จดหมายถึง thaiastro

"Tanapun Thamgrang" [dear_tanapun@hotmail.com]

คำถาม ฐานปล่อยจรวดที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ไหน ช่วยตอบมาที่ Email : dear_tanapun@hotmail.com

thaiastro

มีสองแห่งครับ คือศูนย์การบินอวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) อยู่ในเมืองฮูสตัน รัฐเทกซัส และอีกแห่งหนึ่งคือ ศูนย์การบินอวกาศเคเนดี้ (Kenedy Space Center) อยู่ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ครับ

วิมุติ วสะหลาย


nagarind@ksc.th.com

สวัสดีครับ
ผมดูดาวด้วยตาเปล่า กล้องสองตาและกล้องโทรทัศน์มา 3 ปีแล้วครับ ตอนนี้กำลังศึกษา Radio Astronomy อยู่ครับ มีคำถามเล็กน้อย...
1. เมื่อได้รับ Signal ซึ่งผ่านกระบวนการต่าง ๆมาแล้ว จะ (Antenna -> RF Amp -> Mixer + Oscillate -> IF Amp -> Detector และ DC Amp ) ซึ่งออกมาเป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้ว ก็ผ่านเข้าทาง interface ของ Computer เข้าสู่ Computer ทราบว่า เราสามารถ plot graph ได้ เป็นแกนระหว่าง ช่วง Frequency กับ Energy ของ Sinal ที่ได้รับมาได้ แต่... ทำอย่างไร จึงจะสร้างเป็นภาพได้ (เช่นสังเกตดวงอาทิตย์) ต้องมีการขยับ Antenna ให้เลื่อนไปมาเหมือนการ Scan วัตถุอย่างนั้นหรือเปล่าครับ
2. ถ้าใช้ Antenna ที่ไม่ใช่ Parabolic หรือแบบจาน แต่ใช้แบบ dipole แทน เราจะกำหนดทิศทางได้อย่างไร หากจะสังเกตการระเบิดของคลื่นบน jupiter ?
ผมเข้าใจครับ ว่าการสังเกตด้วย Radio Telescope เป็นการฟังสัญญาณ ไม่ใช่ดูภาพ แต่ผมเห็นแล้วที่เขาสร้างเป็นภาพได้ แต่ยังไม่เข้าใจหลักการเท่านั้นครับ ขอให้ความกระจ่างด้วยครับ
ด้วยความนับถือ
คณกรณ์ หอศิริธรรม

thaiastro

สวัสดีครับ
อ. บุญรักษา สุนทรธรรม กรรมการวิชาการ ได้อธิบายเรื่องนี้มาคร่าว ๆ พอจะให้คำตอบของคุณคณกรณ์ได้ดังนี้
การสร้างภาพจากเครื่องตรวจจับสัญญาณวิทยุ ก็จะต้องมีการกวาดเครื่องรับ (receiver) ไปมาอย่างที่คุณเข้าใจจริง ๆ ครับ บางครั้งการกวาดที่ว่านี้อาจไม่ได้เป็นการหันตัวจาน แต่เป็นการขยับตำแหน่งของสายอากาศที่จุดโฟกัสแทนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนี้ได้ต้องใช้จานที่ใหญ่มาก ๆ ด้วยครับ จึงจะให้กำลังแยกภาพได้มากพอที่จะสร้างภาพหรือแผนที่สัญญาณวิทยุได้
ดังจะเห็นว่า ภาพสัญญาณวิทยุที่เห็นจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุต่าง ๆ ยังมีความละเอียดต่ำมาก แม้จะเป็นกล้องขนาดยักษ์ก็ตาม
เครื่องวัดไดโพลอาจรับสัญญาณได้ แต่ไม่สามารถแยกแยะสัญญาณเฉพาะจุดได้ ดังนั้นในทางดาราศาสตร์มักใช้เครื่องวัดที่มีจานรับสัญญาณมากกว่าครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Tanapun Thamgrang" [dear_tanapun@hotmail.com]

คำถาม ดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ชื่อว่าอะไร ช่วยบอกรายละเอียด เช่น ขนาด ระยะห่างจากโลก อยู่บริเวณใด เป็นต้น ช่วยส่งคำตอบมาที่ Email : dear_tanapun@hotmail.com

ขอบคุณมากครับ

thaiastro

เขายังไม่พบครับ จึงยังไม่มีชื่อจริง ๆ ไม่มีข้อมูลใด ๆ มีแต่ชื่อปริศนาที่ตั้งไว้ล่วงหน้าว่า Planet X จริง ๆ มันก็ไม่ใช่ชื่อเสียทีเดียว เพราะตัว X นี่ก็คือเลขสิบโรมันนั่นเอง

วิมุติ วสะหลาย


pishate noysaart [bas0023@yahoo.com]

อยากให้มีคอลัมน์ตอบจดหมายคำถามทางดาราศาสตร์ในวารสาร ทางช้างเผือกทุกฉบับครับ

จากสมาชิก303404

thaiastro

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ ผมจะพยายามคัดมาลงอยู่เสมอ ๆ ครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Tanapun Thamgrang" [dear_tanapun@hotmail.com]

คำถาม
จะมียานไปสำรวจดาวพลูโตบ้างไหม?
และอยากทราบรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะและดาวบริวารที่สำคัญและน่าสนใจ

ขอบคุณมากครับ

thaiastro

มีครับ คือยานพลูโต-ไคเปอร์เอกเพรส (Pluto-Kuiper Express) เป็นยานเล็กกระจิดริด คาดว่าจะออกเดินทางจากโลกภายในสองสามปีนี้ ถ้าไม่เลื่อนโครงการออกไปอีก
รายละเอียดพื้นฐานเกี่ยวกับดาวเคราะห์ มีลงไว้ในหน้า "ข้อมูลดาวเคราะห์" [https://thaiastro.nectec.or.th/library/planets.html] แล้วครับ แต่ถ้าต้องการข้อมูลโดยละเอียดจริง ๆ เห็นทีจะลอกมาให้ไม่ไหวครับ ลองไปดูที่ "Planetary Data System" ของนาซาดูสิครับ เขาอยู่ที่ http://pds.jpl.nasa.gov/

วิมุติ วสะหลาย


Virin Intharawongsak [virin@asia.com]

สวัสดีครับ
ผมมีความสนใจในการดูดาว แต่เพิ่งเริ่ม จึงอยากจะสอบถามข้อมูลจากพี่
ผมอยากทราบแหล่งขายกล้องหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง และควรจะซื้อแบบไหนถึงจะดี ราคากล้องทั้งสองแบบอยู่ที่ราคาประมาณเท่าไร
- แบบหักเหแสง
- แบบสะท้อนแสง
เมื่อผมมีกล้องแล้วควรเริ่มต้นอย่างไร
ผมหวังว่าพี่จะช่วยแนะนำ และตอบกลับมา

ขอบคุณมาก
virin@asia.com

thaiastro

สวัสดีครับ
ถ้าน้องเพิ่งจะเริ่ม ขอแนะนำได้เลยว่า อย่าเพิ่งซื้อกล้องโทรทรรศน์ ต่อให้มีเงินเหลือใช้ก็ตาม แต่ถ้าอยากซื้อ ขอให้ซื้อกล้องสองตาครับ หาซื้อก็ง่ายมากด้วย แค่ร้านขายอุปกรณ์กล้องถ่ายภาพก็มักจะมีกล้องสองตาขายอยู่เสมอ เลือกอันดี ๆ หน่อย กำลังขยายสัก 7 - 10 เท่า ขนาดหน้ากล้องสัก 40 - 50 มม. กำลังดี อันพอใช้ได้ราคาแค่ไม่กี่พันบาท ถ้าทุนมากก็แนะนำให้ซื้อรุ่นดัง ๆ หลาย ๆ หมื่นเลยก็ได้ครับ
กล้องโทรทรรศน์แต่ละชนิดมีข้อเด่นข้อดีเหมาะกับคนที่สนใจในด้านต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน แต่กล้องสองตาจะเหมาะกับนักดูดาวทุกประเภท เราจึงแนะนำให้ซื้อกล้องสองตาก่อนเสมอ ไม่แนะนำให้ซื้อกล้องโทรทรรศน์ในตอนนี้อย่างเด็ดขาด มีคนไม่น้อยที่ซื้อกล้องโทรทรรศน์ทันทีที่อยากดูดาว แต่ต้องมาเสียใจภายหลัง ขอให้เชื่อเถิด ดูดาวด้วยกล้องสองตานั้น ดูทุกวัน 5 ปีก็ยังไม่ทั่วฟ้าหรอกครับ
ส่วนเมื่อซื้อกล้องสองตามาแล้วจะเริ่มอย่างไรนั้น ลองไปดูที่ "กล้องสองตา คู่หูของนักดูดาว" [https://thaiastro.nectec.or.th/libary/binocwld.html] ดูครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Patricia" [pause7@hotmail.com]

ผมขอรบกวนเรียนถามว่า เราจะใช้วิธีสังเกตอย่างไร จึงสามารถบอกได้ว่าหินก้อนใดเป็นก้อนอุกกาบาตและก้อนใดคือหินธรรมดาครับ และนักวิทยาศาสตร์มีวิธีในการสืบหาแหล่งที่มาของอุกกาบาตว่ามาจากดาวดวงใดได้อย่างไรครับ

thaiastro

การสังเกตภายนอกอย่างคร่าว ๆ ก็คือ ลูกอุกกาบาตมักปรากฏรอยเหมือนกับลมเป่าจนเป็นขีดที่ผิว เพราะว่า มันพุ่งแหวกอากาศเขามาด้วยความเร็วสูงในขณะที่ผิวนอกร้อนจัดและหลอมเหลว และมีลักษณะของรอยไหม้เป็นสีดำหรือน้ำตาลด้วย เมื่อหยิบก้อนหินนั้นขึ้นมา หากมีน้ำหนักมากผิดจากหินทั่ว ๆ ไปที่ขนาดเท่ากัน แสดงว่ามันมีโลหะเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ซึ่งอุกกาบาตจำนวนมากเป็นโลหะผสมเหล็ก-นิกเกิล การทดสอบด้วยการเอาแม่เหล็กมาดูดก้อนหินก็เป็นวิธีที่ดีในการพิสูจน์ว่ามีเหล็กเป็นส่วนประกอบหรือไม่
การพิสูจน์ที่น่าจะชัดเจนที่สุดก็เห็นจะเป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูเนื้อหิน เขามักก้อนหินต้องสงสัยนั้นไปตัด หรือหรือเจียร์ออก ขัดผิวรอยตัดให้มันปลาบ แล้วเอาน้ำกรดราดซ้ำ เมื่อเอากล้องส่องจะเห็นชัดว่า ลูกอุกกาบาตจะมีผลึกของแร่ต่าง ๆ ที่สมบูรณ์สวยงาม (อาจไม่สวยก็ได้) แต่หินบนโลกจะเป็นผลึกที่ไม่สมบูรณ์แยกแยะธาตุแทบไม่ออก

วิมุติ วสะหลาย


"ชลธิดา เกษตรทัต" [dew-ck@thaimail.com]

ต้องการทราบว่า "ปัญหาต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศต้องเตรียมตัว รับสภาพไว้ก่อนไปอวกาศ " ขอทราบเป็นข้อความยาว ๆ เพราะต้องการทำรายงานค่ะ

..........ขอบคุณค่ะ.........

thaiastro

นักบินอวกาศต้องมีการเตรียมตัวอย่างมากมายกว่าจะได้ขึ้นไปในอวกาศ เขาจะต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หลายอย่างเพื่อให้ทำงานได้และเพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่ได้ในอวกาศ คำถามของคุณชลธิดาถามเรื่องการเตรียมตัวรับสภาพ น่าจะหมายถึงการดำเนินชีวิตมากกว่า ใช่หรือไม่
ข้อมูลทุกอย่างที่ตอบ มาจากหนังสือที่ผมแนะนำในวารสารทางช้างเผือก ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฉบับเดือนสิงหาคม 2543 หนังสือเล่มนี้ชื่อ Do your ears pop in space? and 500 other surprising questions about space travel โดย R. Mike Mullane
โดยปกตินักบินอวกาศจะได้รับมอบหมายงานล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 ปี หลังจากได้รับมอบหมายงานแล้วเขาก็จะเริ่มการฝึก ถ้าเป็นปฏิบัติการธรรมดาจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี แต่ถ้าเป็นปฏิบัติการใหญ่พิเศษ เช่นการซ่อมกล้องฮับเบิล จะต้องเตรียมการถึง 2 ปี
สิ่งที่ทำคือซักซ้อมวิธีการทำงานตามขั้นตอนที่ต้องทำ ในสภาวะเกือบเหมือนจริง ทำซ้ำ ๆ จะกว่าจะคล่อง และผู้ฝึกสอนจะใส่ปัญหาเข้าไปในทุกขั้นตอน ให้มนุษย์อวกาศรู้วิธีแก้ปัญหาทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อเวลาทำจริง ๆ แล้วมีปัญหา จะได้แก้ได้ทันทีไม่ตกใจและไม่เสียเวลาถามภาคพื้นดิน ซึ่งวิธีนี้คือการใส่โปรแกรมเข้าไปในหัวของมนุษย์อวกาศนั่นเอง ถ้ามีอะไรที่ผิดจากโปรแกรมนี้ก็วุ่นอยู่ดี เพราะมนุษย์อวกาศจะไม่มีข้อมูลมากเท่าภาคพื้นดิน ในกรณีนอกเหนือความคาดหมาย จะต้องรอคำสั่งจากภาคพื้นดินเท่านั้น
สำหรับยานกระสวยอวกาศ การฝึกบังคับยานทำโดยมีเครื่อง simulator สองเครื่อง ภายในหมือนกับของจริงทุกอย่างทั้งสองเครื่อง ต่างกันที่เครื่องหนึ่งอยู่นิ่ง ๆ ใช้สำหรับสอนวิธีทำงานในยานขณะอยู่ในวงโคจร ส่วนอีกเครื่องเป็นกล่องตั้งอยู่บนขา 6 ขา สำหรับสอนสถานการณ์ตอนปล่อยขึ้นและนำกลับโลก มันจะโยกจะสั่นได้ทุกท่าราวกับเป็นของจริง และผู้ฝึกสอนก็สามารถใส่โปรแกรมปัญหาให้มนุษย์อวกาศต้องแก้ได้ในทุกช่วงเวลา
การฝึกรับมือกับสภาวะไร้น้ำหนัก ทำได้โดยใช้เครื่องบินชื่อ Vomit Comet ผมแปลเรึ่องนี้ไว้ดังนี้
จำไว้ว่าคุณจะไร้น้ำหนักได้ด้วยการอยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงอย่างเสรีเท่านั้น และคุณทำเช่นนั้นได้ในเครื่องบินที่กำลังตก เพื่อเตรียมมนุษย์อวกาศและการทดลองในกระสวยอวกาศให้พร้อมสำหรับสภาวะไร้น้ำหนัก องค์การนาซาใช้เครื่องบินโดยสารโบอิงเก่าลำหนึ่งให้บินเหมือนรถไฟเหาะ พอขึ้นเนินสูงสุดแล้วนักบินจะหันหัวเครื่อง ดิ่งลง ทำให้พื้นใต้เท้าผู้โดยสารหล่นพรวด และพวกผู้โดยสารก็หล่นตามลงไป กลายเป็นอยู่ใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงอย่างเสรีพร้อมกันหมด พอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างในเครื่องบินจะไร้น้ำหนักชั่วคราว โชคร้ายที่พอหัวเครื่องอยู่ต่ำเกินไป นักบินก็จะยุติการดำดิ่ง ทุกสิ่งในเครื่องจะตกลงสู่พื้นและติดอยู่ด้วยแรงกด 1.8g ซึ่งมากกว่าแรงกดปกติเกือบ 2 เท่า จากนั้นนักบินจะนำเครื่องขึ้นไปและดิ่งลงซ้ำอีก พอผ่านไปสัก 1 ชั่วโมง คุณจะเข้าใจซาบซึ้งถึงความหมายของชื่อเล่นของเครื่องบินลำนี้เอง (Vomit = อาเจียน Comet = ดาวหาง)
การฝึกทำงานในอวกาศอย่างหนึ่งที่อาจเคยเห็นกัน คือเอายานและมนุษย์อวกาศลงไปในถังน้ำยักษ์ ให้หัดทำงานกันในนั้น ถึงแม้เมื่อการลอยตัวใต้น้ำได้สมดุลจะดูเหมือนไร้น้ำหนัก เขาก็ว่าไม่ใช่เพื่อให้คุ้นกับสภาวะไร้น้ำหนัก แต่เพื่อให้คุ้นกับการที่เมื่อออกแรงแล้ว จะมีแรงสะท้อนกลับที่เท่ากันเสมอ ซึ่งในน้ำทำได้คล้ายกับในอวกาศ เช่นเมื่อลอยตัวอยู่ จะไขน็อตสักตัว เราจะถูกแรงของเราเองเหวี่ยงไปในทางตรงข้ามถ้าไม่มีที่ยึดไว้ก่อน เป็นต้น การฝึกทำงานในอวกาศอีกอย่างหนึ่งคือการหัดใช้แขนกลเพื่อหยิบของออกจากส่วนเก็บสัมภาระของยาน ถ้าของนั้นเป็นดาวเทียมขนาดรถเมล์สองคันรวมกัน ก็ต้องระมัดระวังกันมาก จึงต้องฝึกกันหนักอีกเช่นกัน
การฝึกใช้ชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนัก มีทั้งหัดกิน หัดเก็บของ เขาว่ามนุษย์อวกาศจะไม่ตัดปากถุงอาหารให้ขาดเป็นสองชิ้น เพราะถ้าทำแบบนั้น จะมีขยะลอยออกมาอีกหนึ่งชิ้น ทำให้เก็บกวาดยาก การนอน การขับถ่าย ก็ต้องฝึกกันด้วย หนังสือที่ผมใช้อ้างอิงให้ข้อมูลพวกนี้ไว้ละเอียด ทำเอามนุษย์อวกาศหายโก้ไปเลย หรือเรื่องถ้าเมาอวกาศจะอาเจียน ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่พุ่งออกจากปากเมื่อกระทบกับถุงที่รองรับจะไม่กองอยู่ในถุง แต่จะเด้งกลับมาด้วยความแรงเท่ากับตอนขาออก เรื่องอย่างนี้มนุษย์อวกาศก็ต้องรู้ไว้
หวังว่าผมคงตอบคำถามของคุณชลธิดาได้ระดับหนึ่ง

วิษณุ เอื้อชูเกียรติ


"yahoo" [g_tanarat@yahoo.com]

สวัสดีครับ
ผมอยากทราบว่าใครเป็นคนทำแผนที่ดาวอังคาร หาที่ไหนก็ไม่พบครับ กรุณาตอบภายในวันที่ 18 ส.ค. 2543

thaiastro

ตอบยากเหมือนกันครับ แผนที่ดาวอังคารมีตั้งหลายฉบับ ทั้งฉบับใช้กล้องส่องแล้วสเก็ตช์ ฉบับที่วาดดาวอังคารมีรูปคลองชลประทาน จนถึงรูปพื้นผิวโดยละเอียดที่ถ่ายโดยยานอวกาศ จึงไม่ทราบว่าคุณหมายถึงแผนที่แบบไหน
กาลิเลโอเป็นคนแรกที่ตั้งกล้องส่องดาวอังคาร แต่เขาก็ไม่เห็นอะไร จึงไม่สามารถเขียนรายละเอียดได้ คนแรกที่สเกตช์ลักษณะพื้นผิวบนดาวอังคาร (ซึ่งก็น่าจะเรียกว่าเป็นแผนที่ได้) ก็คือ F. Fontana เขาวาดในปี 1636 ภาพวาดนั้นเป็นแค่วงกลมที่มีปื้นดำ ๆ รูปกรวยอยู่กลางดวงเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดมากไปกว่านี้ แผนที่ดาวอังคารที่มีรายละเอียดดี เพิ่งมาทำได้เอาในปี 1830 เท่านั้น โดย W. Beer และ J. H. Madler (เยอรมัน)
ถ้าหมายถึงแผนที่ ๆ ถ่ายโดยยานอวกาศที่ไปสำรวจและถ่ายรูปก็มีหลายลำ เช่น Mariner 4, 6, 7, 9, Viking 1 และ 2, Mars pathfinder และ Mars Global Survayer ยานเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนร่วมในการทำแผนที่ทั้งสิ้น

วิมุติ วสะหลาย


PEERAPONG Chailapo-PTTEP [PEERAPONGC@pttep.com]

สมมุติว่าดาวเคราะห์ดวงหนึ่งอยู่ห่างจากโลก 10 ล้านปีแสง หมายความว่าถ้าเราส่องกล้องเห็นการระเบิดของดาวดวงนั้น ณ ขณะนี้ จริง ๆ แล้วเหตุการณ์ระเบิดนั้นเกิดเมื่อ 10 ล้านปีที่แล้วใช่หรือไม่ครับ

พีระพงศ์

thaiastro

ใช่แล้วครับผม เพราะว่าระยะทางเป็น 10 ล้านปีแสง ซึ่งหมายความว่าแสงต่อเดินทางใช้เวลา 10 ล้านปีถึงจะถึงโลก นั้นก็แสดงเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อ 10 ล้านปีที่แล้วเพิ่งเดินทางมาถึงโลกให้เราได้เห็นครับ

กฤษดา