สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รู้จักดาวพฤหัสบดี เรียกน้ำย่อยก่อนถึงยุคจูโน

รู้จักดาวพฤหัสบดี เรียกน้ำย่อยก่อนถึงยุคจูโน

5 กรกฎาคม 2559 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 9 สิงหาคม 2565
วันนี้ (5 กรกฎาคม) เป็นวันที่สองแล้วที่ยานจูโนของนาซาเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยานจะปรับทิศทางเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ดวงนี้ หลังจากนั้นก็จะเริ่มสำรวจจากวงโคจรเป็นเวลาสองปี ก่อนที่จูโนจะเริ่มภารกิจ เรามารู้จักและทบทวนกันหน่อยดีไหม ว่าดาวพฤหัสบดีนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลก 11 เท่า หนักกว่าโลก 317 เท่า! จริง ๆ แล้วดาวพฤหัสบดีดวงเดียว มีมวลมากกว่าดาวเคราะห์อีก ดวงที่เหลือรวมกันเสียอีก

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์แก๊ส หมายความว่า ตัวดวงที่เห็นใหญ่โตมโหฬารนั้น ไม่มีพื้นผิวแข็งให้เหยียบ เพราะเป็นแก๊สเกือบทั้งดวง

อย่าคิดว่ามีแต่ดาวเสาร์เท่านั้นที่มีวงแหวน ดาวพฤหัสบดีก็มีวงแหวนด้วย แต่องค์ประกอบของวงแหวนดาวพฤหัสบดีเป็นฝุ่นเล็กจิ๋ว ต่างจากวงแหวนของดาวเสาร์ที่ประกอบด้วยหิน

ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 67 ดวง มากที่สุดในระบบสุริยะ

ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี คือแกนิมีด เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต

ดวงจันทร์ ดวงหลักของดาวพฤหัสบดีได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และแคลลิสโต ทั้งสี่ดวงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยกาลิเลโอ จึงมีชื่อเรียกว่า ดวงจันทร์กาลิเลโอ

องค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวพฤหัสบดีประกอบด้วยไฮโดรเจนเป็นหลัก รองลงมาคือฮีเลียม

แม้จะมีขนาดใหญ่โต แต่ดาวพฤหัสบดีมีความหนาแน่นต่ำกว่าโลกมาก มีความหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 1.3 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น

ดาวพฤหัสบดี (จาก NASA)
ดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเองเร็วมาก รอบหนึ่งใช้เวลาเพียง ชั่วโมง 55 นาที ด้วยเหตุนี้ทำให้ดาวพฤหัสบดีมีลักษณะแป้นเหมือนผลส้ม

วันพฤหัสสีส้ม ดาวพฤหัสบดีก็สีส้มเหมือนกัน สีส้มอมน้ำตาลบนดาวพฤหัสบดีเกิดจากสารจำพวกฟอสฟอรัส กำมะถัน และไฮโดรคาร์บอนบางชนิดปะปนกัน

จุดแดงใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีนั้น ถูกพบเห็นมาตั้งแต่ยุคของกาลิเลโอแล้ว เป็นตาพายุที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึงสามเท่า แต่ปัจจุบันพบว่าจุดนี้เล็กลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังมีลักษณะกลมมากขึ้น และสีก็ส้มเข้มมากขึ้นอีกด้วย

แก๊สภายในดาวพฤหัสบดีมีความดันสูงมากจนถึงกับทำให้ไฮโดรเจนอยู่ในสภาพโลหะได้

ยามค่ำคืน เรามองเห็นดาวพฤหัสบดีได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ดาวพฤหัสบดีในช่วงที่สว่างที่สุด จะสว่างกว่าดาวซิริอัสหรือดาวโจรที่เป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเสียอีก

ช่วงเดือนนี้ (กรกฎาคม) เรามองเห็นดาวพฤหัสบดีอย่างง่ายดายในช่วงหัวค่ำ ตลอดทั้งเดือนนี้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ก่อนจะย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในปลายเดือน

ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ ดาวพฤหัสบดีจะหลบไปอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงมองไม่เห็นในช่วงเวลาดังกล่าว หลังกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจึงจะเห็นดาวพฤหัสบดีได้อีกครั้ง แต่ต้องดูช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก

จูโนไม่ใช่ยานลำแรกที่ไปสำรวจดาวพฤหัสบดี มียานก่อนหน้านี้ถึงเจ็ดลำที่ไปสำรวจดาวพฤหัสบดีมาแล้ว เจ็ดลำเป็นการสำรวจแบบเฉียดผ่าน ได้แก่ ไพโอเนียร์ 10, ไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, แคสซีนี, ยูลีสซีส และนิวเฮอไรซอนส์ อีกหนึ่งลำเป็นยานโคจรรอบ คือ ยานกาลิเลโอ

ดาวพฤหัสบดีมีแสงเหนือและแสงใต้ด้วยนะ

ดาวพฤหัสบดีเคยถูกดาวหางพุ่งชนมาแล้ว ครั้งที่บันทึกได้เป็นหลักฐานเกิดขึ้นในปี 2537 โดยถูกดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี ที่แตกออกเป็นหลายสิบชิ้นพุ่งชนจนดาวพฤหัสบดีพรุนไปทั้งแถบ

เอาเป็นว่าเรียกน้ำย่อยกันเพียงเท่านี้ก่อน น่าจะพอจินตนาการได้บ้างแล้วว่าดาวพฤหัสบดีนั้นมหัศจรรย์เพียงใด เชื่อว่าอีกสองปีจากนี้ ข้อมูลจากยานจูโนจะช่วยเผยความเร้นลับของพี่ใหญ่แห่งระบบสุริยะดวงนี้ได้อีกมาก