สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับอะพอลโล 11

เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับอะพอลโล 11

14 มิถุนายน 2562 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 พฤษภาคม 2565
ภารกิจอะพอลโล 11 เป็นเหตุการณ์ทางเทคโนโลยีที่น่าจะนับได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 และยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยการนำมนุษย์ไปเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ยานอะพอลโล 11 ขึ้นจากแท่นปล่อยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2512 เพื่อนำมนุษย์สามคนไปดวงจันทร์ ลูกเรือทั้งสามได้แก่ นีล อาร์มสตรองบัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ยานใช้เวลาสามวันจึงไปถึงดวงจันทร์ หลังจากเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว ยานได้ปล่อยยานลงจอดหรือลูนาร์โมดูลลงมาจอดที่ทะเลแห่งความเงียบ นีล อาร์มสตรอง เป็นคนแรกที่ก้าวออกมาและประทับรอยเท้าแรกของมนุษยชาติลงบนดวงจันทร์ หลังจากที่ใช้เวลาเกือบหนึ่งวันเต็มบนดวงจันทร์ ทั้งสองก็กลับขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อกับโมดูลสั่งการที่โคจรรอบดวงจันทร์อยู่ ก่อนที่จะมุ่งหน้ากลับสู่โลก ยานอะพอลโลกลับมาถึงโลกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม และลูกเรือทั้งสามก็กลับออกมาอย่างปลอดภัยเยี่ยงวีรบุรุษ 

นั่นคือสิ่งที่ทุกคนรับรู้และร่วมภาคภูมิ แต่เบื้องหลังภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน 

ปีนี้ พ.ศ. 2562 เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของภารกิจอะพอลโล 11 ขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับภารกิจอะพอลโลมาเล่าขานกัน 

 บุคคลสำคัญที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาจรวดให้แก่สหรัฐอเมริกาจนพิชิตดวงจันทร์ได้ เป็นอดีตศัตรูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ชาวเยอรมันชื่อ เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ วิศวกรผู้ที่พัฒนาขีปนาวุธ วี ให้ฮิตเลอร์ 

เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ (จาก britannica.com)

 จรวดที่นำยานอะพอลโลไปยังดวงจันทร์คือ จรวดแซตเทิร์น เป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังมีสถิติการปฏิบัติภารกิจดีเยี่ยม ในการขึ้นสู่ท้องฟ้า 13 ครั้ง ประสบความสำเร็จทั้ง 13 ครั้ง (มีข้อผิดพลาดบางอย่างในภารกิจอะพอลโล 6)

จรวดแซตเทิร์น ขณะนำยานอะพอลโลไปดวงจันทร์ (จาก NASA)

 ตำแหน่งหนึ่งในโครงการอะพอลโลที่ไม่โดดเด่นแต่ว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ เจ้าหน้าที่พับร่ม ซึ่งมีหน้าที่พับร่มชูชีพแล้วยัดเข้าเข้าไปในยานเพื่อใช้กางขณะยานกลับสู่โลก คนที่มีฝีมือพอจะทำงานนี้ได้มีเพียงสามคนเท่านั้น หน้าที่นี้สำคัญมากเสียจนองค์การนาซาไม่อนุญาตให้สามคนนี้นั่งรถคันเดียวกัน เพื่อลดโอกาสความสูญเสียหากรถเกิดอุบัติเหตุ

 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบนำทางของยานอะพอลโล เขียนด้วยภาษาแอสเซมบลีทั้งหมด โปรแกรมในระบบนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "โค้ดของแฮมิลตัน" ตามชื่อของ มาร์กาแร็ต แฮมิลตัน ผู้อำนวยการภาควิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของเอ็มไอที และหัวหน้าผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้โครงการอะพอลโล ชื่อเรียกนี้มักพาให้เข้าใจผิดว่าแฮมิลตันเขียนโปรแกรมทั้งหมดเพียงคนเดียว แต่ในความเป็นจริง โปรแกรมที่ใช้ในภารกิจอะพอลโลมีคนเขียนโปรแกรมอยู่นับร้อยคน

มาร์กาเร็ต แฮมิลตัน กับกองโค้ดโปรแกรมในระบบนำทางของอะพอลโล 

 ในยุคของอะพอลโล ยังไม่มีชิปไมโครโพรเซสเซอร์ ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นแรกของโลก (Intel 4004) เกิดขึ้นหลังจากอะพอลโล 11 นานถึง 11 ปี คอมพิวเตอร์ในยานอะพอลโล เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ๆ ของโลกที่ใช้ไอซี สัญญาณนาฬิกาที่ใช้มีความถี่ เมกะเฮิรตซ์ คอมพิวเตอร์ในสมาร์ตโฟนทุกวันนี้มีความถี่สัญญาณนาฬิกาเร็วกว่านั้นราวหนึ่งพันเท่า! 

 ในปีที่ยานอะพอลโล 11 ไปดวงจันทร์ ผู้คนยังฟังเพลงจากเทปคาสเซตต์ คำนวณตัวเลขด้วยสไลด์รูล นาฬิกาแบบตัวเลขยังไม่มี ประเทศไทยยังอยู่ในยุคเผด็จการทหารและยังไม่มีโทรทัศน์สีใช้ สงครามเวียดนามยังคงดุเดือด  ลินุส โทรวัลด์ส ผู้ให้กำเนิดระบบปฏิบัติการลินุกซ์เพิ่งเกิด สรพงศ์ ชาตรี เพิ่งเข้าวงการแสดง

 มนุษย์อวกาศที่ออกไปเดินบนดวงจันทร์ ให้ความเห็นตรงกันว่า ฝุ่นดวงจันทร์มีกลิ่นคล้ายเขม่าดินปืน แม้ชุดที่มนุษย์อวกาศใส่ไปเดินบนดวงจันทร์จะปิดสนิท แต่เมื่อกลับเข้ามาในยานลูนาร์โมดูลและถอดชุดออก ก็จะมีโอกาสสัมผัสและสูดฝุ่นดวงจันทร์ที่เกาะติดชุดอวกาศเข้ามา นอกจากมีกลิ่นชวนพิศวงแล้วฝุ่นดวงจันทร์ยังทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงอีกด้วย

 ภารกิจอะพอลโล 11 เกือบจบลงด้วยโศกนาฏกรรม เมื่อลูกเรือคนหนึ่งเผลอทำให้เบรกเกอร์ในยานลูนาร์โมดูลแตกเสียหาย ซึ่งหากเบรกเกอร์ตัวนี้ไม่ทำงาน ยานก็จะกลับขึ้นไปหายานบริการไม่ได้ นักบินก็จะต้องติดอยู่บนดวงจันทร์จนตาย แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขได้โดยอาร์มสตรองใช้ปากกาแหย่เข้าไปในเบรกเกอร์แทน

ยานลูนาร์โมดูล ยานลงจอดของภารกิจอะพอลโลที่นำมนุษย์ลงไปเดินบนดวงจันทร์ (จาก NASA)

 หากคุณคิดว่าภารกิจการเหยียบดวงจันทร์ของอะพอลโล 11 เป็นเรื่องโกหก คุณก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนั้น ในการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักต่าง ๆ พบว่าชาวอเมริกันราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เชื่อเช่นกัน ในบางกลุ่มชาติพันธุ์เช่นชาวอเมริกันผิวดำ มีผู้ไม่เชื่อเกินครึ่ง ส่วนในรัสเซียนั้น สัดส่วนผู้ที่ไม่เชื่อมีมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์และบางสำนักตัวเลขผู้ที่ไม่เชื่อพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ในไทยเคยมีผู้ทำแบบสำรวจความเห็นในเว็บไซต์ pantip.com พบว่ามีผู้ไม่เชื่อราวหนึ่งในสี่ของผู้ออกความเห็น

 นีล อาร์มสตรอง ได้เป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ส่วน บัซ อัลดริน เป็นมนุษย์คนแรกที่ฉี่บนดวงจันทร์ แต่อัลดรินไม่ได้ทำวีรกรรมสีทองรดบนดินดวงจันทร์โดยตรง เขาปล่อยในชุดอวกาศซึ่งมีถุงเก็บอยู่ภายในขณะยังอยู่ในยานลูนาร์โมดูล

 ภารกิจอะพอลโล 11 มีการเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์กลับมาวิเคราะห์ และได้พบแร่ชนิดใหม่หลายชนิด หนึ่งในนั้นต่อมาได้ชื่อว่า อาร์มัลคอไลต์ (Armalcolite) ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลของลูกเรือทั้งสาม (Armstrong+Aldrin+Collins)
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_11

 ภาพมนุษย์บนดวงจันทร์ที่ถ่ายในภารกิจอะพอลโล 11 เกือบทั้งหมด เป็นภาพของ บัซ อัลดริน ส่วน นีล อาร์มสตรอง แทบไม่มีภาพตัวเองเลย เพราะเขาเป็นผู้ถือกล้อง

 เมื่อยานลูนาร์โมดูลลงจอดบนดวงจันทร์ ตามตารางของภารกิจ นักบินทั้งสอง (นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน) ต้องหลับในยานเป็นเวลา ชั่วโมงก่อนจึงค่อยออกจากยาน แต่ทั้งสองตื่นเต้นเกินกว่าจะหลับลง จึงขออนุญาตศูนย์ควบคุมภารกิจว่าขอออกมาก่อน ซึ่งก็ได้รับอนุญาต

 ก่อนที่นักบินทั้งสองจะออกมาจากยานลูนาร์โมดูล บัซ อัลดรินได้ประกอบพิธีศีลมหาสนิทภายในยาน โดยได้เตรียมขนมปังและเหล้าไวน์รุ่นพิเศษเพื่อการนี้มาด้วย ส่วนนีล อาร์มสตรองไม่ได้ร่วมพิธีด้วย เพียงแต่ดูเฉย ๆ 
ที่มา https://www.history.com/news/buzz-aldrin-communion-apollo-11-nasa

 ทางทำเนียบขาวได้เตรียมคำสดุดีและไว้อาลัยนักบินในภารกิจอะพอลโล 11 ไว้ให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันอ่านออกอากาศไว้แล้ว เพื่อใช้ในกรณีที่ภารกิจนี้ล้มเหลว สุนทรพจน์ดังกล่าวเริ่มต้นด้วยประโยคว่า "โชคชะตาได้ลิขิตให้ชายผู้ที่ไปสำรวจดวงจันทร์โดยสันติได้พักผ่อนอย่างสงบที่นั่น..."

 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่สหรัฐอเมริกาดำเนินโครงการอะพอลโล สหภาพโซเวียตก็มีเป้าหมายส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์เช่นเดียวกัน แต่จรวด เอ็น 1 ที่โซเวียตสร้างขึ้นเพื่อการส่งคนของตนเองไปดวงจันทร์ไม่เคยไปถึงดวงจันทร์ และสุดท้ายโครงการก็ยกเลิกไป

 รัสเซียพัฒนายานโซยุซเพื่อใช้ในการนำชาวรัสเซียไปดวงจันทร์ แม้โครงการไปดวงจันทร์จะล้มเลิกไป แต่ยานโซยุซยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน และได้ชื่อว่าเป็นยานอวกาศที่ปลอดภัยน่าเชื่อถือที่สุด

 การส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ เป็นวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคเนดี แต่วิสัยทัศน์นี้ได้กลายเป็นจริงในสมัยของเพื่อนรักเพื่อนแค้นของเคเนดี นั่นคือประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน

จอห์น เอฟ. เคเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  (จาก Wikimedia Commons)



 ประโยคอมตะที่ นีล อาร์มสตรอง กล่าวเมื่อประทับรอยเท้าแรกลงบนพื้นดวงจันทร์คือ "นี่คือก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" (That's one small step for man, one giant leap for mankind) แต่น่าแปลกที่เสียงที่คนบนโลกนับล้านที่ได้ยินผ่านการถ่ายทอดโทรทัศน์และวิทยุในวันนั้นคือ "That's one small step for man, one giant leap for mankind" ไม่มีเสียง อย่างไรก็ตาม นีล อาร์มสตรอง ยืนยันว่าตนได้เอ่ยเสียง ออกไปจริง นักภาษาศาสตร์ที่วิเคราะห์เสียงก็ยืนยันว่ามีเสียง อยู่จริง เคยมีการนำเอาคลิปเสียงนั้นไปให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถอดเสียงมาเป็นคำพูดเพื่อช่วยคนหูหนวก ก็พบว่าผลการถอดเสียงนั้นมีพยางค์ จริง ๆ แต่สัญญาณเสียงของพยางค์นั้นเลือนไปเพราะมีสัญญาณรบกวน

 คาดว่ามีผู้เฝ้าชมการถ่ายทอดสดการลงจอดของอะพอลโล 11 ทางโทรทัศน์มากถึงราว 600 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้น

 ยานอะพอลโล ซึ่งเป็นยานลำแรกของโครงการที่มีลูกเรือ ประสบความล้มเหลวและต้องจบด้วยโศกนาฏกรรม เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นในยานขณะที่นักบินอวกาศทั้งสามกำลังฝึกซ้อมอยู่ การที่ประตูเป็นแบบเปิดเข้าด้านใน ทำให้ความดันอากาศจากความร้อนจากภายในยานดันประตูไว้แน่นจนเปิดไม่ออก นักบินทั้งสามได้แก่ เวอร์จิล กริสซัม, เอ็ดเวิร์ด ไวต์ และ รอเจอร์ แชฟฟี ถูกไฟคลอกเสียชีวิตในยาน

 หนึ่งในสิ่งของที่นักบินอะพอลโล 11 นำขึ้นไปบนดวงจันทร์ด้วยคือ เศษไม้จากเครื่องบินชื่อ คิตตีฮอก ซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกที่สร้างโดยพี่น้องไรท์ 
ที่มา https://airandspace.si.edu/collection-objects/plaque-wright-brothers-1903-and-apollo-11-flights

 ยานลูนาร์โมดูลในโครงการอะพอลโลทุกลำที่ไปถึงดวงจันทร์ ถูกทิ้งไว้บนดวงจันทร์ ยกเว้นเพียงลำเดียว คือลูนาร์โมดูลของภารกิจอะพอลโล 10 ยานลำนี้ไม่มีหน้าที่จอดบนดวงจันทร์ แต่ถูกทิ้งไว้ในวงโคจร จึงเป็นไปได้ที่ปัจจุบันยานลูนาร์โมดูลลำนั้นยังคงโคจรอยู่ และล่าสุดก็มีข่าวว่าพบลูนาร์โมดูลของอะพอลโล 10 แล้ว

 จนถึงปัจจุบัน มีมนุษย์เพียง 12 คนเท่านั้นที่เคยไปเดินบนดวงจันทร์ ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง กับ บัซ อัลดริน (อะพอลโล 11), ชาร์ล คอนราด กับ แอลัน บีน (อะพอลโล 12), แอลัน เชปเพิร์ด กับ เอ็ดการ์ มิตเชล (อะพอลโล 14), เดวิด สก็อตต์ กับ เจมส์ เออร์วิน (อะพอลโล 15), จอห์น ยัง กับ ชาร์ล ดุก (อะพอลโล 16), ยูจีน เชอร์แนน กับ แฮร์ริสัน สมิตต์ (อะพอลโล 17)

 นีล อาร์มสตรอง ต้องเข้าควบคุมการลงจอดของยานลูนาร์โมดูลด้วยมือ เนื่องจากพื้นที่ที่ตั้งใจจะลงจอดตั้งแต่แรกมีกองหินระเกะระกะมากจนเป็นอันตรายต่อการลงจอด 

 หลังจากที่นักบินในภารกิจอะพอลโล 11 ทั้งสามกลับมายังโลก ต้องถูกกักตัวอยู่ในห้องกักกันโรคเป็นเวลานานถึง 21 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของทั้งสามมิได้ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งมีชีวิตที่อาจอยู่บนดวงจันทร์กลับมา

 ลูกเรือทั้งสามคนของอะพอลโล 11 ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อประกันชีวิต เขาจึงต้องหาหลักประกันให้แก่ครอบครัวด้วยการร่วมเซ็นชื่อลงในภาพถ่ายจำนวนมาก เพื่อให้ครอบครัวนำไปใช้ประมูลหารายได้หากเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตนเอง โชคดีที่ภารกิจดำเนินไปได้ด้วยดี และครอบครัวของของลูกเรือก็ไม่ต้องนำลายเซ็นออกประมูล แต่รูปถ่ายลายเซ็นเหล่านั้นก็ยังคงอยู่และถือเป็นของหายากที่มูลค่าในตลาดนักสะสมประมาณนับหมื่นดอลลาร์ต่อแผ่น

 ยานลูนาร์โมดูลของอะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้ก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมดถังไปเพียง 23 วินาทีเท่านั้น หากยานไม่สามารถลงจอดได้ภายในช่วงเวลาก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมด ยานจะยกเลิกการลงจอดโดยอัตโนมัตและจุดจรวดส่วนบนเพื่อนำนักบินกลับขึ้นไปหายานบริการ 

 อเมริกาส่งมนุษย์ไปเดินดวงจันทร์ได้ ครั้ง (อะพอลโล 11, 12, 14, 15, 16 และ 17) จึงมีธงชาติอเมริกา ผืนที่เคยนำไปปักบนดวงจันทร์ ในปี 2555 ยานลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ถ่ายภาพพื้นที่ลงจอดของทั้งหกภารกิจได้ การวิเคราะห์เงาในภาพแสดงว่า ธงยังปักอยู่ ผืนยกเว้นธงของภารกิจอะพอลโล 11 ซึ่งล้มลงตั้งแต่ที่ตอนที่ยานลูนาร์โมดูลขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว  อย่างไรก็ตาม ธงผืนที่เหลือก็คาดว่าคงมีสภาพไม่ดีนัก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสีสันและลวดลายน่าจะถูกรังสีกัดกร่อนจนซีดขาวไปนานแล้ว ส่วนเนื้อผ้าก็คงจะเปื่อยยุ่ยแทบจะร่วงโรยหมด

แอลัน เชปเพิร์ด กับธงชาติอเมริกัน (อะพอลโล 14)