สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์คาบสั้น หนึ่งปีนานแปดชั่วโมงครึ่ง

พบดาวเคราะห์คาบสั้น หนึ่งปีนานแปดชั่วโมงครึ่ง

31 ส.ค. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เชื่อหรือไม่ ภายในระยะเวลาที่เริ่มตั้งแต่คุณเข้าทำงานตอนเช้าจนเลิกงานตอนเย็น ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากเราได้ใช้เวลาหมดไปแล้วหนึ่งปี เพราะมีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์เพียง 8.5 ชั่วโมงเท่านั้น
ดาวดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์-78 บี (Kepler-78b) ค้นพบโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเซตส์ในเคมบริดจ์ เป็นดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ดาวที่น่าอยู่นัก เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มาก รัศมีวงโคจรเพียงประมาณสามเท่าของรัศมีดาวฤกษ์ หรือใกล้กว่าระยะทางจากดาวพุธถึงดวงอาทิตย์ถึง 40 เท่า นักวิทยาศาสตร์คาดว่าบนพื้นผิวของเคปเลอร์-78 บี น่าจะร้อนถึง 3,000 เคลวิน ด้วยอุณหภูมิสูงระดับนี้ พื้นผิวของดาวเคราะห์จะอยู่ในสถานะของเหลวทั้งหมด หรือจะเรียกว่าเป็นดาวเคราะห์ลาวาก็ว่าได้
การที่ดาวเคปเลอร์-78 บี อยู่ใกล้ดาวแม่มาก นักดาราศาสตร์จึงหวังว่าน่าจะวัดอิทธิพลด้านแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อดาวฤกษ์ได้ ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ในการวัดมวลของดาวเคราะห์ ซึ่งจะทำให้มันกลายเป็นดาวเคราะห์ขนาดระดับโลกดวงแรกที่วัดมวลได้
เคปเลอร์-78 บี ยังไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่มีคาบโคจรสั้นที่สุดที่รู้จัก เจ้าของสถิติที่แท้จริงคือ เคโอไอ 1843.03 (KOI 1843.03) ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์กลุ่มเดียวกันกับที่ค้นพบเคปเลอร์-78 บี ดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบเพียง 4.25 ชั่วโมงเท่านั้น นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะต้องมีความหนาแน่นสูงมาก เนื้อดาวเป็นเหล็กเกือบทั้งหมด จึงจะคงสภาพอยู่ได้ มิเช่นนั้นแล้วจะถูกแรงน้ำขึ้นลงมหาศาลจากดาวฤกษ์ฉีกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเคปเลอร์-78 บีก็คือ นักดาราศาสตร์วัดแสงที่แผ่ออกมาจากมันได้โดยตรง แสงนี้จะบอกถึงองค์ประกอบของพื้นผิวและสมบัติการสะท้อนของดาวเคราะห์ได้ คาดว่าเป็นแสงรวมระหว่างการเปล่งแสงจากความร้อนของพื้นผิว และแสงสะท้อนบนลาวาหรือไอในบรรยากาศ
เคปเลอร์-78 บี (Kepler-78b) คาบการโคจรสั้นมาก หนึ่งปียาวนานเพียงแปดชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

เคปเลอร์-78 บี (Kepler-78b) คาบการโคจรสั้นมาก หนึ่งปียาวนานเพียงแปดชั่วโมงครึ่งเท่านั้น (จาก Cristina Sanchis Ojeda)

ที่มา: