สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวฤกษ์ที่อายุขัยยาวนานที่สุด

พบดาวฤกษ์ที่อายุขัยยาวนานที่สุด

30 ม.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวฤกษ์ทุกดวงมีอายุขัยมากน้อยต่างกัน บางดวงอายุสั้น บางดวงอายุยืน ดวงอาทิตย์ของเรามีอายุประมาณ 4.6 พันล้านปี จะส่องสว่างไปอีกราว 7.8 พันล้านปีก่อนที่จะกลายเป็นดาวแคระขาว 
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์แสงจางดวงหนึ่งทางตอนใต้ของกลุ่มดาวนายพรานที่คาดว่าจะมีอายุขัยยาวที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่รู้จัก 
อายุขัยของดาวฤกษ์สวนทางกับมวลของดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์มวลสูง จะเสียมวลรวดเร็ว อายุขัยจึงสั้น ส่วนดาวฤกษ์มวลต่ำ แม้จะมีเชื้อเพลิงน้อยกว่า แต่ใช้พลังงานอย่างประหยัดกว่า จึงมีอายุขัยยาวกว่า 
ดาวฤกษ์ประเภทที่มีมวลต่ำที่สุด คือดาวฤกษ์ประเภทที่เรียกว่าดาวแคระแดง ดาวแคระแดงที่มีมวลต่ำอาจมีอายุได้นานถึงระดับล้านล้านปี ดาวพวกนี้มีมวลอยู่ในช่วง 8-60 เปอร์เซ็นต์ของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่งใกล้เคียงกับขีดจำกัดต่ำสุดของดาวฤกษ์ วัตถุที่มีมวลต่ำกว่านี้จะเป็นดาวฤกษ์ไม่ได้ เพราะมีมวลน้อยเกินกว่าจะจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้ แต่จะเป็นได้เพียงดาวแคระน้ำตาล แม้จะมีชื่อว่าดาวแคระน้ำตาล แต่ความจริงมีสีแดงโดยเฉพาะขณะมีอายุน้อย ซึ่งดูคล้ายกับดาวแคระแดง ดังนั้นการแยกแยะระหว่างดาวแคระแดงกับดาวแคระน้ำตาลจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่ง นำโดย เซอร์จิโอ ไดเทอริช ได้วิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยคำนวณหาขนาดของดาวแคระแดงและดาวแคระน้ำตาลบริเวณใกล้ดวงอาทิตย์ 63 ดวง
ทั้งดาวแคระน้ำตาลและดาวแคระแดงมีต้นกำเนิดคล้ายกัน นั่นคือเกิดจากกลุ่มแก๊สที่หดตัวลงจากแรงโน้มถ่วงร่วมจนกลายเป็นก้อนเป็นดวง ดาวแคระแดงซึ่งเป็นดาวฤกษ์แถบลำดับหลักจะหดตัวลงจนกระทั่งเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้น ดาวยิ่งมีมวลตั้งต้นยิ่งน้อยจะยิ่งมีขนาดเล็ก และใช้เวลาในการหดตัวนาน ส่วนดาวแคระน้ำตาลจะหดตัวช้ากว่า ดาวแคระน้ำตาลที่มีอายุน้อยมีขนาดใหญ่กว่าดาวแคระน้ำตาลที่เล็กที่สุด 
ดังนั้นเมื่อไล่ดูดาวฤกษ์และดาวแคระน้ำตาลในแถบลำดับหลักจากส่วนสีเหลืองมาจนถึงสีแดง จะพบว่ารัศมีของดาวก็จะเล็กลงเรื่อย ๆ จนเล็กที่สุดที่บริเวณของดาวแคระแดง แต่เมื่อไล่ต่อไปจนเข้าสู่บริเวณของดาวแคระน้ำตาล ขนาดของวัตถุกลับใหญ่ขึ้น 
ไดเทอริชได้คำนวณหารัศมีของวัตถุที่สำรวจจากกำลังส่องสว่างและอุณหภูมิโดยใช้กฎทางฟิสิกส์ที่เรียกว่ากฎสเตฟาน-โบลช์มันน์ ซึ่งเป็นกฎที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติทั้งสามของดาว
ผลการสำรวจ พบว่าดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง มีรัศมี 8.6 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ ซึ่งใกล้เคียงกับดาวเสาร์ มีชื่อว่า แมส เจ 0523-1403 (2MASS J0523-1403) อยู่ห่างออกไป 40 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวกระต่ายป่า มีตำแหน่งในแถบลำดับหลักเหนือกว่าเส้นพรมแดนระหว่างดาวฤกษ์กับดาวแคระน้ำตาลเพียงเล็กน้อย มีชนิดสเปกตรัม แอล 2.5 อุณหภูมิพื้นผิว 2,075 เคลวิน 
หากนำดาวฤกษ์ดวงนี้มาวางไว้ที่กลางระบบสุริยะแทนดวงอาทิตย์ มันจะมีความสว่างไม่ถึงดวงจันทร์เสียด้วยซ้ำ เพราะความที่มีมวลต่ำมาก จึงมีอายุยืนมาก นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวฤกษ์ดวงนี้จะมีอายุขัยได้ถึง 12 ล้านล้านปี ซึ่งมีอายุขัยนานกว่าอายุปัจจุบันของเอกภพอยู่หลายเท่า
อย่างไรก็ตาม จำนวนดาวที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้ยังถือว่าน้อยเกินกว่าจะยืนยัน ไดเทอริชมีแผนที่จะสำรวจดาวในละแวกใกล้เคียงเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน แต่จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะทำได้สำเร็จ
    ดาวแคระแดง ทูแมส เจ 0523-1403 (2MASS J0523-1403) จะส่องสว่างต่อไปอีกนับล้านล้านปี และอาจเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุขัยยาวนานที่สุด ถ่ายโดยกล้อง 0.9 เมตรของหอดูดาวเซอร์โรโตโลโลอินเตอร์อเมริกัน)

    ดาวแคระแดง ทูแมส เจ 0523-1403 (2MASS J0523-1403) จะส่องสว่างต่อไปอีกนับล้านล้านปี และอาจเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุขัยยาวนานที่สุด ถ่ายโดยกล้อง 0.9 เมตรของหอดูดาวเซอร์โรโตโลโลอินเตอร์อเมริกัน)

    ที่มา: