และเดวิด จีวิตต์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ค้นพบและเผยแพร่ลงในวารสารไซนซ์เอกซ์เพรสส์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคมว่า ดาวเคราะห์น้อยชื่อ 118401 หรือ 1999 อาร์อี 70 (1999 RE70) ปล่อยหางออกมาเหมือนดาวหาง หางนี้จางมากจึงวัดสเปกตรัมเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบไม่ได้ แต่จากการศึกษาความเร็วของอนุภาคและระยะเวลาที่หางคงอยู่เชื่อว่าฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นหางนั้นคือไอน้ำที่ระเหิดออกมาจากน้ำแข็งบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย เช่นเดียวกับหางของดาวหางที่มีไอน้ำเป็นส่วนประกอบเหมือนกัน

    ความจริงดาวเคราะห์น้อยทำตัวเป็นดาวหางไม่ได้มีแค่ดวงเดียวเท่านั้น ตอนนี้พบไม่น้อยกว่าสามดวงแล้ว อีกสองดวงคือ พี/2005 ยู และ 133 พี/เอลสต์-ปีซาร์โร ทั้งสามดวงนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยหลัก หมายความว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

    วัตถุในระบบสุริยะมักมีน้ำแข็งเป็นเรื่องปกติ แต่วัตถุที่มีน้ำแข็งมากมักอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มาก เช่นวัตถุในแถบไคเปอร์หรือเมฆออร์ต ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกดาวหางต่าง ๆ เมื่อวัตถุพวกนี้เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนถึงระยะวงโคจรของดาวพฤหัสบดี น้ำแข็งข้างในก็จะเริ่มระเหิดออกและหลุดลอยออกจากหัว ทอดยาวออกไปเป็นหาง ดังนั้นถ้าวัตถุจำพวกนี้มีวงโคจรถาวรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย นำแข็งก็ควรจะระเหิดไปจนหมดนานแล้ว แต่การที่พบว่ายังมีดาวเคราะห์น้อยปล่อยหางอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยจึงเป็นเรื่องแปลก

    ครั้นจะคิดว่าลูกครึ่งดาวหางดาวเคราะห์น้อยทั้งสามนี้เคยเป็นวัตถุในวงนอกมาก่อนแล้วต่อมาเบี่ยงเบนเข้ามาอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักด้วยสาเหตุบางอย่างก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะวัตถุที่เพิ่งย้ายวงโคจรจากวงนอกเข้ามาวงในจะมีวงโคจรรีมากและไม่เสถียร แต่วัตถุทั้งสามดวงนี้มีวงโคจรเกือบกลมและเสถียรเช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยหลักทั่วไป 

    นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยสามดวงนี้น่าจะมีต้นกำเนิดอยู่ในแถบหลักนี้เอง และมีน้ำเป็นองค์ประกอบมาตั้งแต่ต้น แต่อยู่ในรูปน้ำแข็งที่ฝังอยู่ในชั้นหินใต้พื้นผิว จึงคงอยู่ได้นานไม่ระเหิดหายไปไหน แต่การที่เราเห็นการระเหิดขึ้นในช่วงนี้อาจเกิดจากการชนกับวัตถุบางอย่าง ทำให้ผิวหน้าแตกออก เผยน้ำแข็งให้รับแสงอาทิตย์ กระบวนการระเหิดจึงได้เกิดขึ้นและปล่อยหางออกมา

    เซียห์และจีวิตต์สันนิษฐานว่า บางทีดาวเคราะห์ดวงอื่นในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักอาจมีน้ำแข็งมากเช่นเดียวกัน และมองไปถึงว่าดาวเคราะห์น้อยประเภทนี้อาจช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับแหล่งน้ำบนโลกได้ 

    ปริศนาที่ว่าก็คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดน้ำบนโลกตามที่นักธรณีวิทยาตั้งไว้อธิบายว่า น้ำบนโลกส่วนใหญ่มาจากดาวหาง เมื่อดาวหางพุ่งชนโลกแต่ละครั้งก็จะเอาน้ำทิ้งไว้บนโลก แต่ทฤษฎีนี้กลับเจอทางตัน เพราะจากการสำรวจกลับพบว่าน้ำแข็งบนดาวหางกับน้ำในมหาสมุทรบนโลกมีอัตราส่วนของของไอโซโทปต่างกันมาก บางทีดาวเคราะห์น้อยพวกนี้อาจให้คำตอบได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าวงโคจรในอดีตของวัตถุเหล่านี้เป็นอย่างไร และองค์ประกอบของน้ำบนนั้นเป็นอย่างไร

ดูเหมือนภาพดาวหางที่พบใหม่ แต่ความจริงเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ปล่อยหางออกมาแบบดาวหาง ภาพทั้งสามนี้ถ่ายโดยกล้อง 2.2 เมตรของมหาวิทยาลัยฮาวาย (ภาพจาก H. Hsieh and D. Jewitt (University of Hawaii))

ดูเหมือนภาพดาวหางที่พบใหม่ แต่ความจริงเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ปล่อยหางออกมาแบบดาวหาง ภาพทั้งสามนี้ถ่ายโดยกล้อง 2.2 เมตรของมหาวิทยาลัยฮาวาย (ภาพจาก H. Hsieh and D. Jewitt (University of Hawaii))

ที่มา: