สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ไมรา ดาวมหัศจรรย์

ไมรา ดาวมหัศจรรย์

10 กรกฎาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 24 กรกฎาคม 2565
มันมาแล้ว มันปรากฏตัวขึ้นจากความมืด มันกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มันคือ “โอไมครอน“

เห็นคำว่าโอไมครอนขึ้นมาอย่างนี้ อย่าเพิ่งขวัญผวา อย่าเพิ่งเอียน แล้วก็อย่าเพิ่งประสาทกิน เพราะเราไม่ได้หมายถึงสายพันธุ์ของคอโรนาไวรัส เรากำลังหมายถึงดาวฤกษ์ดวงหนึ่งชื่อ โอไมครอนซีตัส (Omicron Ceti)

ดาวโอไมครอนซีตัสมีชื่อสามัญแสนจะไพเราะว่า ดาวไมรา (Mira) แปลว่า มหัศจรรย์ (Mira Miracle) เหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้ ก็เพราะดาวดวงนี้มันมหัศจรรย์จริง ๆ 

แผนที่ฟ้า แสดงกลุ่มดาวซีตัสและกลุ่มดาวข้างเคียง  (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

ดาวไมราเป็นดาวแปรแสงดวงหนึ่ง ดาวแปรแสงหมายความว่าเป็นดาวที่มีความสว่างไม่คงที่ บนท้องฟ้ามีดาวแปรแสงอยู่มากมาย การแปรแสงของดาวฤกษ์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่นถูกวัตถุอื่นบัง ถูกดาวที่เป็นคู่กันมาบดบังไป หรืออาจเกิดจากภายใน เช่นดาวแผ่พลังงานออกมาไม่คงที่ นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวไมราแปรแสงจากการที่ตัวดาวมีการพองและยุบสลับกัน ช่วงที่ดาวยุบลง จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ร้อนขึ้น และสว่างขึ้น เมื่อถึงคราวที่ดาวขยายออก อุณหภูมิพื้นผิวก็จะลดลงจนทำให้เกิดไทเทเนียมออกไซด์ขึ้นในบรรยากาศชั้นบนของดาว ไทเทเนียมออกไซด์มีสมบัติทึบแสง จึงบดบังแสงดาวไป ความสว่างของดาวเมื่อมองจากภายนอกจึงลดลงอย่างมาก นักดาราศาสตร์เรียกดาวแปรแสงประเภทนี้ว่า ดาวแปรแสงเหตุกระเพื่อม 

ดาวไมรามีช่วงความส่องสว่างกว้างมาก ในช่วงที่สว่างที่สุด มีอันดับความสว่างถึง 2.0 ซึ่งสว่างกว่าเกือบเท่าดาวเหนือ และสว่างกว่าดาวเดเนโบลา (หางสิงห์) สว่างกว่าดาวไมซาร์ ส่วนช่วงที่จางที่สุดอันดับความสว่างของดาวไมราถอยรูดไปถึง 10.1 ซึ่งจางกว่าดาวที่จางที่สุดเท่าที่สายตามนุษย์จะมองเห็นได้ถึงกว่า 40 เท่า 

การที่ดาวดวงนี้มีย่านความสว่างครอบคลุมตั้งแต่ช่วงที่สว่างจนเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าไปจนถึงริบหรี่จนมองไม่เห็น ทำให้คนที่ดูดาวมองเห็นว่าดาวดวงนี้เดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย นอกจากนี้ยังมีคาบการแปรแสงยาวนานถึง 332 วัน หรือเกือบหนึ่งปี จึงไม่แปลกที่คนโบราณจะประหลาดใจกับพฤติกรรมของดาวดวงนี้จนต้องตั้งชื่อว่าเป็นดาวมหัศจรรย์

ชะตาของดาวไมรา

ดาวไมรามีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 300 ปีแสง ในสถานะทางวิวัฒนาการดาวฤกษ์ ดาวไมราจัดเป็นดาวยักษ์แดง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 330 เท่า คาดว่ามีอายุประมาณหกพันล้านปี 

พลังงานจากดาวไมราไม่ได้มาจากใจกลางแบบดาวฤกษ์ปกติ การหลอมไฮโดรเจนที่แกนกลางหยุดไปนานแล้ว ขณะนี้แกนของดาวไมราเต็มไปด้วยคาร์บอนและออกซิเจนซึ่งไม่มีกระบวนการหลอมนิวเคลียสอีกต่อไป กระบวนการหลอมนิวเคลียสได้ขยับมาเกิดขึ้นที่ระดับใกล้ผิวดาวมากขึ้น ที่นี่ยังมีการหลอมไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียม และหลอมฮีเหลียมให้เป็นคาร์บอน

เมื่อถึงวาระสุดท้ายของการเป็นดาวฤกษ์ ดาวไมราจะดันเปลือกนอกของดาวออกไปโดยรอบจนดูเหมือนฟองแก๊สทรงกลมที่ห่อหุ้มดาวอยู่ เรียกว่าเนบิวลาดาวเคราะห์ เผยส่วนแกนกลางที่ไม่มีกระบวนการหลอมนิวเคลียสอีกต่อไปแต่ยังร้อนแรง เรียกว่าดาวแคระขาว 

เนื่องจากดาวไมราเป็นดาวคล้ายดวงอาทิตย์ มีมวลใกล้เคียงกัน การมองดาวไมรา ก็เหมือนการมองอนาคตของดวงอาทิตย์ด้วย นักดาราศาสตร์คาดว่าอีกราวห้าพันล้านปีข้างหน้า ดวงอาทิตย์ก็จะกลายเป็นดาวยักษ์แดง และจะต้องผ่านช่วงที่แปรแสงแบบดาวไมราเช่นเดียวกัน

มีหางด้วย

ในปี 2549 ดาวเทียมกาเล็กซ์ ได้สำรวจดาวไมราในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต พบว่าดาวไมรามีหางทอดยาวเหมือนกับดาวหาง หางนี้มีความยาวในอวกาศมากถึง 13 ปีแสง หางนี้เกิดจากการที่ดาวคายเนื้อดาวออกมาพร้อมกับเคลื่อนที่ฝ่าไปในอวกาศด้วยความเร็วสูง นักดาราศาสตร์ประเมินว่าสสารในหางของไมรามีมวลรวมมากกว่าโลกถึง 3,000 เท่าเลยทีเดียว 

ดาวไมรากับหางที่ทอดยาวถึง 13 ปีแสง (จาก NASA/JPL-Caltech)

รีบดูก่อนอดดูอีกนาน


ช่วงที่สว่างที่สุดที่มองเห็นดาวไมราได้ในแต่ละปีจะถอยร่นมาประมาณปีละเดือน ในปีนี้ (2565) ดาวไมราจะสว่างที่สุดในกลางเดือนกรกฎาคม ปีหน้า (2566) ดาวไมราก็จะสว่างที่สุดในเดือนมิถุนายน ส่วนถัดจากนั้นอีกสองปีเราจะไม่มีโอกาสเห็นดาวไมราในช่วงความสว่างสูงสุด เพราะในช่วงนั้นดาวจะขึ้นตกในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ จึงถูกแสงจ้าของดวงอาทิตย์กลบเสียหมด กว่าจะได้เห็นดาวไมราในช่วงสว่างที่สุดอีกครั้งก็จะเป็นปี  2569  ซึ่งในปีนั้นดาวไมราจะสว่างที่สุดในวันที่ มีนาคม มองเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ

ภาพถ่ายท้องฟ้ามุมกว้าง แสดงกลุ่มดาวซีตัส บางส่วนของกลุ่มดาวแม่น้ำ กลุ่มดาวเตาหลอม และกลุ่มดาวช่างแกะสลัก ในวงกลมคือดาวไมรา (จาก วิษณุ เอื้อชูเกียรติ)

แผนที่ฟ้า แสดงภาพมุมแคบตำแหน่งของดาวไมราและบริเวณข้างเคียง (จาก AAVSO)

ในเดือนกรกฎาคม ดาวไมราขึ้นจากขอบฟ้าหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย ที่ตำแหน่งเกือบตรงกับจุดทิศตะวันออกพอดี คนที่ต้องการดูอาจต้องรอให้ถึงหลังตีสามเมื่อดาวอยู่สูงจากขอบฟ้ามากพอที่จะพ้นสิ่งกีดขวางและแสงเรื่อที่ขอบฟ้า ดาวไมราจะขึ้นสูงถึง 60 องศาก่อนที่แสงตะวันของเช้าวันใหม่จะเข้ามากลบไป


ข้อมูลอ้างอิง

TITAN OCCULTS BRIGHT STAR, MIRA AWAKENS, AND COMET PANSTARRS SHINES
See Mira the Wonderful at its brightest