จดหมายถึง thaiastro

Chakkrit Jaiman (chakkrit@thai.com)

ผมเป็นสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยเลขที่ ส. 41/044 ตั้งแต่สมัครสามาชิกมาเมื่อมกราคมปีนี้ เพิ่งจะได้รับ วารสารทางช้างเผือกเพียงฉบับเดียวเท่านั้นคือ ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2541 ไม่ทราบว่าฉบับอื่นไปไหนหมด
อีกเรื่องก็คือไม่เห็นได้รับทราบข่าวคราวใด ๆ เกี่ยวกับการจัดดาราศาสตร์สัญจรเลย ทำให้ไม่เคยได้ร่วมงานสักครั้งเดียว

thaiastro

ฉบับอื่นไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ แต่ยังไม่ออกเลยจนถึงบัดนี้ ผมก็รอมานานแล้วเหมือนกัน คงใกล้ออกเต็มทนแล้วล่ะครับ ส่วนในเรื่องของกิจกรรมต่าง ๆ เช่นดาราศาสตร์สัญจรนั้น หากแจ้งทางวารสารไม่ทันเช่นในช่วงนี้ สมาคมจะส่งจดหมายแจ้งไปให้สมาชิกที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล หากคุณอยู่ในพื้นที่นี้แล้วยังไม่เคยได้รับข่าวสารเลย กรุณาส่งชื่อที่อยู่มาให้ผมอีกทีครับ ผมจะแจ้งไปที่สมาคมให้ตรวจสอบให้ หรืออาจแจ้งไปโดยตรงที่ thaiastro@inet.co.th ก็ได้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


(mmafclp@email.egat.or.th)

หลุมดำมีแรงดึงดูดมหาศาลจริงมั๊ยคะ?

thaiastro

จริงนะสิครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่หน้าปทานุกรมครับ
(ชอบครับ โจทย์สั้น ๆ)

วิมุติ วสะหลาย


Chris Cox (ccox@crl.co.uk)

I've found your E-Mail addresses on the English-language version of the Thai Astronomical Society web page. I would be very grateful if one of you can help me with the following question.
I'm planning to visit Thailand in November, and hope to observe the Leonid meteor shower. I will probably stay in Bangkok, but may also travel further north.
Are you planning to organise a special event or star party for the Leonids on 17-18 November? If you are, can you tell me any more information, for example:
- Where will it be held?
- Will it be open to non-members?
I would be interested in coming to any suitable event that you are organising, and I look forward to hearing from you.

Best regards,
Christopher Cox

thaiastro

Yes, we are planning a star party for Leonids, but the event date will probably fall on the weekend just before the peak day. However, some of our members may stay on to observe during peak period. The trip's destination has not been decided yet.
Our star parties are open to non-members.
Please do not hesitate to contact us in advance of your visit to Thailand. Thank you for your interest in our society.

Visanu E.


Metha Assabumrungrat (s1067264@kmitl.ac.th)

เรียนคุณพรชัย
ได้มีโอกาสเข้าไปชม web ของสมาคมดาราศาสตร์โฉมใหม่ ดูสวยทีเดียวครับ แต่บังเอิญอ่านข้อมูลดาวเคราะห์แล้ว เข้าใจว่าคาบการหมุนของโลกคงจะลง หน่วยไว้ผิดครับ จากชั่วโมงเป็นวัน และตกคำว่านาทีไปในส่วน 56 นาที หวังว่าคงได้มีโอกาสพบกันในช่วงดาราศาตร์สัญจร ไม่ทราบว่าช่วงที่มีฝนดาวตก สมาคมจะจัดทริปไปที่ไหน?

thaiastro

เรียนคุณเมธา
ขอบคุณมากครับสำหรับคำติชม และกำลังใจต่าง ๆ ที่มีให้นะครับ จะพยายามปรับปรุงเพื่อความถูกต้องเสมอ ๆ ครับ หากมีที่ไหนผิดก็ส่งมาบอกได้เลยนะครับ สำหรับที่ผิด ผมได้ส่งต่ออีเมลล์บอกคุณวิมุติ (คนเขียนโฮมเพจหน้านั้น) แล้วครับ
สำหรับฝนดาวตกเดือนพฤศจิกายนนี้สมาคม มีโปรแกรมจัดกิจกรรมไปดูฝนดาวตกที่มกุฏคีรีวันครับ รายละเอียดโปรดติดตามได้ในเว็บไซท์เร็วๆนี้ครับ
ขอบคุณมากครับที่ให้การติดตาม

พรชัย อมรศรีจิรทร


Porn Vichibunchong (pornthep@cht.canon.co.th)

เรียน คุณวิมุติ
ผมได้อ่านจากที่คุณตอบจดหมายของคุณกนกพร คุณวิมุติได้แนะนำให้หาซื้อ หนังสือ "หลักการดูดาวขั้นต้น" ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร ผมมีความสนใจเหมือนกันก็เลยอยากจะถามว่า ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยมีขายไหม ครับ? ถ้าไม่มีจะหาซื้อได้ที่ไหน ครับ? และราคาเล่มสักเท่าไร?
ขอรบกวนเท่านี้นะครับ โปรดตอบกลับมาทาง E-Mail ด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ
พรเทพ วิจิตรบรรจง

thaiastro

หนังสือเล่มนี้ที่สมาคมไม่มีขายครับ ถ้าคุณพรเทพอยู่ในกรุงเทพ คิดว่าคงหาซื้อได้ไม่ยาก ผมเห็นอยู่บ่อย ๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ ทั่วไป ราคาผมจำไม่ได้ครับ น่าจะประมาณร้อยกว่า ๆ

วิมุติ วสะหลาย


พรพิษณุ แสงนิล (phornphitsanu@thaimail.com)

เมื่อกลางเดือนที่แล้วพี่ผมซื้อ Meade ETX มาฝาก แต่ยังไม่ได้ส่องมากนัก มีแต่เมฆเต็มท้องฟ้า กล้องมีปัญหา กลับซ้าย-ขวา จะมีวิธีแก้อย่างไรได้บ้างครับ?

พรพิษณุ แสงนิล

thaiastro

กล้องโทรทรรศน์ให้ภาพกลับหัว เป็นคุณสมบัติโดยทั่วไปของมันอยู่แล้วครับ คุณสามารถทำให้เป็นภาพหัวตั้งได้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า diagonal mirror มาต่อก่อนเลนส์ตา แต่หน้าที่หลักของอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ใช่การกลับภาพหรอกครับ มันถูกสร้างมาเพื่อให้นักดูดาวดูได้สะดวกขึ้นมากกว่า เช่น ในกรณีที่ส่องดูวัตถุบริเวณเหนือศีรษระ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้จะดูลำบากและเมื่อยมาก
การดูภาพวัตถุท้องฟ้านั้น นักดูดาวมักไม่ค่อยถือสาในเรื่องภาพกลับหัวกลับหางสักเท่าไร เพราะในอวกาศไม่มีบน ไม่มีล่าง ไม่มีตะวันออก ไม่มีตะวันตก จึงยินดีที่จะดูภาพกลับหัว นอกจากนี้ การทำให้ภาพเป็นหัวตั้งจะต้องเพิ่มชิ้นกระจกหรือเลนส์ ซึ่งเป็นการลดทอนคุณภาพของภาพโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

วิมุติ วสะหลาย


Kanlai Sujareerat (klais@asiaaccess.net.th)

สวัสดีครับ
วันนี้ ผมมีคำถามอยากจะถามคุณ ดังต่อไปนี้ครับ

1. ในงานวิทยาศาสตร์ที่จัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ไปร่วมจัดงานด้วย เห็นมีบอร์ดติดประกาศว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม 2541 นี้ จะมีโครงการสอนสร้างกล้องดูดาวแบบง่าย อยากทราบว่า รายละเอียดเป็นเป็นอย่างไรบ้างครับ? ต้องสมัครอย่างไร? เมื่อใด? และเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง? และถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ฯ จะเข้าร่วมอบรมด้วยได้หรือไม่? คือผมจะให้น้องชายไปร่วมอบรมด้วย และ ยังมีอีกประกาศหนึ่งบอกว่า มีโครงการสอนเพื่อ เป็นนักดาราศาสตร์ในอนาคต อยากทราบว่า รายละเอียดเป็นอย่างไร จะจัดโครงการนี้เมื่อใด ต้องสมัครอย่างไรบ้าง โครงการนี้ผมอยากจะไปเรียนด้วย

2. เว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยช่วงนี้เข้าไม่ค่อยได้เลย เป็นที่ผมหรือเป็นที่ตัวเว็บไซต์เองครับ

3. ผมอยากทราบว่า การที่จะคำนวณว่าดาวดวงนั้นดวงนี้ กาแล็กซีนั้น เนบิวลานู้น มีขนาดเท่าใด มีระยะห่างจากโลกเท่าใด มีแสงสว่างเท่ากับเท่าใด และเมื่อใดจะเกิดสุริยุปราคา เกิดที่ไหน วันที่ และเวลาใด เขาคำนวณกันอย่างไร
ข้อ 3. นี้ ค้างคาใจผมมานานมาก หรือ จะค้นคว้าจากหนังสือใดได้บ้าง

4. ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะใช้กล้องถ่ายภาพติด กับกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 9.25 นิ้ว เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ และเนบิวลา ช่วยให้คำแนะนำหน่อยครับว่า จะต้องเตรียมการอย่างไร ตั้งกล้องอย่างไร และ เปิดหน้ากล้องอย่างไร นานเท่าใด และใช้ฟิล์มความเร็วเท่าใด และอื่น ๆ ที่ควรจะต้องกระทำในการถ่ายภาพ ผมขอรบกวนถามคำถามเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ และ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบครับ

ขอแสดงความนับถือ
ครรไล สุจารีรัตน์

thaiastro

1. ) เรื่องอบรมกล้องดูดาวอย่างง่ายนั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ครับ คาดว่าคุณคงได้รับข่าวสารจากสมาคม ฯ แล้ว เป็นการอบรมวันเดียว 8.30-16.00 น. ที่ชั้น 2 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถ.สุขุมวิท จะมีการสอนเรื่องของกล้องดูดาวแบบต่าง ๆ ก่อน แล้วก็ลงมือสร้างกล้องเอง กลับบ้านพร้อมกล้องที่สร้างด้วยมือตัวเองหนึ่งอัน หลักฐานการสมัครไม่ต้องมีอะไรหรอกครับ ไม่ใช่สมัครเข้าโรงเรียนสักหน่อย ค่าสมัคร 1,650 บาท สำหรับสมาชิก ไม่ใช่สมาชิก 1,750 บาท โทรติดต่อสมาคม ฯ โดยด่วนครับ

ส่วนโครงการนักดาราศาสตร์ในอนาคตนั้น มีจัดทุกปีครับ ปีละรุ่น รุ่นถัดคือรุ่นที่ 5 ไปคาดว่าจะจัดในปลาย ๆ ปี หรืออาจจะเลื่อนไปถึงต้นปีหน้า วันที่ยังไม่ได้กำหนดแน่นอนครับ โครงการนี้เป็นการอบรมที่เข้มข้นกว่าการบรรยายหรือทัวร์ดูดาวทั่ว ๆ ไป มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ อบรมในวันเสาร์-อาทิตย์ ติดกัน 3 - 4 สัปดาห์ รวมทั้งภาคปฏิบัติคือการออกไปนอกสถานที่ตั้งกล้องดูดาวดูฟ้าจริงด้วย (เข้มไหมหล่ะ?) เมื่อสมาคมกำหนดวันเวลาที่จัดแล้ว จะแจ้งให้สมาชิกทราบอีกที รวมทั้งแจ้งทางโฮมเพจของสมาคมฯ ด้วยครับ ขอแนะนำให้สมัครสมาชิกสมาคม ฯ โดยด่วน

2.) เว็บไซต์ของสมาคมเพิ่งไปชุบตัวมาใหม่เมื่อเดือนก่อน จึงหายหน้าไปหลายวัน ตอนนี้คาดว่าทำงานได้ราบรื่นดีแล้วครับ หากคุณพบปัญหาติดขัดเกี่ยวกับโฮมเพจโปรดแจ้งโดยด่วนครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูง

3.) ข้อนี้ถามละเอียดดีเหลือเกิน บางข้อย่อยผมต้องไปถามนักดาราศาสตร์ตัวจริง ที่ผมตอบช้าก็เพราะคำถามข้อนี้แหละครับ
- การวัดระยะห่างของวัตถุนั้นมีหลายวิธีครับ ถ้าเป็นวัตถุใกล้ ๆ ภายในระยะไม่กี่ร้อยปีแสง จะใช้วิธีพาราแล็กซ์ คือจะคำนวณจากตำแหน่งที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับฉากหลังของวัตถุนั้น เมื่อสังเกตจากตำแหน่งที่ต่างกัน หากไกลกว่านั้นการใช้พาราแล็กซ์จะคลาดเคลื่อนมากขึ้น ต้องใช้วิธีอื่น เช่น คำนวณจากความสว่างของดาวแปรแสงชนิด RR Lyra หรือซูเปอร์โนวาบางชนิด ถ้าเป็นวัตถุไกลมาก ๆ อาจใช้วิธีประมาณเอาจากค่าเรดชิฟต์ของวัตถุนั้น หรือใช้วิธีประหลาดที่เรียกว่า ทรูลี-ฟิชเชอร์
- ส่วนขนาดนั้น ไม่ยาก เมื่อรู้ระยะห่าง รู้ขนาดปรากฏที่เห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์แล้ว ก็คำนวณหาด้วยหลักตรีโกณมิติธรรมดา
- การวัดความสว่างจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า โฟโตมิเตอร์ ครับ
- การพยากรณ์สุริยุปราคาคิดจากการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โดยละเอียดนั้น เป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก แม้แต่นักดาราศาสตร์ก็ใช่ว่าจะคำนวณได้ทุกคน ต้องเรียนมาเฉพาะด้านการคำนวณเกี่ยวกับวงโคจรของดาวจริง ๆ ถ้าคุณต้องการทราบเพียงว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด คุณอาจจะใช้ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับดาราศาสตร์ซึ่งมีอยู่มากมายหาให้ก็ได้ครับ มีความแม่นยำมาก

4.) เรื่องสำคัญในการถ่ายภาพดาวที่ต้องบอกก่อนเลยก็คือ เรื่องของการตั้งฐานตั้งกล้อง คุณเป็นเจ้าของกล้องตัวนี้มานานนับปีแล้ว คิดว่าคงจะเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ควรตระหนักว่า การตั้งกล้องเพื่อการถ่ายภาพนั้น ต้องการความแม่นยำมากกว่าการตั้งกล้องเพียงเพื่อดูดาวอย่างเดียวมาก ขอให้คุณครรไลใส่ใจกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ การตั้งฐานตั้งกล้องอาจใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงถือเป็นเรื่องปกติ

เรื่องฟิล์มนั้นดูเหมือนว่า คุณพรชัยเคยตอบคุณครรไลไปแล้วไม่ใช่หรือครับ ฟิล์ม ISO 800 ที่หาซื้อยาก ๆ นั่นแหละครับ ฮิตที่สุด ถ้าถ่ายเนบิวลาต้องใช้ฟิล์มความไวสูง ๆ อย่างนี้ครับ

การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น มีรายละเอียดหยุมหยิมมาก และที่สำคัญก็คือ มักไม่มีกฏเกณฑ์ที่แน่นอน ผมจึงไม่สามารถให้คำตอบอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จได้ มีหลายต่อหลายอย่างที่คุณจะต้องศึกษาเอาจากการลองผิดลองถูก โดยเฉพาะเรื่องของเวลาในการเปิดหน้ากล้อง บางครั้งการถ่ายภาพวัตถุดวงเดียวกันโดยใช้เวลาเปิดหน้ากล้องต่างกันมาก ๆ เช่น 5 นาที กับครึ่งชั่วโมง จะให้ผลที่ต่างกันมากแต่สวยทั้งคู่ ดีทั้งคู่ เป็นความสวยคนละแบบ ดังคุณจะสังเกตว่า ในแวดวงถ่ายภาพดาราศาสตร์ แทบจะไม่มีคำว่า "โอเวอร์" หรือ "อันเดอร์" เลย ไม่มีใครเขาบอกได้หรอกครับว่า ถ่ายภาพเนบิวลานี้ต้องใช้เลนส์เท่านี้เปิดชัตเตอร์นานเท่านี้ เพราะฉะนั้น จงค้นหานิยามของคำว่า "สวย" และ "ดี" ของคุณด้วยตัวคุณเอง

คุณควรมีสมุดสำหรับจดบันทึกรายละเอียดของการปรับตั้งต่าง ๆ ในการถ่ายภาพแต่ละใบ เพื่อสำหรับการวิเคราะห์และปรับปรุงในครั้งถัดไป

อย่าหวังอะไรมากนักกับผลงานสองสามม้วนแรก เวลาไปซื้อฟิล์มมาถ่ายดาว ให้ซื้อแห้วกระป๋องมาเผื่อด้วย มีโอกาสได้กินแน่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพดาวคนหนึ่งแนะนำไว้

หวังว่าจะได้เห็นภาพถ่ายท้องฟ้าของคุณในหน้า "ห้องภาพท้องฟ้า" ในโฮมเพจสมาคม ฯ เร็ว ๆ นี้

วิมุติ วสะหลาย


ชิดชนก สินเจริญชัย (u0739088@su.ac.th)

ไม่ทราบว่าพอจะมีบทความเกี่ยวกับเรื่องดวงจันทร์หรือเปล่าคะ? เคยมีการทดลองไหมว่าดวงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญมีผลต่อสภาพจิตใจของมนุษย์อย่างไรบ้าง?
แล้ววิธีวัดระดับน้ำขึ้น-น้ำลง วัดอย่างไรคะ? ถ้ามีบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือใกล้เคียงกับเรื่องนี้ ช่วยติดต่อกลับมาด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ชิดชนก

thaiastro

เรียน คุณชิดชนก
ในวารสารทางช้างเผือกเคยลงบทความเกี่ยวกับดวงจันทร์มาบ้างครับ หากคุณชิดชนกไม่ใช่สมาชิกสมาคม ฯ ก็ลองดูสารบัญเล่มเก่า ๆ ที่หน้า "วารสารทางช้างเผือก" (https://thaiastro.nectec.or.th/mlky/mlkyjnl.html) ดูครับ บางบทความในนั้นก็มีการคัดมาลงในโฮมเพจของสมาคม ฯ ด้วย

มีหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ "Atlas of the Moon " Antonin Rukl, Thomas W. Reckham. เป็นหนังสือที่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับหลุมบ่อภูเขาอย่างละเอียดยิบ ถ้าคุณสนใจเรื่องนี้รับรองว่าไม่ผิดหวัง วารสาร Astronomy ฉบับประมาณ 2-3 ปีก่อน ก็มีบทความเกี่ยวกับการสังเกตดวงจันทร์อย่างละเอียดมาลงอยู่หลายฉบับติด ๆ กัน นับสิบฉบับทีเดียว โฮมเพจของวารสารนี้อยู่ที่ http://www.kalmbach.com/astro/astronomy.html

เรื่องการวัดระดับน้ำขึ้น-น้ำลงนั้น ฟังจากนักดาราศาสตร์แล้ว เป็นวิธีธรรมดาอย่างคาดไม่ถึง จะวัดกับน้ำในแม่น้ำแล้วเอาไม้มีขีดระดับไปวัดนั่นแหละครับ

พฤติกรรมประหลาด ๆ ของคนและสัตว์ต่าง ๆ ในวันพระจันทร์เต็มดวงนั้น มักได้ยินอยู่เสมอ ๆ มักจะเป็นเรื่องจากฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ เพราะฝรั่งไม่ค่อยจะชอบดวงจันทร์ ในสมัยก่อนเชื่อว่าดวงจันทร์เต็มดวงจะทำให้คนมีอาการบ้า ๆ บอ ๆ จนเป็นที่มาของคำว่า Lunatic ที่หมายถึงป้ำ ๆ เป๋อ ๆ นั่นเอง สำหรับผมเองก็เคยสังเกตเห็นเหมือนกันว่า ในคืนเดือนเพ็ญบางคืน แมลงสาบในสวนหลังบ้านมักจะออกมายั้วเยี้ยมากผิดปกติ แต่ก็มีบางครั้งที่ออกมายั้วเยี้ยโดยที่ไม่ใช่คืนเดือนเพ็ญเหมือนกัน จะว่าเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงก็ไม่ใช่แน่ เพราะดวงจันทร์วันเพ็ญก็ไม่ได้มีแรงดึงดูดมากขึ้นจากวันพระจันทร์เสี้ยวแต่อย่างใด จะว่าเป็นผลจากแรงน้ำขึ้นน้ำลงก็ไม่ใช่อีก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์แปลก ๆ ที่ว่าก็จะต้องเกิดขึ้นในวันจันทร์ดับด้วย
เรื่องนี้ยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Arun Wiriyokhun (iori@thaimail.com)

รู้สึกยินดีมากครับผม ที่มีแหล่งความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์เป็นภาษาของเราเอง ทำให้ผมไม่ต้องดิ้นรน ไปหาจากเว็บต่างประเทศ ยังไงฉบับนี้ขอรบกวนหน่อยนะครับ มีคำถามอยู่นิดหน่อยที่จะใคร่ขอความกรุณาช่วยตอบให้ด้วยนะครับ
1) ในการอบรมการสร้างกล้องดูดาวที่ทางสมาคมจัดขึ้นนั้นผมจะได้กล้องที่ทำเองกลับมาใช่ไหมครับ? และกล้องนั้นมีกำลังขยายเท่าไหร่? ใช้เลนส์แบบไหนครับ?
2) ผมพอจะหาเลนส์ที่ดีสำหรับกล้องดูดาวที่ไหนได้บ้างครับ?
ขอรบกวนแค่นี้นะครับ
ขอบคุณครับ

นักศึกษาพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

thaiastro

1. ใช่ครับ ผู้เข้าอบรมจะได้กล้อง "ทำมือ" กลับบ้านไปคนละหนึ่งอันเลย กำลังขยายของกล้องนั้นคือ 32 เท่าครับ
2. เลนส์ทั่วไปหาซื้อได้ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์หรือที่ร้านวิทยาภัณฑ์ ผมรู้จักแค่สองแห่ง ตามร้านขายแว่นตาบางแห่งก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเลนส์ดี ๆ เช่นเลนส์ประกอบมีการเคลือบสารที่ดีหลายชั้น แต่ก่อนนี้มีผู้นำเข้ามาเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินอีกเลยครับ คงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้ว โฆษณาในวารสาร S&T, Astronomy หรือเว็บไซต์ของวารสารเหล่านี้มีโฆษณาขายเลนส์อยู่หลายเจ้าครับ

ผมก็ศิษย์เก่า สจพ. เหมือนกันครับ
วิมุติ วสะหลาย


Adhisabandh Chulakadabba (A.Chulakadabba@soton.ac.uk)

Dear Sir,
I am currently staying in England but will be back to Thailand next year. I've just found your address from the website of Thai Astronomical Society. I am a keen amateur and would like to know more about the society. Unfortunately, I do not have the software that can convert the text on Webpage to Thai. I wonder whether you will be kindly give me a rough idea of how I can participate in the society activities. I would be very grateful if you could reply me via an email.

Many thanks for your help.
Adhisabandh Chulakadabba

thaiastro

Dear sir,
TAS homepage has an english version too. You can see a small link in the Thai page, below the graphic title, that points to the English page. You can also access directly via https://thaiastro.nectec.or.th/eng/index.html. The english content is much less than those in Thai page, but it has all you migh currently want to know.

Regards,
Wimut Wasalai.


Wallop (khun1@cscoms.com)

สวัสดีครับ
ผมได้ติดตามเว็บไซต์นี้ ผมชอบมากเลยครับ มีคำถามดังนี้
1. มีวิธีหรือไม่ที่จะทำให้เอกภพหยุดขยายตัวและหดตัวลง?
2. จากข้อ 1 จะมีผลกระทบอะไรแก่โลกหรือไม่?
3. ส่งข้อมูลเรื่องดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะมาให้ด้วยครับ ภายใน 15 ตุลาคมนะครับ อยากรู้จริงๆ

ด.ช.วสุท พรพัชรพงศ์

thaiastro

1. ไม่มีทางครับ เอกภพขยายตัวด้วยแรงที่เหลือจากการระเบิดบิ๊กแบง ถ้าเอกภพของเราเป็นแบบปิด มันจะขยายตัวจนถึงระดับหนึ่งและจะหยุดตัวครู่หนึ่ง หลังจากนั้นก็จะหดตัวครับ จนถึงปัจจุบันนี้นักดาราศาสตร์ก็ยังเถียงกันไม่จบสิ้นว่า เอกภพของเราจะหยุดขยายตัวและหดกลับมาหรือไม่

2. น้องวสุทกังวลเรื่องอะไรหรือครับ? หากกลัวว่าเมื่ออวกาศหดลงแล้วดวงดาวต่าง ๆ จะมาอยู่ใกล้กันจนชนกันแหลกหรือเราจะถูกดวงอาทิตย์เผาจนหลอมละลายนั้น ขอให้หมดห่วงได้ครับ เพราะกว่าจะถึงวันนั้นยังจะต้องกินเวลาอีกหลายหมื่นหรือหลายแสนล้านปี ซึ่งถึงป่านนั้นดวงอาทิตย์ดับไปนานแล้วครับ ทั้งคนทั้งโลกก็ไม่น่าจะเหลือแล้วด้วย

แต่เรื่องน่าตื่นเต้นที่จะเกิดขึ้นถ้าเอกภพหดตัวลงก็คือ เวลามันจะย้อนถอยหลังด้วย ทั้งนี้เนื่องจากตามทฤษฎีสัมพัทธภาพกล่าวว่าอวกาศและเวลามีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ได้เป็นอิสระต่อกัน เพราะฉะนั้น หากเอกภพหดตัว เราจะตายก่อนเกิด น้ำจะไหลย้อนกลับ ทุกสิ่งทุกอย่างจะย้อนกลับหมด สุดแสนจะเหลือเชื่อเลยใช่ไหม เหมือนกับดูหนังแบบถอยหลังเลย น้องวสุทจะอยู่รอพิสูจน์ไหมครับ?

3. ถ้าหมายถึงดาวเคราะห์ต่าง ๆ แล้วละก้อ ลองดูที่หน้า "ข้อมูลระบบสุริยะ (ดาวเคราะห์)" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/planets.html) ก่อนครับ ไม่ทราบว่าถูกใจหรือเปล่า มีข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับขนาด มวล และวงโคจรต่าง ๆ ส่วนรายละเอียดด้านอื่น เช่น องค์ประกอบ การค้นพบ เทพนิยาย จะทยอยตามออกมาครับ

ขอบคุณครับที่ติดตามอยู่เสมอ
วิมุติ วสะหลาย


Kanlai Sujareerat (klais@asiaaccess.net.th)

เรียน คุณวิมุติ วสะหลาย
ผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางคุณกรุณาให้คำตอบไขข้อข้องใจที่มีอยู่ และ เมื่อมีปัญหาอะไร จะมาถามอีกนะครับ

ขอแสดงความนับถือ
ครรไล สุจารีรัตน์

หมายเหตุ : เว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยนี้ มีประโยชน์อย่างมาก และพัฒนาได้ดีขึ้นมากตามลำดับ เป็นรายละเอียดในสิ่งที่ทุกคนอยากทราบในแต่ละเดือน ทำให้ได้ความรู้และข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งผมได้กระจายข่าวข้อมูลนี้ไปสู่เพื่อน ๆ ต่อไปด้วย รวมทั้งแนะนำให้เพื่อน ๆ เข้ามาที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ ด้วย

thaiastro

หากคุณครรไลดูที่หน้า "จดหมายถึง thaiastro" จะเห็นเลยว่า คุณเป็นแฟนประจำที่เหนียวแน่นที่สุด หนึ่งในทีมงานเคยอ่านหน้าจดหมายนี้แล้วยังเอ่ยว่า "ตาครรไลนี่ท่าทางจะเอาจริงแฮะ"

สำหรับคนทำคนเขียนอย่างผมแล้ว คงไม่มีอะไรน่าชื่นใจไปกว่าการที่เขียนแล้วมีคนอ่าน คอยติดตาม ซ้ำยังเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้อีกด้วย ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

วิมุติ วสะหลาย