สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ภาพล่าจาก อีรอส

ภาพล่าจาก อีรอส

1 ม.ค. 2542
รายงานโดย: ()
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ยานอวกาศเนียร์ ซึ่งพลาดโอกาสเข้าบรรจบโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย อีรอส ได้บินสวนกันกับ อีรอส เวลา 13:43 น. ตามเวลาในภาคตะวันออกของสหรัฐ และได้ถ่ายภาพของอีรอสในระยะใกล้ไว้เป็นจำนวนมาก ภาพชุดแรกที่ส่งกลับมายังโลกมีจำนวน ภาพ เป็นภาพที่ถ่ายจากระยะ 11,000 ถึง 5,300 กม ระยะเวลาที่ถ่ายภาพทั้งเก้านี้ ทิ้งช่วงห่างกันสองชั่วโมง ซึ่งกินเวลาเท่ากับอีรอสหมุนรอบตัวไปกว่าครึ่งรอบ 

ยานเนียร์ได้เตรียมที่จะมุ่งหน้าเข้าไปสู่ดาวเคราะห์น้อยอีรอสเพื่อโคจรและศึกษาดาวเคราะห์น้อยในวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า เมื่อยิงจรวดไปได้ไม่ถึงนาที คอมพิวเตอร์บนยานได้สั่งระงับการสันดาป เนื่องจากความสั่นสะเทือนของยานสูงเกินขีดที่กำหนดไว้ และการติดต่อสื่อสารกับโลกก็ขาดหายไป หลังจากนั้นอีก 27 ชั่วโมง จึงได้รับการติดต่อและข้อมูลจากยานอีกครั้ง 

จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้ยานไม่สามารถเร่งความเร็วตามอีรอสได้ทัน ฝ่ายควบคุมภาคพื้นดินจึงต้องเปลี่ยนแผนปฏิบัติการ เพื่อมิให้การบินสวนกันกับอีรอสผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ การเปลี่ยนแผนปฏิบัติการนี้ ต้องมีการถ่ายโปรแกรม (upload) คอมพิวเตอร์ขึ้นไปใหม่ โดยโปรแกรมใหม่นี้ใช้เวลาเขียนเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น คำสั่งเหล่านี้มีความสลับซับซ้อนมากพอควร เพราะจะต้องมีคำสั่งโดยละเอียดว่า เครื่องมือไหนต้องทำอะไรบ้าง การถ่ายโปรแกรมใหม่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ยานเนียร์สามารถถ่ายภาพกลับมาถึง 1,100 ภาพ นอกจากนี้ยังได้วัดข้อมูลทั้งทางกายภาพและทางเคมีของอีรอส เพื่อช่วยการวิเคราะห์ต่อไปในอนาคต ในช่วงนี้ยานอีรอสกำลังทยอยส่งข้อมูลจำนวนมากนี้กลับมายังโลกตลอดเวลา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เจ้าของโครงการ จะลงภาพใหม่ ๆ ของ อีรอสไว้ที่ http://near.jhuapl.edu 

ส่วนคำถามว่า จะทำอะไรต่อไปในอนาคตนั้น ทางฝ่ายพื้นดินจะต้องวิเคราะห์ให้ได้คำตอบอย่างละเอียดว่า ปัญหาในการจุดจรวดเร่งเครื่องมีสาเหตุจากอะไร และจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดจนกว่าจะมีความมั่นใจพอที่จะสั่งยานให้จุดจรวดใหม่ได้ เนื่องจากการจุดจรวดมีความเสี่ยงสูงประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ เชื้อเพลิงของจรวดได้ถูกเผาไหม้ไปไม่น้อย เชื้อเพลิงส่วนที่เหลืออยู่แม้จะมีมากพอที่จะดึงยานกลับเข้ามาหาอีรอสได้อีก แต่ก็จะต้องใช้อย่างรอบคอบเพื่อประกันความมั่นคงในอนาคต เนื่องจากยานมิได้พกพาเชื้อเพลิงสำรองไปมากมายแต่อย่างใด 

แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือ ฝ่ายพื้นดินจะนำยานกลับมาบรรจบกับอีรอสได้ใหม่ อาจจะเป็นกลางปี 2542 นี้ หรืออย่างช้าก็คงจะเป็นเดือนพฤษภาคมของปี 2543 ขึ้นอยู่ว่าจะแก้ปัญหาการยิงจรวดได้เร็วช้าเพียงไร ในขณะนี้ยานเนียร์ และดาวเคราะห์น้อยอีรอสก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ ด้วยวงโคจรที่ต่างกัน โอกาสหน้าฟ้าใหม่ เมื่อมาพบกันอีกก็ยังมีความหวังได้มากอยู่ว่า จะเข้าบรรจบวงโคจรกันสมตามความมุ่งหมายเดิมของโครงการ 

ภาพอีรอส ถ่ายโดยยานเนียร์ ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม

ภาพอีรอส ถ่ายโดยยานเนียร์ ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม

ที่มา: