จดหมายถึง thaiastro

maruko mar (maruko2324@hotmail.com)

สวัสดีครับ
สวัสดีครับคุณวิมุติ ผมชื่อ พิเชษฐ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมมีความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์มานานพอสมควร ผมมักจะติดตามอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์อยู่เสมอ เช่น วารสารทางช้างเผือก เพราะหอสมุดที่นี่เป็นสมาชิกอยู่ แต่ข้อเสียคือ วารสารมาช้ามาก

สาเหตุที่ผมเขียนจดหมายมารบกวนคุณวิมุติก็เพราะว่า ตอนนี้ผมกำลังค้นหาภาพโปสเตอร์ที่เกี่ยวกับ จักรวาล เอกภพ ดาราจักร ภาพดาวตก ผมใช้เวลาค้นหามานาน นานจนคิดว่าคงไม่มีโอกาสเจออีกแล้ว ค้นหาตามร้านหนังสือหลาย ๆ แห่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่ก็หาไม่เจอ เพราะส่วนมากที่เจอที่มีก็จะเป็นภาพ ดารา นักแสดง นักร้อง มีอยู่เต็มไปหมด

ถ้าหากว่าไม่เป็นการรบกวนคุณวิมุติจนเกินไปนัก ผมอยากให้คุณวิมุติช่วยบอกผมหน่อยได้ไหมครับว่า จะสามารถหาภาพดังกล่าวได้จากที่ไหนบ้างในเมืองไทยนี้ หรือแม้แต่ในต่างประเทศ หากใช้ค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

เพื่อไม่เป็นการรบกวนคุณวิมุติจนเกินไป ผมขอเพียงแค่ที่ติดต่อกับที่ ๆ จะหาภาพ ดังกล่าวได้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องตอบจดหมายของผมยาวนักก็ได้ ผมก็เกรงใจ เพราะคิดว่า คงมีคนเขียนจดหมายไปหาคุณวิมุติเยอะเหมือนกัน สวัสดีครับ

ขอขอบคุณอย่างสูง
ด้วยความเคารพอย่างสูง

thaiastro

สวัสดีครับ
ขอบคุณที่ติดตามทางช้างเผือกครับ เรื่องวารสารทางช้างเผือกขอน้อมรับความผิด ในต้นปีหน้าจะปรับปรุงใหม่แล้วครับ ออกเร็วกว่าเดิมแน่นอน

ถ้าเป็นโปสเตอร์แผ่น ๆ หายากครับ ผมเคยเห็นที่สวยจริง ๆ มักจะเป็นโปสเตอร์ที่เป็นแผ่นพับแถมมากับวารสาร National Geographic ส่วนภาพสวย ๆ ในรูปแบบอื่น เช่นหนังสือภาพต่าง ๆ หรือโปสการ์ด ก็ไม่น่าจะหายากนัก ผมเคยได้หนังสือจำพวกนี้ที่ Asia Books (คิดว่าที่เชียงใหม่ก็คงมีเหมือนกัน)  ที่ร้าน Kinokuniya ในห้างเอ็มโพเรียมมีหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์มากพอสมควร รวมทั้งหนังสือภาพที่คุณอยากได้ด้วยครับ แต่โปสเตอร์ยังไม่เคยเห็น   ช่วงนี้ใกล้ปีใหม่อย่าลืมมองหาปฏิทินจากต่างประเทศด้วยนะครับ ผมเคยได้ปฏิทินรูปวัตถุท้องฟ้ามาจากห้างเซ็นทรัล สวยงามมาก ปีนี้อาจจะมีมาใหม่ ๆ ก็ได้ คุณใช้อินเทอร์เนต ก็สามารถหาภาพจากอินเทอร์เนตมากมายหลายแหล่ง ลองดูที่หน้าลิงก์ของสมาคมฯ (https://thaiastro.nectec.or.th/library/astrowww.html) ดูสิครับ มีมากหมายเต็มไปหมด ดาวน์โหลดให้เพลินไปเลย

วิมุติ วสะหลาย


orawan.i@CDG.CO.TH

เรียน ท่านอาจารย์คะ
ดิฉันอยากทราบว่า GPS reciever จะสามารถช่วยในการดูดาวได้อย่างไรคะ?

ขอบพระคุณมากค่ะ
อรวรรณ

thaiastro

ในความเข้าใจของผมเท่าที่รู้ คือ GPS ย่อมาจาก Global Positioning System ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการบอกตำแหน่งลองจิจูดและละติจูดของผู้สังเกตบนโลก มีประโยชน์ในด้านดาราศาสตร์ในกรณีที่เราต้องการตำแหน่งของเราที่ละเอียดมาก ๆ คนที่ทำการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แบบมืออาชีพจำเป็นต้องใช้ เช่นการสังเกตปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ (Baily's Beads) ของสุริยุปราคาเต็มดวง และการสังเกตการกะพริบของแสงดาวฤกษ์ขณะที่ดวงจันทร์เฉียดเข้าบัง ทั้งสองปรากฏการณ์จะช่วยให้เราทำแผนที่ความสูงต่ำของเครเตอร์บนดวงจันทร์บริเวณใกล้ขั้วดวงจันทร์ได้ (แม้แต่ยานลูนาร์โพรสเปกเตอร์ก็ยังทำได้ไม่ละเอียดเท่า)

วรเชษฐ์


chaising chitong (paewla@chaiyomail.com)

สวัสดีค่ะคุณวิมุติ
หนูได้ติดตามข่าวของสมาคมดาราศาสตร์ไทยมาโดยตลอด และตอนนี้หนูก็อยากจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอุกกาบาต ไม่ทราบว่าคุณพอจะมีข้อมูลบ้างหรือเปล่า เพราะตอนนี้หนูเรียนอยู่ท่สถาบันราชภัฏเชียงราย เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 วิชาเอกฟิสิกส์ และเทอมนี้ได้เรียนสัมนาฟิสิกส์ และหนูเลือกหัวข้อเรื่อง อุกกาบาต ก็อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ขอความกรุณาให้คุณช่วยส่งข้อมูลเกี่ยวกับอุกกาบาตมาให้ทางอินเตอร์เน็ตจะได้หรือเปล่าคะ อย่างไรหนูก็ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้านะคะ

ขอบคุณค่ะ
นางสาวพัชรี สุวิชาญเมธี

thaiastro

ในวารสารทางช้างเผือก (https://thaiastro.nectec.or.th/mlky/mlkyjnl.html) ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2542 มีเรื่อง "เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุกกาบาต" ของ อ.ธัญญา รายละเอียดมากพอสมควรครับ ส่วนในเว็บนั้น ผมยังไม่เคยเห็นเว็บที่ไหนเขียนเรื่องอุกกาบาตเป็นไทย ๆ เลย มีแต่ของฝรั่ง ลองเข้าไปดูที่ Meteorite Facts (http://seds.lpl.arizona.edu/nineplanets/nineplants/meteorites.html) เพจนี้ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอุกกาบาตดีพอสมควร และยังมีลิงก์ไปยังที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ที่เพจ www.meteor.co.nz ก็มีเป็นอีกเพจหนึ่งที่มีลิงก์ดี ๆ น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ลองดูนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


pradit ratanavatee (pradit99@yahoo.com)

สวัสดีครับ คุณ วิมุติ
ผมมีความสงสัยว่าตอนนี้นักดาราศาสตร์ยังนับดาวพลูโตเป็นดาวเคราห์ดวงที่ 9 อยู่หรือเปล่าครับ เพราะได้ยินบางคนพูดว่า ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่ดาวเคราะห์ ช่วยตอบกลับมาที่ pradit99@yahoo.com ด้วยครับ ขอบคุณมาก

ประดิษฐ์

thaiastro

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาถกเถียงกันมานานนับปีแล้ว และเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ข้อสรุปที่ได้ยังคงไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก คือ ยังคงให้เป็นดาวเคราะห์อยู่ แต่ก็อาจถือว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยได้เหมือนกัน คือเป็นทั้งสองอย่างเลยครับ

วิมุติ วสะหลาย


Olarn Arpornchayanon (oarpornc@sd01.med.cmu.ac.th)

เรียน คุณวิมุติ ที่นับถือ
ผมอยากให้ช่วยเผยแพร่ free software ที่ดีๆ และน่าสนใจแก่ผู้สนใจทางดาราศาสตร์ ดังนี้ http://ourworld.compuserve.com/homepages/han_kleijn/software.htm
http://www.stargazing.net/astropc/ ผมเองใช้กล้อง ETX -90EC อยู่ สะดวกและแม่นยำดีครับ ถ้ามีผู้สนใจ ติดต่อคุณฐากูร (thagoon@kirdkao.org) ได้ครับ   มี อีก website ที่ไม่ควรพลาดครับ http://calsky.astroinfo.org/ คุณวิมุติลองเข้าไปดูนะครับ

ขอแสดงความนับถือ
โอฬาร  อาภรณ์ชยานนท์
Olarn Arpornchayanon, M.D.
Department of Orthopaedics, Faculty of Medicine
Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, Thailand

thaiastro

เข้าไปดูแล้วครับ ขอบคุณคุณโอฬารมากครับที่แนะนำเว็บไซต์ดี ๆ มาให้

วิมุติ วสะหลาย


 

Nipon Gasiprong (nipon@ast.man.ac.uk)

Dear Kun Wimut,
For the sake of Thai students, I would like to ask you to correct two points in the Thai Astronomical Society Web-page.
1) The first figure in "Which country is seeing the first sunrise on the 1 Jan. 2000". The sun position is in the southern hemisphere, not in the northern hemisphere as shown in that figure.
2) About "The year 2000 is not the new century", Could you please carefully check your calculation?

Regards
nipon,

thaiastro

Dear A.Nipon,
Yes, the picture was wrong. I have corrected it immediately after received your notice. About the new century consideration, I think detail calculation will not be necessary. My explanation in the "Common Error in Astronomy" page (https://thaiastro.nectec.or.th/library/error.html) has given clear reason. It is based on two important facts: 1). A century has 100 years. and 2). Year counting begins at 1 AD, not 0 AD. So century roll over would happen at 101, 201,... on the other hand, millenium roll over would happen at 1001, 2001,... You can also find many resources in the web discussing this topic.

Regards,
Wimut Wasalai.


Anant Chuangchawano (04621127@student.chula.ac.th)

สวัสดีครับคุณวิษณุ/คุณวิมุติ
ผมได้ยินข่าวมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ที่ต่างประเทศมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่า ในปีหน้านี้ ประมาณวันที่ 2 มกราคม จะมีดาวหาง หรือ อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก และทางสหรัฐอเมริกาก็เตรียมยิงระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายดาวหาง/อุกกาบาตลูกนี้ (เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง DEEP IMPACT) แต่ข่าวนี้ ทางรัฐบาลพยายามปิดเป็นความลับชนิด TOP SECRET
ผมรบกวนขอถามคำถามหน่อยนะครับว่า
1. ข่าวนี้ จริง หรือ เท็จ มากน้อยแค่ไหน
2. ในกรณีที่มีดาวหาง/อุกกาบาต พุ่งเข้าชนโลกจริง ๆ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
3. ถ้าสมมติว่า อเมริกาจะยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่ดาวหาง/อุกกาบาต มีโอกาสที่จะยิงถูกไหม หรือว่า การคำนวณตำแหน่งนั้น ถูกต้องเพียงใด และถ้าทางอเมริกาสามารถยิงระเบิดทำลายดาวหาง/อุกกาบาตได้แล้ว จะมีผลกระทบหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับโลกไหมครับ เช่น เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วท้องฟ้า เกิดความมืด เป็นต้น

รบกวนคุณวิษณุ/คุณวิมุติ ช่วยตอบคำถามผมด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณครับ

อานันท์ เชิงชวโน

thaiastro

สวัสดีครับ
หากว่าเรื่องนี้มีคนสามารถรับรู้ข้ามทวีปภายในเวลารวดเร็วอย่างนี้ ก็ไม่น่าจะเรียกว่า top secret แล้วละครับ

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าวทำนองนี้เลย ทันทีที่อ่านจดหมายของคุณอานันท์ ผมไม่เชื่อโดยสิ้นเชิง แต่เพื่อความไม่ประมาท ผมจึงตรวจสอบข่าวอีกหลายสำนักตามเว็บต่าง ๆ (ด้วยสันนิษฐานตามย่อหน้าแรกว่า ถ้าถึงขนาดคุณรู้ผมรู้ได้เขาก็ต้องลงข่าวกันทั้งโลกแล้ว) ซึ่งก็ไม่พบข่าวในทำนองนี้แต่อย่างใดครับ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับลูกอุกกาบาตอยู่เรื่องหนึ่งคือ มีลูกอุกกาบาตลูกหนึ่งพุ่งกระแทกพื้นโลกที่ออสเตรเลีย เฉียดหัวผู้หญิงคนหนึ่งไปนิดเดียวเท่านั้น หากโดนจริง ๆ ก็หัวแบะตายแน่นอน เป็นที่ฮือฮากันนิดหน่อย บางทีข่าวอุกกาบาตยักษ์ชนโลกอย่างที่คุณได้ยินมาอาจจะถูกรังสรรปั้นแต่งมากจากข่าวนี้ก็ได้ ไม่แปลกเลย อิทธิพลของข่าวลือรุนแรงขนาดไหน คิดว่าคุณอานันท์คงจะทราบดี ตอนนี้ขอให้คุณอานันท์สบายใจได้ และสันนิษฐานเอาไว้ 99.99 เปอร์เซนต์ได้เลยครับว่าข่าวนั้นเป็นข่าวโคมลอย

หากว่าข่าวนี้เป็นจริง นั่นคือลูกอุกกาบาตยักษ์นั้นจะชนโลกจริง ๆ ในวันที่ 2 มกราคมนี้ ก็หมดห่วงเลยครับ ไม่ต้องลุ้นอะไรทั้งสิ้น เพราะการปราบลูกอุกกาบาตยักษ์ด้วยระเบิดนิวเคลียร์อย่างที่เห็นในภาพยนต์นั้น เขาเพิ่งเริ่มดำเนินโครงการมานานไม่ถึงปีเท่านั้น แถมยังไม่เคยมีการทดลองเลยจริง ๆ ว่าสามารถทำได้หรือไม่

ผลกระทบต่อโลกหากว่ามันพุ่งชนจริง ๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดและความเร็วของลูกอุกกาบาตนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ อานุภาพการทำลายล้างของลูกอุกกาบาตนั้นกว้างขวางกว่าขนาดของมันเองเป็นอย่างมาก อย่างอุกกาบาตที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น เชื่อว่ามีขนาดประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าอุกกาบาตมีขนาดสักประมาณรถยนต์คันหนึ่ง พุ่งด้วยความเร็วเอื่อย ๆ สัก 50-60 กิโลเมตรต่อวินาที ก็จะสามารถทำลายเมืองใหญ่ ๆ ได้สบาย ๆ ถ้าคุณดูภาพยนต์อย่าง Deep Impact หรือ Armageddon มา ก็พอจะดูเป็นแนวทางได้ ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร มันไม่ต่างจากสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานมากนัก แต่เรื่อง Armageddon ค่อนข้างจะเกินความจริงมากกว่าเรื่อง Deep Impact ครับ

การทำลายวัตถุอันตรายเหล่านั้นด้วยระเบิดอย่างที่เห็นในภาพยนต์นั้น คนทำภาพยนต์เขาเอาแนวคิดมากจากนักวิทยาศาสตร์เลยละครับ แทบจะไม่ต่างกัน แต่ผลของการระเบิดที่ว่าจะกำหนดให้มันแตกออกเป็นกี่ชิ้น ๆ และกระเด็นไปทางไหนนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่จะคาดการณ์ว่าจะแตกหรือเปล่าก็ไม่ง่าย หากวัตถุนั้นเป็นวัตถุที่ค่อนข้างเปราะบาง เช่นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยจำพวกที่เขาเรียกว่า "กองหิน" (rubble pile) ก็จะแตกง่ายหน่อย แต่ถ้าโชคร้ายไปเจอพวกหินตันหรือเหล็กตัน อย่างที่พบในดาวเคราะห์น้อยหลายดวง ก็จะระเบิดยากกว่ามาก

สรุปว่าขอให้สบายใจได้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Pasakorn Iem-sumarng (ipas@sra.cat.or.th)

สวัสดีครับคุณวิมุติ
คราวนี้พิมพ์ภาษาไทยได้แล้วครับ ผมได้ดาวน์โหลดโปรแกรม Homeplanet มาลองใช้ดูแล้วพบว่าในเดือนธันวาคมนี้จะมีฝนดาวตกเกิดขึ้น 4 ครั้ง คือ Phoenicids วันที่ 5 ธันวาคม Coma Berenicids วันที่ 12 ธันวาคม Germinids วันที่ 14 ธันวาคม (ปีที่แล้วผมก็มีโอกาสได้เห็นเหมือนกัน แต่มีจำนวนไม่มาก) และ Ursids วันที่ 23 ธันวาคม จึงอยากจะรบกวนถามว่า โอกาสที่จะเห็นในประเทศ (หากท้องฟ้าเปิด) มีมากหรือน้อยครับ อ้อ! อีกอย่างนึงครับ ทำไมชื่อเรียกของฝนดาวตกจึงมักลงท้ายด้วย นิดส์ หรือ ซิดส์ หรือ......ล่ะครับ คงรบกวนเท่านี้ละครับ

ขอบคุณมากครับ
ภาสกร เอี่ยมสำอางค์

thaiastro

สวัสดีครับ คุณภาสกร
ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดได้เดือนละหลาย ๆ ครั้ง ไม่แปลกหรอกครับ แต่ว่าแต่ละชุดก็มีความชุกต่างกัน บางชุดก็ดีมากบางชุดก็แทบสังเกตไม่เห็น อย่างในเดือนธันวาคมนี้ ฝนดาวตกที่เด่นที่สุดมีเพียงชุดเดียวคือฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) จริง ๆ แล้วต้องเรียกว่าดีที่สุดของปีเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ในรอบสองปีที่ผ่านมามีฝนดาวตกสิงโตมาบดบังรัศมีเสียก่อน ส่วนที่เหลือล้วนแต่เป็นฝนดาวตกประเภท "หรอมแหรม" (Minor shower) ชั่วโมงละไม่ถึง 5 ดวง หรือบางชุดเคยมีรายงานแค่ครั้งเดียว (ปีเดียว) เท่านั้นเอง อย่างเช่น Phoenicids เป็นต้น เคยมีแค่ครั้งเดียวคือในปี 1956 เท่านั้น ส่วนฝนดาวตกผมของเบเรนิส (Coma Berenicids) นั้น น่าจะเรียกว่าเป็นฝนของเดือนมกราคมมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็เป็นฝนดาวตกที่กระปริบกระปรอยมากอยู่ดี จึงไม่น่าสนใจครับ

ฝนดาวตกที่น่าสนใจจะมีประมาณปีละ 6-7 ชุด (ดูได้ในหน้า ปรากฏการณ์ท้องฟ้า https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นได้ทั้งหมดครับ เพราะจะมีอยู่หลายชุดที่ไปตรงกับฤดูฝนซึ่งมีเมฆมาก และอีกหลายชุดที่ไปตรงกับช่วงที่มีแสงจันทร์รบกวน ดังนั้น ปี ๆ หนึ่งจะมีฝนดาวตกที่น่าสนใจน่าดูจริง ๆ เพียง 2-3 ชุดเท่านั้นเอง ดังนั้นหากคุณอยากทราบว่าฝนดาวตกชุดไหนน่าสนใจในแต่ละปี ก็ต้องดูสองปัจจัยครับ คือดิถีของดวงจันทร์อำนวยหรือไม่ กับสภาพภูมิอากาศครับ

ชื่อฝนดาวตกภาษาฝรั่งที่ลงท้ายด้วย ids ก็เพื่อแปลงชื่อกลุ่มดาว (หรือชื่อดาว) นั้นให้อยู่ในรูปแบบพิเศษ (genitive form) ครับ พยางค์สุดท้ายจึงกลายเป็น -ids แต่ถ้าชื่อไทย ๆ ก็เรียกเป็นชื่อกลุ่มดาวไปเลย เช่น ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) ฝนดาวตกดาวอีต้า-คนแบกหม้อน้ำ (Eta-Aquarids) เป็นต้นครับ

ขออภัยที่ตอบช้าครับ จะสิ้นเดือนอยู่แล้ว อย่างไรก็ขอถือโอกาสนี้สวัสดีปีใหม่ ขอให้มีความสุขความเจริญตลอดปี 2543 ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Jarin Kramyu

เรียน อ.นิพนธ์
ผมชื่อนายจรินทร์ คร้ามอยู่ เคยเป็นสมาชิก (ยุวสมาชิก) ของสดท.นานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมแต่ไม่ได้ต่ออายุสมาชิกมานาน จนปัจจุบันผมทำงานแล้วซึ่งที่ผ่านมาสารของทาง สดท. ผมก็ได้อ่านจากเพื่อน ๆ และคนรู้จัก เป็นบางครั้งบางคราว และทราบว่าระบบการจัดส่งเอกสารรวดเร็วมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ๆ มาก ตอนนี้ผมกำลังตัดสินใจสมัครสมาชิกใหม่ แต่มีความสงสัยรูปแบบใหม่ของวารสารว่าจะเป็นแบบใดครับ (จากบทบรรณาธิการแถลง ฉบับที่4 ต.ค.-ธ.ค. 2542) ทราบว่าจะออกเป็นรายเดือน ไม่ทราบว่ารูปแบบยังอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระเหมือนเดิมหรือเปล่า หรือเปลี่ยนแปลงเป็นแผ่นพับสำหรับแจ้งข่าวสารของสมาชิก อยากทราบคำตอบครับ

ขอแสดงความนับถือ
นายจรินทร์ คร้ามอยู่

thaiastro

เรียน คุณจรินทร์
ผมขอตอบแทนท่านอ.นิพนธ์ครับ เนื่องจากผมจะต้องมาดูแลวารสารแทน ทางช้างเผือกโฉมใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ อย่าง การออกจะออกเป็นรายเดือนเพื่อให้ทันเหตุการณ์ไม่ล้าสมัย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความหนาของวารสาร นั่นคือจะมีความหนาเพียง 12 หน้า ไม่มีสี มีลักษณะคล้ายจุลสารมากกว่าวารสาร (แต่ก็ไม่เล็กถึงขนาดแผ่นพับหรือใบปลิว) ถึงแม้ความหนาของวารสารจะลดลง แต่เนื้อหาจะหลากหลายขึ้น ปรากฏการณ์ท้องฟ้าและข่าวสารก็จะทันเหตุการณ์ขึ้นด้วยครับ

วิมุติ วสะหลาย