จดหมายถึง thaiastro

มิลินท์ (milin@mail.cscoms.com)

เรียนคุณวิมุติ
มีคำถามในบทเรียนถามถึงดาวเคราะห์ดวงที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ ในเฉลยบอกว่าเป็นดาวพุธ แต่เมื่อดูหนังสือเล่มอื่น ๆ ประกอบ บางเล่มให้ข้อมูลว่าเป็นดาวพลูโต บางเล่มก็ว่าดาวพุธ จริง ๆ แล้วเป็นดาวดวงไหนกันแน่ครับ
ขอขอบคุณมาล่วงหน้า

มิลินท์

thaiastro

ดาวพลูโตแน่นอนครับ ดาวพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,320 กิโลเมตร ส่วนดาวพุธมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4,878 กิโลเมตร เล็กกว่าตั้งสองเท่าทีเดียวครับ

หนังสือที่บอกว่าดาวพุธเล็กที่สุดนั้น อาจเป็นหนังสือที่เก่ามาก ซึ่งตีพิมพ์ก่อนที่จะมีการค้นพบดาวพลูโต หรืออีกกรณีหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เหมือนกันก็คือ เขาไม่ถือว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ โดยจัดให้ดาวพลูโตเป็นวัตถุวงแหวนไคเปอร์ (Kuiper belt object) แทน

วิมุติ วสะหลาย


สุวรรณ นาคเกษม (nakkasam@thaimail.com)

ดาวเหนือชื่อว่าอะไร? เราจะดูดาวพุธได้อย่างไร? ผมอยากจะเสนอให้ในเว็บไซต์ของทางสมาคมฯ มีการบอกตำแหน่งของเนบิวลาต่าง ๆ

สุวรรณ นาคเกษม

thaiastro

เรียนคุณสุวรรณ นาคเกษม
- ดาวเหนือมีชื่อว่าดาวเหนือนี่แหละครับในภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Polaris ครับ
- ดาวพุธ เราสามารถดูได้ด้วยการสังเกตจากตาเปล่าครับ สำหรับตำแหน่งในการดูนั้น ให้คุณสุวรรณดูได้จากหน้า "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" ในโฮมเพจของสมาคมนะครับ ที่ https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html แล้วเลือกหัวข้อท้องฟ้าเดือนที่ต้องการจะดูครับ สำหรับการสังเกตดาวพุธผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ แต่เห็นเป็นสีขาวธรรมดาครับ
- สำหรับตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ จะพยายามนำมาลงให้ครับ จะพยายามรวบรวมเป็น Catalog ครับ ขอบคุณมากที่กรุณาให้คำแนะนำครับ สวัสดีครับ

พรชัย


ครรไล สุจารีรัตน์ (klais@bkk1.asiaaccess.net.th)

เรียน คุณวิมุติ วสะหลาย
ผมไม่ได้เมลมาถามนานมากแล้ว ก็เลยขอเมลมาถามเรื่องหนึ่ง คือว่า โครงการนักดาราศาสตร์ในอนาคตรุ่นที่ 5 เมื่อไหร่ถึงจะจัด ผมกลัวว่า จะกลายเป็นโครงการนักดาราศาสตร์ชราภาพเสียก่อน เพราะเริ่มชราลง ทุกวัน ทุกวัน

ขอแสดงความนับถือ
ครรไล สุจารีรัตน์

thaiastro

โครงการชาวฟ้ารุ่น 5 จะจัดประมาณปลายปี 42 นี้ครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องอายุครับ ชาวฟ้าของสมาคมฯ มีหลากหลายวัยมาก วัยคุณปู่ก็มีมาแล้วหลายคน ไม่ต้องกังวลครับ

วิมุติ วสะหลาย


jettana yongstar (zobis@hotmail.com)

สวัสดีครับ คุณวิมุติ
ผมมีปัญหาอยากจะถามพี่เกี่ยวกับเรื่อง Y2K ครับ คือว่าผมมีโปรแกรม Skymap 3 ที่ใช้ดูแผนที่ดาว และโปรแกรม Lunar-Solar Eclipe ที่ใช้คำนวณการเกิดอุปราคา ซึ่งโปรแกรมประเภทนี้ต้องใช้ฟังก์ชันเวลาในการคำนวณด้วย ผมจึงอยากรู้ว่า โปรแกรมเหล่านี้มีปัญหาเรื่อง Y2K รึเปล่า และถ้ามีจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไครับ ขอบคุณครับ

jettana yongstar

thaiastro

ผมเคยใช้ Skymap อยู่บ้าง ไม่เคยสังเกตว่ามีปัญหาเกี่ยวกับปี 2000 แต่ก็ไม่ได้ใช้มันมานานแล้ว ดังนั้นจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าไม่มีปัญหาจริงๆ แต่เท่าที่ลองไปดูที่ www.skymap.com ซึ่งเดี๋ยวนี้โปรแกรมล่าสุดของเขาเรียกว่า Skymap Pro 5 หาข้อมูลเกี่ยวกับ Y2K ในนั้น ก็ไม่พบข้อมูลอะไรเลย เข้าใจว่าไม่ใช่สิ่งที่เขากังวล เพราะเขาต้องแสดงแผนที่ดาวเกินปี 2000 ได้อยู่แล้ว ถ้าสงสัยก็อาจลองเขียนไปถามเขาได้นะครับ

ส่วนโปรแกรมอีกตัวหนึ่งผมไม่เคยใช้ และไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนทำ เลยไม่มีที่ตรวจสอบ

วิษณุ


phornphitsanu saengnin (phornphitsanu@yahoo.com)

สวัสดีครับ
เข้าไปใน skypub มีเรื่อง BLUE MOON อ่านไม่เข้าใจ อยากถามว่าคืออะไร? เห็นในบ้านเราได้หรือเปล่า? ขอบคุณครับ

phornphitsanu saengnin

thaiastro

Blue Moon คือจันทร์เพ็ญครั้งที่สองในรอบเดือนครับ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในปีนี้เกิด Blue Moon สองครั้ง ยิ่งเกิดขึ้นยากเข้าไปอีก เนื่องจากเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ฝรั่งจึงมีสำนวนว่า Once in the blue moon มีฝรั่งไม่มากนักหรอกครับที่รู้ที่มาของสำนวนนี้

เนื่องจากมันเป็นแค่จันทร์เพ็ญธรรมดา จึงมองเห็นจากเมืองไทยแน่นอนครับ ซึ่ง Blue Moon ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมานี้ เกิดจันทรุปราคาเงามัวด้วยครับ

วิมุติ วสะหลาย


sauwakon wattano (dome111@thaimail.com)

สวัสดีครับ
เนื่องจากกระผมมีข้อสงสัยว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาและอุปราคาเกิดขึ้นอย่างไร และเดือนจันทรคติกับดาราคติต่างกันอย่างไร กระผมจึงใคร่ขอทราบรายละเอียดกับเรื่องดังกล่าว จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านทราบ

sauwakon wattano

thaiastro

อุปราคาก็คือปรากฏการณ์ที่มีการบังกันของวัตถุท้องฟ้าครับ เช่นโลกบังดวงจันทร์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ทำให้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นต้น เรื่องจันทรุปราคาอ่านเพิ่มเติมได้จากหน้า "จันทรุปราคา" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/leclipse.html) ครับ

เดือนจันทรคติกับเดือนดาราคติต่างกันตรงที่ตำแหน่งอ้างอิงครับ

เดือนดาราคติ คือระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกหนึ่งรอบ โดยใช้ตำแหน่งดาวฤกษ์เป็นจุดอ้างอิง (เช่นระยะเวลาตั้งแต่ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง จนถึงกลับมาบังดาวดวงเดิมอีกครั้งหนึ่ง)

เดือนจันทรคติ คือระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกหนึ่งรอบ โดยใช้ข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์เป็นจุดอ้างอิง (เช่นระยะเวลาตั้งแต่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี จนถึงดวงจันทร์เต็มดวงพอดีอีกครั้งหนึ่ง)

เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เดือนทั้งสองชนิดจึงมีคาบต่างกัน โดยเดือนจันทรคติมีความยาวประมาณ 29 วัน 12 ชั่วโมง 44 นาที ส่วนเดือนดาราคติมีความยาวประมาณ 27 วัน 7 ชั่วโมง 43 นาทีครับ

วิมุติ วสะหลาย