สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหนังเหนียว ระเบิดสองครั้งยังไม่ตาย

ดาวหนังเหนียว ระเบิดสองครั้งยังไม่ตาย

12 พ.ย. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ซูเปอร์โนวาเป็นการระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย เมื่อดาวฤกษ์ได้ใช้พลังงานไปจนหมด แรงดันจากภายในจึงพ่ายแพ้ต่อแรงโน้มถ่วงของตัวเอง เปลือกดาวจะยุบลงสู่แก่นกลาง เกิดคลื่นกระแทกสะท้อนกลับออกมาเป็นการระเบิดที่รุนแรง หลังการระเบิดดาวฤกษ์ดวงเดิมก็หายไป เหลือเพียงแก่นดาวที่อาจกลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ ซูเปอร์โนวาจึงเปรียบเสมือนฉากตายอันอลังการของดาวฤกษ์ การศึกษากระบวนการนี้มาหลายพันกรณีของนักดาราศาสตร์ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้

จนกระทั่งได้พบกับซูเปอร์โนวาดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า ไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอส (iPTF14hls) ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2557 โดยระบบพีทีเอฟ (PTF--Palomar Transient Factory) ซึ่งเป็นระบบค้นหาวัตถุแปรแสงบนท้องฟ้าอัตโนมัติ เช่นดาวแปรแสง ซูเปอร์โนวา

เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบการระเบิดนี้เป็นครั้งแรก พบว่าลักษณะของสเปกตรัมที่ปรากฏไม่มีอะไรแปลกไปจากซูเปอร์โนวาชนิด 2-พี ทั่วไป โดยปกติซูเปอร์โนวาชนิดนี้ส่องสว่างอยู่ราว 100 วันก่อนที่จะค่อย ๆ หรี่ลงไป 

ซูเปอร์โนวา ไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอส ได้หรี่แสงลงไปตามแบบที่ควรจะเป็น แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนกลับสว่างเพิ่มขึ้นอีก แล้วก็หรี่ลงอีก แล้วก็สว่างขึ้นอีกกลับไปกลับมา ภายในสามปีหลังจากการระเบิดครั้งแรกที่พบ ซูเปอร์โนวานี้ได้สว่างขึ้นและจางลงไม่น้อยกว่าห้ารอบ

"นี่เป็นเหตุการณ์ที่ชวนพิศวงงงงวยที่สุด" ปีเตอร์ นูเจนต์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากห้องทดลองแห่งชาติลอเรนซ์ ณ เบิร์กลีย์กล่าว 

เมื่อเห็นว่านี่คงจะไม่ใช่ซูเปอร์โนวาธรรมดาแน่ นักดาราศาสตร์จึงไปค้นหาข้อมูลย้อนหลังจากคลัง เผื่อว่าจะพบเบาะแสอะไรบางอย่างมาช่วยคลายข้อสงสัย  แต่แล้วก็ต้องงงหนักขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าเมื่อปี 2497 ที่ตำแหน่งเดียวกันนี้ก็เคยมีการระเบิดมาแล้วครั้งหนึ่ง นี่แสดงว่าดาวดวงนี้เคยระเบิดมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งเมื่อหกสิบปีก่อน แล้วรอดตายมาระเบิดอีกครั้ง

ทฤษฎีหนึ่งที่ถูกสนอขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ประหลาดนี้คือ การระเบิดนี้เป็นผลจากดาวฤกษ์ที่มวลสูงมากจนสร้างปฏิสสารขึ้นที่แก่นกลางได้ แดเนียล คาเซน ศาสตราจารย์ฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กลีย์ อธิบายว่า "มันทำให้ดาวขาดเสถียรภาพอย่างมากจนเกิดการปะทุขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าภายในเวลาไม่กี่ปี" นักวิจัยคณะนี้ได้คำนวณว่า ดาวฤกษ์ต้นกำเนิดซูเปอร์โนวานี้มีมวลก่อนระเบิดครั้งแรกไม่น้อยกว่า 50 เท่าของดวงอาทิตย์

"แต่การระเบิดในลักษณะนี้มันน่าจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการกำเนิดเอกภพเท่านั้น และไม่น่าจะมีอีกแล้วในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องแปลกที่ได้พบซูเปอร์โนวาเช่นนี้" แอนดี โฮเวลล์ หัวหน้าคณะศึกษาซูเปอร์โนวาแอลซีโอกล่าว "มันเหมือนกับการเจอไดโนเสาร์ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าคุณเจอจริง ๆ ก็คงต้องสงสัยว่านั่นเป็นไดโนเสาร์ของจริงหรือเปล่า"

นักดาราศาสตร์จะยังคงติดตามไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอสต่อไปด้วยเครือข่ายแอลซีโอ เพื่อที่จะดูว่าความสว่างจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปอีก


ภาพการเกิดซูเปอร์โนวาตามจินตนาการของศิลปิน <wbr>อยู่ในช่วงก่อนการระเบิด <wbr>ซึ่งเป็นช่วงที่เปลือกดาวโป่งออก <wbr>ซูเปอร์โนวาทั่วไปจะระเบิดเพียงครั้งเดียวแล้วจบชีวิตไป <wbr>แต่สำหรับซูเปอร์โนวา <wbr>ไอพีทีเอฟ <wbr>14 <wbr>เอชแอลเอสกลับระเบิดสองครั้งโดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ <wbr>60 <wbr>ปี<br />

ภาพการเกิดซูเปอร์โนวาตามจินตนาการของศิลปิน อยู่ในช่วงก่อนการระเบิด ซึ่งเป็นช่วงที่เปลือกดาวโป่งออก ซูเปอร์โนวาทั่วไปจะระเบิดเพียงครั้งเดียวแล้วจบชีวิตไป แต่สำหรับซูเปอร์โนวา ไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอสกลับระเบิดสองครั้งโดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 60 ปี
(จาก NASA/ESA/STSCI/G. Bacon)

กราฟแสงของซูเปอร์โนวา <wbr>ไอพีทีเอฟ <wbr>14 <wbr>เอชแอลเอส <wbr>แสดงถึงความสว่างขึ้น <wbr>ๆ <wbr>ลง <wbr>ๆ <wbr>อย่างน้อย <wbr>5 <wbr>รอบในช่วงเวลาสองปี<br />

กราฟแสงของซูเปอร์โนวา ไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอส แสดงถึงความสว่างขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างน้อย รอบในช่วงเวลาสองปี
(จาก LCO/S. Wilkinson)

ภาพจากคลังของหอดูดาวพาโลมาร์ แสดงการระเบิดที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งของไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอฟ ในปี 2497 (ซ้าย)

ภาพจากคลังของหอดูดาวพาโลมาร์ แสดงการระเบิดที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งของไอพีทีเอฟ 14 เอชแอลเอฟ ในปี 2497 (ซ้าย) (จาก POSS/DSS/LCO/S. Wilkinson)

ที่มา: