สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลชี้ขาด เอกภพมีอายุไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านปี

ฮับเบิลชี้ขาด เอกภพมีอายุไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านปี

24 พ.ค. 2540
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ทฤษฎีบิกแบงเป็นทฤษฎีที่อธิบายการกำเนิดเอกภพที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน อธิบายว่าเอกภพเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อนานมาแล้ว สสารที่กระเด็นออกจากศูนย์กลางการระเบิดครั้งนั้นก็เริ่มวิวัฒนาการเป็นอะตอม ของธาตุมูลฐานต่าง ๆ และรวมตัวกันเป็นดวงดาวและดาราจักรอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ โดยมีหลักฐานที่สนับสนุนอยู่คือ ดาราจักรต่าง ๆ มีการเคลื่อนที่หนีห่างออกจากกัน ยิ่งดาราจักรอยู่ห่างมากเท่าใด ก็ยิ่งเคลื่อนที่หนีออกไปเร็วมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งบ่งบอกว่าเอกภพมีการขยายตัว 

หากทราบว่าการระเบิดครั้งใหญ่นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด นั่นก็คือทราบอายุของเอกภพ 

ได้มีการพยายามค้นหาตัวเลขนี้มาหลายครั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา อายุเอกภพที่ได้มานั้นอยู่ในช่วง 10,000 ถึง 15,000 ล้านปี โดยในการคำนวณในช่วงหลัง ๆ มักจะได้ตัวเลขค่อนมาทางน้อย คือประมาณ 10,000 ล้านปีหรือใกล้เคียง แต่ในขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์ก็พบว่าดาวฤกษ์บางดวงมีอายุถึง 12,000 ล้านปี 

ดาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพจะมีอายุมากกว่าเอกภพเองได้อย่างไร ไม่อายุดาวผิด ก็ต้องอายุเอกภพผิด หรือไม่ก็ผิดทั้งคู่ ปริศนาข้อนี้ได้เกาะกินใจนักดาราศาสตร์มานานหลายปี แต่นักดาราศาสตร์เชื่อว่าวิธีการหาอายุดาวที่ใช้กันนั้นมีความแม่นยำมาก ตัวเลขที่ต้องนำมาคิดกันใหม่ก็ควรจะเป็นอายุเอกภพ 

ข้อมูลที่นักดาราศาสตร์นำมาคำนวณอายุเอกภพนั้น หลายส่วนมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากการวัดจากหอสังเกตการณ์ภาคพื้นดินมีการรบกวนจากบรรยากาศโลก จึงต้องมีการสำรวจวัดกันใหม่ด้วยอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำกว่า 

ทีนี้ก็เป็นบทของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลอีกครั้ง เพราะได้เปรียบที่เป็นกล้องลอยอยู่ในอวกาศไม่มีบรรยากาศมาบดบัง โดยคณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ นำทีมโดยจอห์น กริบบิน 

กริบบินอาศัยหลักง่าย ๆ ว่า ดาราจักรจะมีขนาดปรากฏเท่าใดขึ้นอยู่กับขนาดที่แท้จริงของดาราจักรเอง และระยะห่างของดาราจักร 

ระยะทางของดาราจักรนั้นส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้ว ด้วยเทคนิคการวัดความสว่างของดาวแปรแสงเซฟิด (Cepheids) ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำมาก 

ส่วนการหาอัตราเร็วของดาราจักรนั้นหาได้โดยการวัดค่าการเลื่อนไปทางแดง ซึ่งคล้าย ๆ กับปรากฏการณ์ดอปเพลอร์ 

โดยอาศัยการวัดทั้งหมดนี้ เขาสามารถคำนวณค่าคงที่ฮับเบิล (Ho) ออกมาได้ ซึ่งค่าคงที่นี้เป็นกุญแจสำคัญที่บอกอัตราการขยายตัวของเอกภพและอายุของเอกภพด้วย 

ค่าคงที่ฮับเบิลที่ได้มาคือประมาณ 50 คำนวณเป็นอายุเอกภพได้ไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านปี ซึ่งมากพอที่จะสอดคล้องกับอายุของดาวที่แก่ที่สุด 12,000 ล้านปี 

เอกภพมีอายุไม่ต่ำกว่า 13000 ล้านปี ตามการวัดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

เอกภพมีอายุไม่ต่ำกว่า 13000 ล้านปี ตามการวัดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

ที่มา: