สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แมวเหมียวเที่ยวอวกาศ

แมวเหมียวเที่ยวอวกาศ

29 กันยายน 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 17 ธันวาคม 2566
ย้อนหลังไปในยุคทศวรรษ 1960 ขณะนั้นโลกยังอยู่ในบรรยากาศของสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจ การชิงความเป็นใหญ่ลุกลามไปถึงห้วงอวกาศ ทั้งโซเวียตและสหรัฐอเมริกาต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีดวงจันทร์เป็นหลักชัย 

ท่ามกลางสมรภูมิอันร้อนแรงของสองยักษ์ใหญ่ ประเทศเล็ก ๆ อย่างฝรั่งเศสก็มีโครงการอวกาศของตนเองเหมือนกัน 

ก่อนที่จะไปถึงขั้นนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ก็จะต้องมีการทดลองโดยส่งสัตว์ขึ้นไปก่อน ก่อนหน้านั้นโซเวียตประสบความสำเร็จกับการส่งหมาชื่อไลกาไปอวกาศมาแล้ว ฝั่งอเมริกาก็ส่งลิงชิมแปนซีชื่อแฮมไปเที่ยวอวกาศกลับมาเหมือนกัน 

ฝรั่งเศสไม่เลือกหมา ไม่เลือกลิง แต่เลือกแมว การทดลองดำเนินการโดยศูนย์วิจัยและศึกษาเวชศาสตร์การบิน หรือ เซอร์มา โดยได้นำแมวมาฝึกเป็นแมวอวกาศ  14 ตัว  แมวทั้งหมดต้องผ่านการฝึกทนอยู่ในซองแคบ ๆ เป็นเวลานาน ๆ ฝึกความคุ้นชินกับเครื่องมือวัดระโยงระยางที่ติดตามร่างกาย ต้องถูกเหวี่ยงในเครื่องเซนทริฟิวจ์เพื่อจำลองการอยู่ในสภาพแรงจีสูงซึ่งจะต้องพบเจอขณะจรวดขึ้นและกลับสู่โลก 


แมวแต่ละตัวที่นำมาฝึกมีการระบุตัวด้วยรหัสตัวเลขแทนที่จะเป็นชื่อทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเกิดความผูกพันกับแมวมากเกินไป

หลังจากการฝึกอย่างหฤโหด มีแมวที่ผ่านการฝึกเพียง ตัวเท่านั้น และแมวที่ได้รับเลือกให้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นตัวแรกเป็นแมวตัวเมียลายขาวดำที่มีรหัสว่า "ซี 341" 

แล้ววันเดินทางมาถึง วันที่ 18 ตุลาคม 2506 เวลา นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น จรวดเวโรนิกทะยานขึ้นจากฐานส่งจรวดในประเทศแอลจีเรีย ซี 341 ต้องเผชิญกับแรงจีสูงถึง 9.5 จีขณะขึ้นจากฐาน หลังจากที่ยานทะลวงบรรยากาศขึ้นไปจนเข้าสู่พรมแดนของอวกาศจนขึ้นไปสูงสุดที่ 157 กิโลเมตรจากพื้นโลก แคปซูลก็แยกออกจากจรวด แล้วค่อย ๆ ตกกลับลงมา ขาลงแมวอวกาศต้องพบกับแรงกดดันอีกครั้งด้วยแรง จีก่อนที่ร่มชูชีพจะกางออก แล้วแคปซูลก็ลงถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัย รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้น 13 นาที ช่วงเวลาที่อยู่ในอวกาศนานราว นาที แต่น่าเสียดายที่ซี 341 ไม่มีโอกาสได้ชมความงามของดาวบ้านเกิดจากอวกาศ เพราะแคปซูลที่อยู่ไม่มีช่องสำหรับมอง 

 เมื่อข่าวความสำเร็จในการเดินทางของแมวอวกาศตัวแรกแพร่สะพัดไปทั่วโลก สื่อในประเทศฝรั่งเศสจึงตั้งชื่อแมวตัวนี้ว่า เฟลิกซ์ ตามชื่อแมวการ์ตูนชื่อดัง แต่เนื่องจาก ซี 341 เป็นตัวเมีย ทางเซอร์มาจึงแปลงชื่อตามเพศเป็น เฟลิเซต 

เฟลิเซตจะภูมิใจในวีรกรรมตนเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการเป็นวีรวิฬาร์ก็คือ เฟลิเซตต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้เลือก สองเดือนหลังจากกลับสู่โลก เฟลิเซตก็ถูกปลิดชีพเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาร่างกายอย่างละเอียดว่าได้รับผลกระทบจากการท่องอวกาศอย่างไรบ้าง

ยิ่งกว่านั้น การตายของเฟลิเซตก็ไม่ได้เป็นบันไดที่ทอดไปสู่ความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปอวกาศ เพราะฝรั่งเศสไม่เคยส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยตนเองเลย ไม่มีสิ่งใดที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของเฟลิเซต ต่างจากไลกาที่โซเวียตสร้างอนุสาวรีย์ให้ถึงสองแห่ง ส่วนแฮมก็ได้รับการฝังอย่างสมเกียรติในหอแห่งเกียรติยศ 

เมื่อวันเวลาผ่านไป ชื่อของเฟลิเซตจึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน 

เหตุการณ์ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ กว่าที่จะมีคนคิดได้ว่าควรมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงเฟลิเซตบ้าง แล้วสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นในปี 2562 รูปปั้นบรอนซ์ของเฟลิเซต ตั้งสูงจากพื้นห้าฟุต ได้ถูกนำออกแสดงไว้ที่มหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติในสทราซบูร์ 

รูปปั้นนี้เป็นฝีมือของประติมากรชื่อก้องโลก กิล ปาร์เกอร์ เป็นรูปเฟลิเซตนั่งอยู่บนลูกโลก แหงนหน้ามองดูท้องฟ้า ที่ที่มันเคยไปเยือนเมื่อนานมาแล้ว จนได้กลายเป็นแมวอวกาศตัวแรกและตัวเดียวของโลก

รูปปั้นของเฟลิเซต ตั้งแสดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติในสทราซบูร์  


ที่มา

Félicette, the First Cat in Space, Finally Gets Memorial