สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ไอโอเคล้าเกลือ

ไอโอเคล้าเกลือ

14 ม.ค. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
รายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ ฉบับวันที่ มกราคม รายงานว่า ในจำนวนเศษหินเศษดินที่พ่นออกมาจากปล่องภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีถึงสองตันต่อวินาทีนั้น มีเกลือปะปนอยู่ด้วย 

ย้อนหลังไปในปี 2517 บอบ บราวน์ได้ตรวจพบโซเดียมในเมฆก๊าซรอบ ๆ ไอโอโดยบังเอิญในขณะที่กำลังทดสอบสเปกโทรกราฟ นับแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาคำตอบว่าโซเดียมนั้นมาจากไหน 

จนถึงปี 2542 เบาะแสสำคัญได้ปรากฏขึ้น เมื่อนักดาราศาสตร์ได้พบคลอรีนในบรรยากาศของไอโอในปริมาณใกล้เคียงกับโซเดียมที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ การที่ปริมาณของโซเดียมเท่ากับคลอรีนในบริเวณนี้ทั้ง ๆ ที่ในบริเวณอื่นของเอกภพจะมีโซเดียมมากกว่านี้ถึง 15 เท่าอาจแสดงว่าธาตุทั้งสองมีที่มาเกี่ยวข้องกัน นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าบางทีโซเดียมและคลอรีนที่พบนี้อาจมาจากโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงก็ได้ แต่ยังขาดหลักฐานสนับสนุนที่สำคัญ จนถึงบัดนี้ 

เอมานูเอล เลลูก จากหอสังเกตการณ์ปารีสและคณะได้พยายามค้นหาสเปกตรัมของโซเดียมคลอไรด์ในบรรยากาศของไอโอด้วยกล้องโทรทรรศน์ย่านความถี่วิทยุมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อกลางเดือนมกราคมปีที่แล้ว เขาได้ใช้กล้องอีรัม (Institut de Radio Astronomie Millime'trique) ขนาด 30 เมตรสำรวจไอโออีกครั้งและได้พบสเปกตรัมของโซเดียมคลอไรด์ในบรรยากาศจริง ๆ 

เนื่องจากความดันของไอเกลือบนไอโอต่ำมาก นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเกลือไม่สามารถระเหิดขึ้นมาโดยตรงจากพื้นผิวได้ แต่จะต้องมาจากการปะทุของภูเขาไฟ และเป็นไปได้ว่าโมเลกุลเกลือบางโมเลกุลอาจควบแน่นนอกชั้นบรรยากาศของไอโอแล้วตกลงสู่พื้นผิว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นผิวของไอโอบางส่วนมีสีขาว 



ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี ปรากฏการปะทุของภูเขาไฟโลคี (Loki) ที่ขอบดวง พื้นที่คล้ำคล้ายรอยกีบกวางด้านล่างของภาพเกิดจากเศษวัสดุที่พ่นออกมาจากภูเขาไฟเปเล (ภาพจาก NASA/JPL)

ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี ปรากฏการปะทุของภูเขาไฟโลคี (Loki) ที่ขอบดวง พื้นที่คล้ำคล้ายรอยกีบกวางด้านล่างของภาพเกิดจากเศษวัสดุที่พ่นออกมาจากภูเขาไฟเปเล (ภาพจาก NASA/JPL)

ภาพสีเพี้ยนของดวงจันทร์ไอโอ ถ่ายโดยยานกาลิเลโอเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 จุดสว่างจ้าที่อยู่ทางซ้ายของไอโอคือพวยของภูเขาไฟโพรมีเทียสที่ต้องแสงอาทิตย์ แสงจากด้านสว่างของไอโอกับแสงจากพวยนี้ทำให้เกิดการเปล่งแสงสีเหลืองของบรรยากาศรอบ ๆ ไอโอซึ่งเป็นสเปกตรัมของโซเดียม (ภาพจาก NASA/JPL)

ภาพสีเพี้ยนของดวงจันทร์ไอโอ ถ่ายโดยยานกาลิเลโอเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 จุดสว่างจ้าที่อยู่ทางซ้ายของไอโอคือพวยของภูเขาไฟโพรมีเทียสที่ต้องแสงอาทิตย์ แสงจากด้านสว่างของไอโอกับแสงจากพวยนี้ทำให้เกิดการเปล่งแสงสีเหลืองของบรรยากาศรอบ ๆ ไอโอซึ่งเป็นสเปกตรัมของโซเดียม (ภาพจาก NASA/JPL)

ที่มา: