สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วงแหวนรอบดาวเป็นแหล่งกำเนิดดาวเคราะห์

วงแหวนรอบดาวเป็นแหล่งกำเนิดดาวเคราะห์

1 พ.ย. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ต่อไปนี้นักดาราศาสตร์ที่จะหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ นอกจากจะมองหาจากจานฝุ่นรอบดาวฤกษ์แล้ว ยังต้องมองหาจากวงแหวนรอบดาวฤกษ์อีกด้วย 

นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน (CfA) และจากสถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ (SSI) พบว่า เมื่อดาวเคราะห์ได้กำเนิดขึ้นรอบดาวฤกษ์แล้ว จานฝุ่นที่ล้อมรอบดาวฤกษ์จะกลายสภาพเป็นวงแหวนแทน ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับดาว HR 4796A ถูกค้นพบเมื่อปีที่แล้ว 

สก๊อตต์ เคนยอน และ เคนนี วูด จาก CfA บาบารา วิตนีย์ และ ไมเคิล วูล์ฟ จาก SSI ได้อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก เมื่อเกิดดาวเคราะห์ขึ้นภายในจานฝุ่นแล้ว ฝุ่นก๊าซที่หลงเหลืออยู่ในจานจะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ต้อนให้มารวมอยู่เป็นวงแคบ ๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดกับดวงจันทร์คนเลี้ยงแกะ (Shepherding Moons) ของดาวเคราะห์วงนอกในระบบสุริยะของเรา ที่ทำให้วงแหวนบางวงของดาวเคราะห์มีความคมบางมาก 

ตามทฤษฎีนี้ นักดาราศาสตร์สามารถบอกช่วงระยะของระบบสุริยะได้จากลักษณะของฝุ่นที่อยู่ล้อมรอบดาวแม่ กล่าวคือถ้ามีลักษณะเป็นจานฝุ่นจะหมายถึงกระบวนการสร้างดาวเคราะห์เพิ่งเริ่มต้น แต่ถ้าเป็นวงแหวน หมายความว่าดาวเคราะห์ได้เกิดขึ้นแล้ว 

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าวงแหวนฝุ่นนี้จะคงสภาพอยู่ประมาณ 10 ถึง 100 ล้านปี หลังจากนั้นจะถูกเป่าให้กระเด็นออกไป และอาจทิ้งดาวเคราะห์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ (planetesimal) เอาไว้ ซึ่งคล้ายกับการเกิดวงแหวนไคเปอร์ในระบบสุริยะของเรา 

(บน) วงแหวนของดาว HR 4796A ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (ล่าง) แบบจำลองของวงแหวนที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์

(บน) วงแหวนของดาว HR 4796A ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (ล่าง) แบบจำลองของวงแหวนที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์

ที่มา: