จดหมายถึง thaiastro

Rattana Buranarakdham (buranarak@hotmail.com)

ไม่ทราบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับดาวเรียงตัวในวันที่ 5 พฤษภาคม 2543 บ้างไหม อยากทราบว่าจะมีปรากฎการณ์อะไรบ้าง และจะส่งผลต่อโลกอย่างไร

ขอบคุณครับ

thaiastro

มีอธิบายไว้อย่างละเอียดในบทความ "เมื่อดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/grncnj.html) อยู่แล้วครับ

วิมุติ วสะหลาย


cosmicdiscovery.com (cosmicdiscovery@chaiyo.com>

สวัสดีครับ ผมแนะนำตัวก่อนละกัน ผมชื่อ อานัต ทรงฉลาด ปัจุจบันเป็น อ. สอนคอมพิวเตอร์อยู่ที่วิทยาลัยในชลบุรี และบ้านผมก็อยู่ที่ชลบุรีด้วยครับ ผมเคยสมัครเป็นสมาชิกกับทางสมาคมแบบผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากผมไม่มีเวลาเลย เพราะวิทยาลัยผมทำงาน อังคาร - เสาร์ ครับดังนั้นผมจึงมีเวลาน้อยมากเลย

และเท่าที่ผมเล่นท่องเว็บมาได้ 6 ปีแล้วผมยังไม่เห็นมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้แบบสารคดีหรือที่มีประโยชน์ในทางด้านวิทยาศาสตร์เลยนอกจากทางสมาคม มีแต่เว็บทางด้านความบันเทิง ตรงนี้ผมจึงคิดที่จะทำเว็บขึ้นมาและก็ได้เริ่มจัดทำอยู่ครับ ผมสนใจในแขนงด้านดาราศาสตร์แต่ผมเองก็ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ อาศัยอ่านเอาบ้าง ค้นคว้าเองบ้าง แล้วก็จัดทำขึ้นมา สิ่งที่ผมลงทุนมีดังนี้ครับ

1. ผมลงทุนจดทะเบียนโดเมนเนมเป็น www.cosmicdiscovery.com ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ผมออกเองทั้งหมดครับ

2. ผมลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ทำทางด้านโฮมเพจเช่น สแกนเนอร์ + กล้องดิจิตอล ร่วม 3 หมื่นกว่า ๆ ครับ

สิ่งที่ผมกล่าวมานั้นผมไม่คิดเรียกร้องเงินทองหรืออื่น ๆ ใด แต่ผมกำลังบอกว่านี้ผมเอาจริงเอาจังทางด้านนี้ และแน่นอนผมก็ต้องทำลิงก์มาที่เว็บทางสมาคมอยู่แล้ว ครับผมไม่มีเวลาที่จำไปร่วมงานกับทางสมาคมหรือมีแต่ก็น้อย ดังนั้นผมจึงคิดที่จะทำเว็บขึ้นมาก็เหมือนกับผมช่วยในเรื่องวิทยาศาสตร์ในบ้านเมืองเราให้เท่าเทียมกับต่างประเทศได้อีกทางหนี่ง

อย่าคิดว่าผมทำเว็บแข่งกับทางสมาคมหรืออื่น ๆ ใดนะครับ ผมทำด้วยใจจริงครับและหากผมช่วยงานกับทางสมาคมฯ ได้ผมก็ยินดีเท่าที่ผมคิดและจะทำคือ หากทางสมาคมมีการจัดงานหรือใด ผมก็จะลางานไป และก็ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอลและนำมาลงที่เว็บไซต์ดังกล่าวทันที เพื่อให้วัยรุ่นเขาเห็นและเกิดรัก ดูรูปแล้วสนุกสนาน เฮฮา ตรงนี้เป็นการดึงดูดให้เยาวชนสนใจและมาสมัครเป็นสมาชิกกับทางสมาคมด้วย เพราะเขาคิดว่า สนุกและได้ความรู้ อีกทั้งได้ลงรูปเขาทั้งหลายในเว็บ วัยรุ่นสมัยนี้ความคิดเขากำลังเปลี่ยนไป .......

ครับมีความคิดเห็นอย่างไรก็เมลมาคุยกับผมได้ครับพี่ ขอเรียกว่าพี่ล่ะกันแลดูกันเองดีครับ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริงครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
อ.อานัต ทรงฉลาด

thaiastro

สวัสดีครับคุณอานัต
ผมรู้สึกชื่นชมในความตั้งใจของคุณอานัตเป็นอย่างยิ่งครับ และยินดีที่มีคนทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ดาราศาสตร์เพี่มขึ้นอีกคนหนึ่ง หากคุณต้องการข้อมูลอะไรเป็นพิเศษ ลองติดต่อมาทางสมาคมฯ ดูได้เลยนะครับ ความคิดที่จะทำไซต์ให้กลุ่มวัยรุ่นหันมาสนใจทางดาราศาสตร์ก็น่าสนใจ เพราะของสมาคมฯ เองมีลักษณะค่อนข้างจะเป็นวิชาการ อาจไม่ดึงดูดใจผู้ชมบางกลุ่มเท่าไรนัก

เคยได้ยินมาว่าที่มหาวิทยาลัยบูรพาก็มีคณะที่สอนเกี่ยวกับดาราศาสตร์ คุณอานัตอาจจะลองไปคุยกับเขาดู เผื่อจะทำอะไรด้วยกันได้อีกทางหนึ่ง

สมาคมฯ มีกิจกรรมบรรยายความรู้ทางดาราศาสตร์ในวันอาทิตย์ที่ 3 หรือ ที่ 4 ของทุกเดือน คอยติดตามทาง thaiastro ดูนะครับ เร็วๆ นี้เราจะลงหัวข้อบรรยายและวันที่ให้ทราบ ถ้าคุณอานัตมาฟังบรรยาย ก็จะสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกรรมการและผู้สนใจคนอื่นๆ ได้ กรรมการของเราบางคนเดินทางมาจากที่ไกล เช่น ระยอง ฉะเชิงเทรา ลพบุรี เป็นต้น ดังนั้น ชลบุรีก็ไม่น่าจะถือว่าไกลเท่าไร ใช่ไหมครับ

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

วิษณุ


EGAT (Egat@egat.or.th)

ช่วยบอกชื่อ web site ที่มีบทความหรือเรื่องราวเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาล ไม่ทราบว่าหาได้ที่ไหนบ้าง ขอบคุณล่วงหน้าครับ

tratrs@it.egat.or.th

thaiastro

เรื่องในแง่ไหนครับ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัตถุในระบบสุริยะ (ไม่ใช่ "สุริยะจักรวาล") เช่นดาวเคราะห์และดาวหางต่าง ๆ ก็ต้องไปที่ http://www.seds.org/nineplanets/nineplanets/nineplanets.html ครับ ละเอียดดีมาก

วิมุติ วสะหลาย


pakorn puengnetr (kobkab034@yahoo.com)

สวัสดีครับ...
ผมชื่อ ปกรณ์ ครับ พอดีหลานซึ่งอยู่เพียง ป.3 ต้องทำรายงานเกี่ยวกับยานอวกาศ ซึ่งมียานที่ต้องหาข้อมูล 3 ลำ ประกอบด้วย มาร์ส โพลาร์แลนเดอร์ , กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี และยานแดสซีนีครับ

หลานของผมหาข้อมูลได้บางส่วนแล้วครับ และก็มาให้ผมช่วยหาด้วย ซึ่งผมก็เปิดจากเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ ซึ่งก็ได้ข้อมูลของ มาร์ส โพลาร์แลนเดอร์ไปมากพอสมควร ตอนนี้ยังติดอยู่ที่กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีและยานแคสซีนี เฉพาะวันที่ ๆ เดินทางออกจากโลกเท่านั้นครับ อยากจะรบกวนคุณวิมุติ ถ้าพอจะมีข้อมูล แจ้งผมกลับมาทางอีเมล์ด้วยนะครับ

email address ของผมคือ kobkab034yahoo.com
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ด้วยความนับถือด้วยความนับถือ
ปกรณ์ พึ่งเนตร

thaiastro

คงจะตอบช้าไป(ไม่)หน่อยนะครับ ยานคาสซีนีออกเดินทางจากโลกไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2540 เวลา 15.55 น. ตามเวลาสากล ส่วนกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีออกเดินทางสู่อวกาศอยู่เรื่อย ๆ อยากทราบเที่ยวบินไหนต้องไปดูที่เว็บของ http://spaceflight.nasa.gov ครับ เป็นเว็บเกี่ยวกับการบินอวกาศโดยเฉพาะ ในหัวข้อ SPACE SHUTTLE | Past Missions มีตารางข้อมูลการปล่อยกระสวยอวกาศในอดีตเต็มไปหมด อยากทราบเที่ยวบินไหนก็เลือกดูได้เลยครับ

วิมุติ วสะหลาย


jumroon chankulchorn (jchan98@yahoo.com)

สวัสดีครับคุณวิมุติ วสะหลาย
ผมเพิ่งมาเริ่มติดตามข่าวจากสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ก็ติดตามอยู่อย่างผ่าน ๆ ตา ก็ไปอ่านเจอจดหมายที่ตอบเกี่ยวกับเรื่องการสร้างกล้องดูดาวอย่างง่าย ประกอบกับได้อ่านเจอข้อมูลค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับการสร้างจากเวปไซท์ http://www.geocities.com/Area51/Shire/1567/index.htm

ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อเลนส์มาเล่าให้ฟัง คือหลังจากที่ผมได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างกล้องดูดาวอย่างง่ายแล้ว ผมก็ไปหาซื้ออุปกรณ์ ตัวที่มีปัญหาก็คือเลนส์ ผมไปซื้อที่ศึกษาภัณฑ์สาขาราชดำเนิน ผมก็ไม่เคยเห็นหรอกว่าเลนส์ 3" ความยาวโฟกัส 100 หน้าตาเป็นอย่างไร ผมก็ไปบอกกับคนขายที่นั่น พร้อมกับซื้อเลนส์ตา 2 cm f2.5 มาด้วย ผมมานั่งทำกล้องตามสเป็กทุกอย่างปรากฏว่ามองเท่าไรก็มองไม่เห็น ผมเสียเวลาอยู่ 2 วัน ในที่สุดผมทดลองวางเลนส์ใหม่ ในระยะที่แตกต่างกันดูแล้วส่องดู ปรากฏว่าระยะที่วัดจากเลนส์วัตถุถึงเลนส์ตาได้ไม่ถึง 50 ซม. ด้วยซ้ำ ลองเอาไปส่องดูพื้นผิวดวงจันทร์ดู ปรากฏว่าใช้ได้ครับ แต่มองรายละเอียดเช่นหลุมบนดวงจันทร์ไม่เจอเลย ผมก็มานั่งวิเคราะห์ดูน่าจะสรุปได้ว่า เลนส์วัตถุมีปัญหาแน่ เลยพยายามหาร้านอื่นที่ขายเลนส์ดู ปรากฏว่าผมไปเจอเอาเลนส์ 3" (7.5 cm) F 100 ตัวจริง มันหนากว่าที่ผมได้มาประมาณ 2 เท่าเห็นจะได้ ผมกลับไปที่ศึกษาภัณฑ์อีกครั้งหนึ่ง ผมบอกว่าผมได้เลนส์ได้ไม่ตามที่ระบุจึงขอเปลี่ยน พร้อมกับแสดงใบเสร็จให้ดู ผมพบกับผู้ขายซึ่งไม่ใช่คนเดิมที่ขาย พยายามหาเลนส์ที่ผมต้องการจริงๆ ให้ ปรากฏว่าผมพบเลนส์ที่ผมต้องการจริงๆ ราคา 107 บาท ซึ่งเดิมผมซื้อมา 60 บาทเท่านั้น ทำให้ผมต้องเพิ่มเงินไปอีกนิดหน่อย เลนส์ตาก็ 60 บาทเช่นกัน ผมนึกในใจยังโชคดีที่เขาให้เราเปลี่ยน ก็เอามาใส่ OK ครับ ใช้ได้เลย

เลนส์ที่ผมได้มาครั้งแรกมี Bar code ที่ถุงอย่างชัดเจนพร้อมกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งบอกรายละเอียดเอาไว้ว่า เป็นเลนส์ 7.5 cm ความยาวโฟกัส 100 ผมลองดูถาดอื่นที่ใส่เลนส์ไว้เต็มไปหมด ปรากฏว่าเจอเลนส์รูปร่างเหมือนกับถูกที่เขียนว่าโฟกัส 100 ทุกอย่าง แต่บอกที่ถุงว่า F40 อย่างนี้สรุปได้ไหมครับว่า ป้ายบอกคุณสมบัติของเลนส์สับสน ผมเล่าประสบการณ์ให้ฟังเผื่อว่าจะมีใครไปเจอเหตุการณ์แบบผมอีก

ผมมีเรื่องรบกวนอยู่นิดหนึ่งว่า จะทำอย่างไรดีให้กำลังขยายของกล้องมากกว่า 40 เท่า

ขอบคุณมากครับ
จำรูญ จันทร์กุญชร

thaiastro

ขอบคุณในเรื่องของคุณจำรูญมากครับ เป็นประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ อีกหลายคนทีเดียว ตามเรื่องที่คุณเล่าเรื่องมาน่าจะเป็นเพราะเขาติดป้ายเลนส์ผิดนี่เอง อาจจะเป็นความผิดพลาดในโรงงานหรือของร้านก็ไม่ทราบได้

เลนส์ระดับไม่กี่สิบบาทที่หาซื้อตามร้านอย่างนี้มักจะมีปัญหาทำนองนี้อยู่เสมอ นอกจากนี้ความยาวโฟกัสก็ไม่ค่อยคงที่ด้วย แต่ละตัวในลอตเดียวกันอาจต่างกันถึงเป็นสิบเซนติเมตรเลยทีเดียว เวลาซื้อเลนส์ก็อาจลองได้ง่าย ๆ ด้วยการรับภาพจากภาพแสงสว่างจ้า ๆ นอกร้านที่อยู่ไกล ๆ แล้วเอากระดาษมารับภาพข้างหลังเลนส์ ถ้าเลนส์ความยาวโฟกัส 100 ซม. ภาพก็จะตกอยู่ที่หลังเลนส์ประมาณเมตรเศษ ๆ อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้ ยิ่งถ้าเป็นเลนส์ความยาวโฟกัสสั้น ๆ ก็ลองง่ายขึ้น ใช้สะท้อนกับหลอดไฟภายในร้านเขาได้เลย

กล้องสูตรที่คุณทำเป็นสูตรยอดนิยม เพราะสอดคล้องกับเลนส์ที่มีจำหน่ายในบ้านเรา และกำลังขยายกำลังเหมาะ ตามวิธีหากำลังขยายของกล้อง การทำให้กล้องมีกำลังขยายมากขึ้นก็มีสองวิธีครับ ไม่เพิ่มความยาวโฟกัสของเลนส์วัตถุก็ลดความยาวโฟกัสของเลนส์ตา ขนาดกล้องก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ถ้าคุณชอบลองก็น่าจะไปซื้อเลนส์หลาย ๆ ขนาดมาเปลี่ยนดู สนุกดีครับ แต่การเพิ่มกำลังขยายกล้องอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป กำลังขยายขนาด 40 เท่าของคุณก็ถือว่าพอเพียงแล้วสำหรับเลนส์คุณภาพอย่างนี้ เพราะกำลังขยายมากเกินไปจะทำให้ภาพเป็นสีรุ้งมากขึ้น ความคมชัดลดลงมาก ถ้าต้องการกำลังขยายมาก ๆ จริง ๆ คุณต้องลงทุนซื้อเลนส์วัตถุที่มีคุณภาพสูง เช่นชนิดที่เป็นเลนส์ประกอบ (หลายชิ้นประกบกัน) หรือเลนส์ที่มีการเคลือบ ซึ่งราคาแพงมาก อย่างต่ำ ๆ ก็หลายพันบาท และที่แย่ก็คือไม่มีขายในเมืองไทย ต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศ ถ้าคุณไม่ขัดข้องเรื่องงบ ก็น่าลองครับ

สมัยที่ผมสร้างกล้องใช้เอง ก็ทำกล้องสูตรเดียวกับของคุณนี่แหละครับ สมัยนั้นเลนส์วัตถุ 50 บาท เลนส์ตา 40 บาท แล้วก็คิดจะเพิ่มกำลังขยายเหมือนกัน แต่ไม่มีสตางค์ มีวิธีหนึ่งที่ผมลองดูก็คือ เอาเลนส์ตา ( 2.5 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ซม.) สองตัว ขนาดเท่ากัน มาวางซ้อนชิด ๆ กัน เกือบแตะกัน ให้เสมือนเป็นเลนส์ตาตัวเดียว วิธีนี้ทำให้เลนส์คู่นี้มีโฟกัสสั้นลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นกล้องที่ทำก็จะมีกำลังขยายมากขึ้นเป็น 2 เท่ากลายเป็น 80 เท่า แถมยังได้มุมภาพที่กว้างขึ้นมาก คุ้มค่าครับ ลองทำดู

วิมุติ วสะหลาย