สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวปลากัด กินดาวเคราะห์ของตัวเอง

ดาวปลากัด กินดาวเคราะห์ของตัวเอง

15 ม.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ระบบดาวเคราะห์แต่ละแห่งก็เปรียบเสมือนครอบครัว ๆ หนึ่ง มีดาวฤกษ์ที่เปรียบเหมือนแม่ผู้ให้กำเนิด ส่วนดาวเคราะห์ก็เปรียบเหมือนลูกที่กำเนิดจากแม่ รับแสงรับพลังงานและความโน้มถ่วงจากแม่ คอยโคจรรอบไม่ห่างหาย 

ถ้าเปรียบเทียบแบบนั้น ดาวอาร์แซดปลา (RZ Piscium) ก็คงเป็นแม่จอมโหด เพราะนักดาราศาสตร์พบว่าดาวแม่ดวงนี้กำลังกินลูกตัวเอง!

ดาวอาร์แซดปลา อยู่ในกลุ่มดาวปลา อยู่ห่างจากโลก 550 ปีแสง มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 5,330 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนน้อยกว่าดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย 

เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นักดาราศาสตร์อเมริกันคณะหนึ่งได้รายงานผลการสำรวจดาวดวงนี้ว่า บางครั้งแสงดาวได้หรี่ลงเป็นเวลาสั้น ๆ อย่างคาดเดาไม่ได้ แต่ละครั้งกินเวลาประมาณสองวัน นักดาราศาสตร์คณะนี้เชื่อว่าเหตุที่แสงดาวหรี่ลงเพราะรอบ ๆ ดาวดวงนี้มีก้อนฝุ่นและแก๊สหลายก้อนรายล้อมอยู่ บางครั้งก้อนแก๊สก็มาบดบังแสงดาวให้ดูหรี่ลงไป ก้อนฝุ่นแก๊สแต่ละก้อนนี้น่าจะมีความหนาแน่นสูงและมีขนาดใหญ่ เพราะการบังแต่ละครั้งทำให้แสงดาวลดลงไปถึงสิบเท่า 

ฝุ่นแก๊สรอบดาวเกิดได้จากหลายอย่าง กระบวนการสร้างดาวฤกษ์ก็มักทิ้งฝุ่นแก๊สไว้รอบดาว ดาวเคราะห์และวัตถุบริวารอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นจากฝุ่นแก๊สเหล่านั้น 

นักดาราศาสตร์ได้ประเมินอายุของดาวอาร์แซดปลาโดยอาศัยหลักฐานหลายอย่าง เช่นการแผ่รังสีอินฟราเรด ความเข้มข้นของรังสีเอกซ์ และปริมาณของธาตุลิเทียมในดาว บ่งบอกว่าดาวดวงนี้น่าจะมีอายุราว 30-50 ล้านปี แม้จะจัดว่าเป็นดาวอายุน้อย แต่ก็ถือว่าอายุมากพอที่จานฝุ่นและแก๊สที่เป็นแหล่งกำเนิดดาวเคราะห์ควรจะสลายไปนานแล้ว ดังนั้นฝุ่นแก๊สที่มาบดบังแสงดาวดังที่นักดาราศาสตร์พบจึงไม่น่าจะเป็นฝุ่นแก๊สที่ให้กำเนิดดาวเคราะห์ หากเป็นฝุ่นแก๊สที่เป็นซากดาวเคราะห์ที่แหลกสลาย

นักดาราศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่า ดาวเคราะห์จำนวนหนึ่งได้เคลื่อนเข้ามาใกล้ดาวแม่จนเกินไป จนถูกแรงน้ำขึ้นลงของดาวแม่ฉีกจนแหลกสลาย การวิเคราะห์สเปกตรัมเผยว่าฝุ่นแก๊สเหล่านั้นจำนวนหนึ่งกำลังไหลลงสู่ดาวอาร์แซดปลาอย่างช้า 

การที่ดาวเคราะห์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวฤกษ์ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังจะเห็นได้จากการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบจำพวก "พฤหัสร้อน" จำนวนมาก พฤหัสร้อนหมายถึงดาวเคราะห์แก๊สคล้ายดาวพฤหัสบดีแต่โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ไม่น่าจะกำเนิดขึ้นที่ระยะใกล้ดาวฤกษ์ขนาดนั้น โดยเห็นว่าน่าจะกำเนิดขึ้นที่ระยะห่างจากดาวฤกษ์มาก แล้วต่อมาก็เคลื่อนวงโครจรเข้าใกล้ดาวฤกษ์มากขึ้น ในระบบสุริยะของเราก็เคยมีดาวเคราะห์ย้ายวงโคจรเช่นกัน นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเมื่อราวสี่พันล้านปีก่อน ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนเคยสลับวงโคจรกัน ระยะเวลาอันเนิ่นนานที่ผ่านมาได้ช่วยให้ระบบปรับเสถียรภาพจนเข้าสู่รูปแบบปกติดังปัจจุบัน

การค้นพบนี้ได้แสดงถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะหลายแห่ง รวมถึงระบบสุริยะของเราด้วย

ซากดาวเคราะห์รอบดาวอาร์แซดปลาที่ถูกแรงน้ำขึ้นลงฉีกจนเป็นก้อนแก๊ส

ซากดาวเคราะห์รอบดาวอาร์แซดปลาที่ถูกแรงน้ำขึ้นลงฉีกจนเป็นก้อนแก๊ส (จาก NASA's Goddard Space Flight Center/CI Lab)

หอสังเกตการณ์เอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตันขององค์การอีซา<br />

หอสังเกตการณ์เอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตันขององค์การอีซา
(จาก ESA)

ที่มา: