สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พื้นผิวของไททัน

พื้นผิวของไททัน

8 มิ.ย. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 เป็นเวลาตามกำหนดที่ยานยานแคสซินีจะเดินทางไปถึงดาวเสาร์ และปล่อยยานสำรวจไฮเกนส์ลงไปบนดวงจันทร์ไททัน ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อมาเป็นเวลานานว่าเป็นโลกแห่งไฮโดรคาร์บอน แต่จากข้อมูลการสำรวจไททันโดยกล้องบนพื้นโลก ชี้ว่าสิ่งที่ยานไฮเกนส์พบอาจเป็นโลกแห่งน้ำแข็งแทน 

จนถึงปัจจุบัน ไททัน ซึ่งเป็นบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ยังคงเป็นโลกที่ลึกลับและน่าสำรวจที่สุดในบรรดาดาวบริวารที่ยังไม่มีการสำรวจระยะใกล้ มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวหลายด้าน เป็นดวงจันทร์ดวงแรกในระบบสุริยะที่พบว่ามีบรรยากาศอยู่ด้วย บรรยากาศของไททันมีความหนาแน่นมากกว่าของโลกมาก ประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ และมีเมฆมีเทนซึ่งอาจตกลงมาเป็นฝนมีเทน ไหลรินก่อเป็นบึงและทะเลสาบที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนไซยาไนด์ อะเซทิลีน และสารประกอบแปลกประหลาดชนิดอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง 

พื้นผิวของไททันปกคลุมด้วยหมอกสีส้มหนาแน่นที่ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซับซ้อนและโมเลกุลอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แตกมาจากมีเทนที่ถูกแสงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์สงสัยมาเป็นเวลานานว่าบนพื้นผิวของไททันปกคลุมด้วยชั้นของไฮโดรคาร์บอนแข็ง รวมถึงอีเทนและโปรเพนเยือกแข็งที่ตกตะกอนจากบรรยากาศมาเป็นเวลาตลอดอายุของไททันเป็นความหนาถึง 800 เมตร 

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไคทลิน เอ. กริฟฟิท จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาและคณะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดสองกล้องจากหอสังเกตการณ์มานาเคอาในฮาวายสังเกตไททัน พบว่าการสะท้อนแสงอินฟราเรดของพื้นที่ส่วนใหญ่ของไททันคล้ายกับของแกนีมีด ซึ่งเป็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีที่ทราบดีว่ามีพื้นผิวเต็มไปด้วยน้ำแข็งและไม่มีบรรยากาศ จึงอาจเป็นไปได้ว่าพื้นผิวของไททันก็เต็มไปด้วยน้ำแข็งเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังคงเชื่อว่าต้องมีสารอินทรีย์บ้าง ถ้าพื้นผิวของไททันมีลักษณะระเกะระกะสลับซับซ้อน ก็อาจจะมีตะกอนอินทรีย์อยู่ตามก้นหุบหรือก้นแอ่ง แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ส่วนน้อยของไททันอยู่ดี 



ภาพอินฟราเรดใกล้แสดงพื้นผิวของไททัน ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในปี 2537 แต่ละภาพมีมุมการหมุนต่างกัน 90 องศา ส่วนสว่างที่สุดอาจเกิดจากน้ำแข็ง ส่วนมืดอาจเกิดจากตะกอนอินทรีย์ (ภาพจาก Courtesy Peter Smith / NASA / UA Lunar and Planetary Lab)

ภาพอินฟราเรดใกล้แสดงพื้นผิวของไททัน ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในปี 2537 แต่ละภาพมีมุมการหมุนต่างกัน 90 องศา ส่วนสว่างที่สุดอาจเกิดจากน้ำแข็ง ส่วนมืดอาจเกิดจากตะกอนอินทรีย์ (ภาพจาก Courtesy Peter Smith / NASA / UA Lunar and Planetary Lab)

ภาพไททันที่ถ่ายในย่านแสงขาว แสดงถึงโลกที่ปกคลุมไปด้วยเมฆไฮโดรคาร์บอนสีส้มทั่วทั้งดวง (ภาพจาก NASA/JPL)

ภาพไททันที่ถ่ายในย่านแสงขาว แสดงถึงโลกที่ปกคลุมไปด้วยเมฆไฮโดรคาร์บอนสีส้มทั่วทั้งดวง (ภาพจาก NASA/JPL)

ที่มา: