สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ยานไฮเกนส์ลงสำรวจไททัน

15 มกราคม 2548 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 26 ธันวาคม 2559
คืนก่อนวันคริสต์มาสที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ขององค์การนาซามีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเขาเฝ้ารอมานาน นั่นก็คือการปล่อยยานไฮเกนส์แยกตัวออกจากยานแคสซีนีเพื่อเดินทางไปยังไททัน ดาวบริวารของดาวเสาร์ซึ่งเป็นดาวบริวารที่น่าสนใจมากที่สุดดวงหนึ่งของระบบสุริยะ

การแยกตัว


ยานไฮเกนส์ขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา เป็นยานลูกที่เดินทางไปกับยานแคสซีนีขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ยานทั้งสองออกจากโลกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์เมื่อวันที่ กรกฎาคม ปีกลาย ชื่อยานทั้งสองลำมาจากชื่อนักดาราศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มีบทบาทในการศึกษาดาวเสาร์และดาวบริวาร วันที่ 16 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการบินของนาซาได้สั่งให้ยานจุดไอพ่นเป็นเวลานาน 84.9 วินาที เพื่อปรับวงโคจรให้ยานแคสซีนี-ไฮเกนส์ มีทิศทางมุ่งไปสู่ไททัน ดาวบริวารขนาดใหญ่ของดาวเสาร์

ภาพวาดยานไฮเกนส์ขณะเข้าสู่บรรยากาศชั้นนอกของไททัน การเสียดสีลดความเร็วของยานลงจาก 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหลือ 1,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง นาที คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นที่ด้านปะทะจะมีอุณหภูมิสูงถึง 12,000 องศาเซลเซียส ขณะที่เกราะกันความร้อนของยานไฮเกนส์จะมีอุณหภูมิสูงถึง 1,800 องศาเซลเซียส (ภาพโดย ESA/D. Ducros) 

ภาพวาดยานไฮเกนส์ที่เดินทางไปกับยานแคสซีนี ยานลำนี้จะเข้าสู่บรรยากาศของไททันและลงจอดบนพื้นผิวในวันที่ 14 มกราคม 2548 (ภาพโดย ESA) 

วันที่ 24 ธันวาคม เวลา 22.08 น. ตามเวลาเขตตะวันออกของสหรัฐฯ ระบบปล่อยบนยานแคสซีนีได้ดันยานไฮเกนส์ออกจากช่องเก็บ และบังคับให้ยานซึ่งมีรูปทรงเหมือนจานประกบกันหมุนรอบตัวเองด้วยคาบ รอบต่อนาที เพื่อเป็นการทำให้ยานไฮเกนส์มีเสถียรภาพขณะแยกตัวออกจากยานแม่ การแยกตัวของยานไฮเกนส์ ถือเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงมาก เพราะระบบปล่อยยานจะทำงานด้วยการจุดระเบิด กระนั้นการปล่อยยานก็ดำเนินไปได้ด้วยดีตามโปรแกรมที่วางไว้ ยานไฮเกนส์จะใช้เวลาเดินทางในอวกาศนาน สัปดาห์ ก่อนที่จะไปถึงไททันในเช้ามืดของวันที่ 14 มกราคม ตามเวลาในสหรัฐฯ หรือตรงกับเย็นวันเดียวกันตามเวลาไทย

เข้าสู่บรรยากาศ


หลังการแยกตัว ทั้งยานแคสซีนีและยานไฮเกนส์ได้เดินทางไปตามเส้นทางมุ่งตรงสู่ไททัน แน่นอนว่าได้มีการปรับวงโคจรของยานแคสซีนีอีกครั้งเพื่อเบนหนีออกจากแนวการชน ซึ่งมีขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม

หากทุกอย่างดำเนินไปตามแผน วันศุกร์ที่ 14 มกราคม ยานไฮเกนส์จะเริ่มเข้าสู่บรรยากาศของไททันที่ระดับความสูง 1,270 กิโลเมตร ในเวลา 17.13 น. ตามเวลาไทย ขณะยานมีอัตราเร็ว 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ภาพสีที่ใกล้เคียงสีธรรมชาติของไททัน การที่เราไม่เห็นพื้นผิวของไททันเป็นเพราะไททันมีบรรยากาศอันหนาทึบปกคลุม ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2547 ขณะที่ยานแคสซีนีอยู่ห่างประมาณ ล้านกิโลเมตร (ภาพโดย JPL/NASA) 

ขณะร่อนลงในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยไฮโดรคาร์บอน ยานจะกางร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็ว อุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์จะทำงานตลอด ชั่วโมงครึ่งของการเดินทางในบรรยากาศและส่งข้อมูลองค์ประกอบ โครงสร้าง อุณหภูมิ ความดัน ความเร็วลม และภาพถ่ายมากกว่า 1,000 ภาพ ไปยังยานแคสซีนีที่อยู่ห่างออกไป 60,000 กิโลเมตรในอวกาศ เพื่อเก็บแล้วส่งต่อมายังสถานีรับสัญญาณบนพื้นโลกในภายหลัง

ก่อนที่ยานไฮเกนส์จะลงไปถึงพื้นผิวของไททัน ยานจำเป็นต้องรอดพ้นจากการเดินทางฝ่าบรรยากาศด้วยความเร็วสูงมาก ในช่วงแรกการเสียดสีกับบรรยากาศจะทำให้ยานมีอัตราเร็วลดลงเหลือ 1,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ร่มนำร่องจะดึงฝาด้านบนของยานออก จากนั้นร่มหลักขนาด 27 ฟุตจะกางออก และถูกสลัดออกในช่วง 15 นาทีหลังจากเริ่มเข้าสู่บรรยากาศ

ถึงพื้น


เมื่อสลัดร่มขนาดใหญ่ออกแล้ว ยานไฮเกนส์จะค่อยๆ ดิ่งลงขณะยังติดอยู่กับร่มชูชีพขนาด 9.8 ฟุต คาดว่ายานจะลงถึงพื้นผิวของไททันในเวลา 19.31 น. ด้วยอัตราเร็ว 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หากยานไฮเกนส์น้ำหนัก 319 กิโลกรัม ไม่บังเอิญตกลงไปในมหาสมุทรไฮโดรคาร์บอน นักวิทยาศาสตร์ของอีซาหวังว่าด้วยอัตราเร็วของการลงจอดที่ต่ำระดับนี้ ยานไฮเกนส์ควรจะยังคงสามารถทำงานอยู่ได้หลังจากลงแตะพื้นดิน และส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังยานแคสซีนีที่โคจรอยู่ข้างบน แผนการบินเดิมได้วางให้ยานไฮเกนส์เข้าสู่บรรยากาศของไททันในปลายเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ยานแคสซีนีโคจรผ่านที่ระดับความสูงเพียง 1,201 กิโลเมตร แต่วิศวกรของโครงการได้วิเคราะห์พบว่าแผนเดิมนี้จะทำให้อัตราเร็วสัมพัทธ์ระหว่างยานทั้งสองลำสูงเกินไป ยากแก่การส่งสัญญาณวิทยุระหว่างกัน จึงมีการชะลอให้ช้าลงเป็นกลางเดือนมกราคม

หลังจากยานไฮเกนส์ลงแตะพื้นผิวของไททันเรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าที่ข้อมูลต่างๆ จะผ่านการประมวลผลและเดินทางมาถึงโลกผ่านทางสายอากาศของยานแคสซีนี โดยมีเครือข่ายดีปสเปซของนาซาและศูนย์ปฎิบัติการของอีซาในเยอรมนีทำหน้าที่รับข้อมูล ซึ่งอาจล่วงเลยไปถึงวันที่ 15 มกราคม กว่าที่เจ้าหน้าที่โครงการจะทราบว่ายานไฮเกนส์ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ทำไมต้องไททัน?


ไททันเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดาวพุธ และเป็นดาวบริวารดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีบรรยากาศปกคลุมหนาแน่น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีฝนของไฮโดรคาร์บอนตกลงสู่พื้น ทำให้เกิดแม่น้ำและมหาสมุทรไฮโดรคาร์บอนบนพื้นดินที่เย็นยะเยือกด้วยอุณหภูมิ -179 องศาเซลเซียสของไททัน

ยานแคสซีนีได้ผ่านใกล้ไททันเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งภาพถ่ายและข้อมูลเรดาร์กลับมายังโลก ซึ่งแสดงให้เห็นภูมิประเทศที่แปลกตา มีพื้นผิวที่มืดและสว่าง ไม่พบหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงว่ามีกระบวนการทางธรณีวิทยาบางอย่างที่ทำให้พื้นผิวของไททันมีการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งดวง แต่ทว่ายังไม่พบหลักฐานที่หนักแน่นมารองรับสมมุติฐานที่ว่าอาจมีแอ่งของอีเทนเหลวหรือสารคล้ายกันดังที่นักวิทยาศาสตร์คาดหมายไว้

นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกำลังเฝ้ารอและใคร่รู้ว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่ใต้เมฆหมอกและบรรยากาศที่หนาแน่นนั้น พื้นผิวของไททันเป็นเช่นไร ประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของไททันเป็นมาอย่างไร จิ๊กซอว์อันหนึ่งของความเข้าใจในระบบสุริยะของเรากำลังจะถูกเปิดเผย

กำหนดการโดยย่อ


14 มกราคม 2548
14.33 น. ยานแคสซีนีเริ่มเตรียมพร้อมในการบันทึกและถ่ายทอดสัญญาณ
14.57 น. เปิดเครื่องรับสัญญาณจากยานไฮเกนส์
15.09 น. ยานแคสซีนีเริ่มหันหน้าไปทางไททัน
15.24 น. ยานแคสซีนีปิดเครื่อข่ายเชื่อมโยงลงในแถบความถี่เอกซ์ (X-band downlink)
16.51 น. ยานไฮเกนส์เปิดเครื่องส่งสัญญาณ (โหมดกำลังต่ำ)
17.13 น. ยานไฮเกนส์สัมผัสบรรยากาศของไททันที่ระดับความสูง 1,270 กิโลเมตร
17.16 น. ยานไฮเกนส์โดนแรงต้านในบรรยากาศด้วยความหน่วงสูงสุด
17.17 น. ร่มนำร่องกางออกที่ระดับความสูง 171-190 กิโลเมตร ยานลดความเร็วลงเหลือ 1,440 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระดับความสูง 180 กิโลเมตร ร่มนำร่องมีขนาด 8.9 ฟุต ใช้ในการเปิดฝาด้านบนของยานออก เมื่อปลดร่มนำร่องแล้ว ร่มหลักขนาด 27.2 ฟุตกางออก
17.18 น. ที่ระดับความสูง 159 กิโลเมตร เกราะด้านหน้าของยานเริ่มปกป้องยาน ซึ่งเป็นเวลา 42 วินาทีหลังจากร่มนำร่องถูกกาง ท่อบรรจุอุปกรณ์ตรวจวัดโครงสร้างในบรรยากาศเปิดออก กล้องถ่ายภาพทำการถ่ายภาพมุมกว้างเป็นครั้งแรก จากนั้นจะถ่ายภาพและเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ตลอดการร่อนลง เมื่อปลดร่มนำร่องแล้ว ร่มหลักขนาด 27.2 ฟุตจึงกางออก
17.32 น. ร่มหลักถูกปลด จากนั้นร่มขนาด 9.8 ฟุตที่ใช้ชะลอความเร็วกางออก ขณะนี้ยานอยู่ที่ระดับความสูง 126 กิโลเมตร
17.49 น. เครื่องคำนวณความสูงเริ่มทำงาน ที่ระดับความสูง 60 กิโลเมตร ยานจะวัดอัตราการหมุนและระดับความสูงอย่างละเอียด
17.56 น. ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ ยานอาจเริ่มมีน้ำแข็งเกาะ (ระดับความสูง 50 กิโลเมตร)
17.57 น. อุปกรณ์วัดองค์ประกอบทางเคมีในบรรยากาศเป็นอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายเริ่มทำงาน คาดว่ายานไฮเกนส์จะอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน 137 นาที (+/- 15 นาที) ตลอดการร่อนลง ยานจะหมุนไปรอบๆ ด้วยอัตรา 1-20 รอบต่อนาที เพื่อสามารถถ่ายภาพและเก็บข้อมูลได้จากทุกทิศทาง

การเดินทางของยานไฮเกนส์ในบรรยากาศของไททัน (ภาพโดย Scott Wallace, The Christian Science Monitor) 

19.19 น. ยานแคสซีนีเข้าใกล้ไททันมากที่สุดด้วยระยะห่าง 60,000 กิโลเมตร ขณะมีอัตราเร็ว 19,441 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
19.30 น. ไฟฉายที่ติดไปกับกล้องถ่ายภาพและมาตรรังสีสเปกตรัมเปิดออก ขณะนี้ยานอยู่ใกล้กับพื้นผิว แสงไฟจะช่วยให้มาตรรังสีสเปกตรัมสามารถวัดองค์ประกอบบนพื้นผิวของไททันได้อย่างละเอียด
19.34 น. ยานไฮเกนส์ลงแตะพื้นผิวของดาวบริวารไททัน (เวลาอาจคลาดเคลื่อนราว 15 นาที ขึ้นอยู่กับกระแสลมและสภาวะในบรรยากาศที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของยาน) ด้วยอัตราเร็ว 18-22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยานอาจลงบนพื้นดินแข็ง ก้อนหิน หรือน้ำแข็ง รวมทั้งแม่น้ำของอีเทน ไม่ว่าจะในกรณีใด อุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานถูกออกแบบให้เก็บข้อมูลทุกๆ อย่างบนพื้นผิว ตลอดช่วง นาทีที่ยานอาจยังคงทำงานอยู่ได้หลังจากลงจอด
21.44 น. ยานแคสซีนียุติการรับข้อมูลที่ส่งมาจากยานไฮเกนส์ เป็นเวลาที่ยานไฮเกนส์อยู่นอกพิสัยการมองเห็นของยานแคสซีนี ก่อนหน้านี้ ยานแคสซีนีจะยังคงพยายามฟังสัญญาณจากไฮเกนส์จนกว่าสัญญาณจะหายไป
21.46 น. ยานแคสซีนีปิดผนึกป้องกันการเขียนทับกับข้อมูลที่ได้จากยานไฮเกนส์
21.54 น. ยานแคสซีนีหันสายอากาศมายังโลก
22.07 น. การค้นหาสัญญาณหลังการลงจอดของไฮเกนส์เริ่มต้นที่แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย
22.14 น. ข้อมูลแรกจากยานไฮเกนส์ที่ส่งผ่านมาทางยานแคสซีนีเดินทางถึงโลกและดำเนินต่อไป กระบวนการเพิ่มเติมในการป้องกันการสูญหายของข้อมูลเริ่มขึ้น สายอากาศวิทยุขนาดยักษ์รอบโลกเฝ้ารับสัญญาณจากยานแคสซีนี

รายงานล่าสุด


15 มกราคม 2548 03.43 น.
ภาพต่อมาแสดงให้เห็นภูมิประเทศของไททันหลังจากที่ยานไฮเกนส์ลงจอด มีก้อนน้ำแข็งจำนวนหนึ่งเรียงรายอยู่ในบริเวณลงจอด


15 มกราคม 2548 02.56 น.
บนจอของศูนย์ควบคุมภารกิจแสดงให้เห็นพื้นผิวของไททันจากระดับความสูง 16 กิโลเมตร นับเป็นภาพแรกจากยานไฮเกนส์ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามันดูเหมือนทางน้ำที่ไหลไปยังฝั่งทะเล

 15 มกราคม 2548 00.45 น.
หลังจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ของโครงการจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการคัดเลือกและปะติดปะต่อภาพถ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน คาดว่าภาพถ่ายมุมกว้างของพื้นผิวไททันและข้อมูลจากยานไฮเกนส์น่าจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ในช่วงตี ถึง โมงเช้า ตามเวลาในไทย

 15 มกราคม 2548 00.01 น.
อุณหภูมิภายในยานไฮเกนส์อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสขณะผ่านระดับความสูง 50 กิโลเมตร

 14 มกราคม 2548 23.58 น.
เจ้าหน้าที่รายงานจากข้อมูลที่ส่งเข้ามาว่ายานไฮเกนส์ผ่านช่วงของการเข้าบรรยากาศโดยร่มชูชีพกางออกภายใน 15 วินาที จากเวลาที่วางไว้ มาตรวัดความเร่งบนยานทำงานเป็นปกติ



 14 มกราคม 2548 23.45 น.
เนื้อหาบางส่วนจากถ้อยแถลงของอัลคาเทลสเปซ

ยานไฮเกนส์ได้ไปถึงไททันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยานลำนี้สร้างขึ้นโดยผู้รับเหมาหลักคือ อัลคาเทลสเปซ สาขาของอัลคาเทล สถาบันซึ่งประกอบด้วยบริษัทและห้องปฏิบัติการ 40 แห่ง อัลคาเทลสเปซเป็นบริษัทแรกในยุโรปที่สามารถต่อสู้กับความท้าทายในการออกแบบสร้างยานอวกาศให้สามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่โหดร้าย นี่เป็นครั้งแรกที่วัตถุจากฝีมือมนุษย์สามารถร่อนลงจอดบนดาวบริวารของดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลโพ้น และเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศจากยุโรปประสบความสำเร็จในการลงจอด

การเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ของยานแคสซีนี/ไฮเกนส์ ใช้เวลา ปี โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์ โลก และดาวพฤหัสบดี เหวี่ยงยานไปยังดาวเสาร์ ยานไฮเกนส์ยืนหยัดผ่านสภาพแวดล้อมรอบดาวศุกร์ที่อุณหภูมิ 212 องศาฟาเรนไฮน์ และเดินทางผ่านแถบดาวเคราะห์น้อย วงแหวนของดาวเสาร์ อย่างไรก็ตามความท้าทายถึงจุดสูงสุดเมื่อยานไฮเกนส์ลงสู่พื้นดินของไททัน ซึ่งเป็นเวลาถึง สัปดาห์ หลังจากแยกตัวออกจากยานแคสซีนี ยานชะลอความเร็วลงในบรรยากาศชั้นบนของไททันด้วยกระบวนการทางอุณหพลศาสตร์ จากนั้นกางร่มชูชีพเพื่อควบคุมการร่อนลง และลงจอดบนพื้นผิวของไททัน ยานไฮเกนส์เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ อย่าง

ในระหว่างนี้ ยานแคสซีนีที่โคจรอยู่รอบดาวเสาร์กำลังส่งข้อมูลจากยานไฮเกนส์มายังโลก โครงการแคสซีนี/ไฮเกนส์ ได้ผ่านพ้นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง และสามารถเรียนรู้ในหัวข้อต่อไปนี้

 ข้อจำกัดด้านน้ำหนักและพลังงานที่ทำให้ต้องเดินทางโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงจากดาวศุกร์ โลก และดาวพฤหัสบดี
 การปฏิบัติการโดยอัตโนมัติ
 การแยกตัวของยานไฮเกนส์ออกจากยานแคสซีนีโดยมีความแม่นยำสูง
 เกราะกันความร้อนที่ทำให้ยานสามารถเดินทางผ่านบรรยากาศของไททันได้
 การกางร่มชูชีพขณะที่ยานพุ่งลงด้วยความเร็วเหนือเสียง
 ความทนทานและแข็งแกร่งของยานที่ทำให้สามารถทำงานอยู่ได้ในสภาพอากาศที่เลวร้ายของไททัน

14 มกราคม 2548 23.35 น.
ยานไฮเกนส์ลงจอดบนดาวบริวารไททันของดาวเสาร์เป็นที่เรียบร้อย นับเป็นการลงจอดของยานอวกาศจากโลกบนดินแดนที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา การบรรยายสรุปต่อสื่อมวลชนกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

14 มกราคม 2548 23.19 น.
เสียงตะโกนโห่ร้องและเสียงปรบมือดังขึ้นกึกก้องในศูนย์ควบคุมภารกิจ ข้อมูลบางส่วนได้ส่งมาถึงแล้ว

 14 มกราคม 2548 22.30 น.
เสียงปรบมือแสดงความดีใจดังขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ในศูนย์ปฏิบัติการที่เยอรมนี ข้อมูลที่ได้แสดงว่าเครื่องรับสัญญาณบนยานแคสซีนีทำงานตามแผนที่วางไว้ในขณะที่ยานไฮเกนส์เริ่มเข้าสู่บรรยากาศของไททัน

 14 มกราคม 2548 22.00 น.
วิศวกรที่ห้องปฎิบัติการขับดันไอพ่น (เจพีแอล) ของนาซากล่าวว่าข้อมูลจากยานไฮเกนส์จะส่งถึงที่นั้นเป็นที่แรก จากนั้นจะส่งต่อไปยังศูนย์ปฏิบัติการของอีซาในเยอรมนี ที่ที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรหลายร้อยคนกำลังเฝ้ารอข่าวจากยานไฮเกนส์

 14 มกราคม 2548 21.10 น.
นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการให้ความเห็นว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกบนยานจะทำการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของยานไฮเกนส์ หากยานตกลงบนแม่น้ำก็จะสามารถตรวจพบการสั่นไหวเป็นลูกคลื่นของยานได้

 14 มกราคม 2548 20.35 น.
ผู้ควบคุมภารกิจรายงานว่ายานไฮเกนส์ลงจอดในเวลาระหว่าง 13.45-13.46 น. ของเวลาท้องถิ่นในเยอรมนี หรือตรงกับเวลา 19.45-19.46 ตามเวลาประเทศไทย ยานยังคงส่งสัญญาณออกมาอย่างต่อเนื่อง

 14 มกราคม 2548 20.20 น.
ผู้จัดการภารกิจขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) แถลงว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุบนพื้นโลก ได้รับสัญญาณจากยานไฮเกนส์ตลอด ชั่วโมงที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในหอดูดาว แห่งที่พยายามสังเกตไททันในช่วงที่ยานไฮเกนส์เข้าสู่บรรยากาศไม่พบสัญญาณของลูกไฟที่เกิดจากการเสียดสีของยานกับบรรยากาศของไททัน โดยกล้องหนึ่งอยู่ในที่ๆ สภาวะอากาศเลวร้าย ขณะที่อีก แห่งตรวจไม่พบ สัญญาณวิทยุจากยานแคสซีนีจะมาถึงโลกในเวลาประมาณ 22.21 น. ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกๆ อาจได้รับในเวลาประมาณ 23.15 น.

 14 มกราคม 2548 18.15 น.
ยานไฮเกนส์ควรจะยังคงร่อนลงในบรรยากาศของไททันโดยยึดติดอยู่กับร่มชูชีพ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลจากไฮเกนส์ส่งมาถึงโลก เนื่องจากยานไฮเกนส์จะส่งข้อมูลต่างๆ ไปที่ยานแคสซีนีเป็นอันดับแรก องค์การนาซาจะเปิดแถลงข่าวในเวลา 19.30 น.

 14 มกราคม 2548 17.33 น.
เครือข่ายดีปสเปซขององค์การนาซาได้รับสัญญาณอ่อน ๆ จากยานไฮเกนส์ ยืนยันว่าขณะนี้ยานฝ่าผ่านบรรยากาศที่หนาแน่นของไททันและยังคงทำงานอยู่ขณะร่อนลง

แปลและเรียบเรียงจาก: SpaceflightNow.com, Space.com

ดูเพิ่ม
 บทความ ยานแคสซีนี-ไฮเกนส์เข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ (4/8/2547)
 ยานแคสซีนีมุ่งหน้าสู่ดาวเสาร์ (16/11/2540)
 พบปัญหาบนยานแคสซีนี (10/2543)
 แผนการสำรวจใหม่ของแคสซีนี (16/7/2544)
 ดาวเสาร์หมุนช้าลง? (18/8/2547)
 ความคืบหน้าจากแคสซีนี (18/11/2547)
 ไฮเกนส์เผยความลับไททัน (25/1/2548)
 ทะเลสาบบนไททัน... ยังไม่แน่ (15/6/2548)
 เผยโฉมไฮเพียเรียน (13/10/2548)
 วัดขนาดก้อนหินบนไททันจากสัญญาณวิทยุ (31/7/2549)
 ทะเลสาบแห่งใหม่บนไททัน (19/4/2550)
 พบมหาสมุทรแห่งใหม่บนไททัน อยู่ใต้ดิน (22/4/2551)
 ดวงจันทร์ชนกันในวงแหวนดาวเสาร์ (3/7/2551)

เว็บไซต์อื่น


 Cassini-Huygens NASA/JPL
 Cassini-Huygens ESA