สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เฟทอนก็มีหาง

เฟทอนก็มีหาง

30 ม.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อถึงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี นักดูดาวทั่วโลกจะเตรียมออกไปสู่ลานกว้างและมืดมิด เพื่อเฝ้าชมฝนดาวตกคนคู่ ฝนดาวตกคนคู่มีชื่อเสียงมาจากการที่ให้เส้นดาวตกที่สว่าง เร็ว และเป็นฝนดาวตกที่ตกชุกในอันดับต้น ๆ ของปี

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของฝนดาวตกคนคู่ก็คือ วัตถุต้นกำเนิด ในขณะที่ฝนดาวตกเกือบทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากธารสะเก็ดดาวของดาวหาง ต้นกำเนิดของฝนดาวตกคนคู่กลับไม่ใช่ดาวหาง แต่เป็นวัตถุที่มีชื่อว่า 3200 เฟทอน (3200 Phaethon) ดาวเทียมไอแรสของนาซาค้นพบวัตถุดวงนี้ใน พ.ศ.2526 เฟทอนมีลักษณะคล้ายดาวเคราะห์น้อย โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบทุก 1.4 ปี ซึ่งคล้ายกับดาวหาง แต่วัตถุดวงนี้ไม่ทอดหางออกมา นั่นย่อมหมายความว่าไม่มีฝุ่นออกมาเติมเนื้อสารให้แก่ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกคนคู่

นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดยเดวิด จีวิตต์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลีส ได้ใช้ยานแฝดสเตอริโอของนาซาสำรวจ 3200 เฟทอนในระยะใกล้ในช่วงที่วัตถุดวงนี้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ในปี 2553 ยานสเตอริโอได้ตรวจพบว่าเฟทอนมีความสว่างเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าขณะที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ คล้ายกับว่าเกิดจากการที่แสงอาทิตย์ส่องทะลุชั้นเมฆฝุ่นที่หุ้มดาวเคราะห์น้อยอยู่ นักดาราศาสตร์เริ่มสงสัยตั้งแต่บัดนั้นแล้วว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยธรรมดาแน่ 

การสำรวจในเวลาต่อมาโดยยานสเตอริโอ โดยคณะของจีวิตและคณะจากสถาบันมักซ์พลังค์ ได้ตรวจพบหางขนาดเล็กที่วัตถุหินก้อนนี้ด้วย

ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์น้อยหินก็มีหางได้ แต่เป็นหางฝุ่น 

นักดาราศาสตร์เรียกวัตถุจำพวกเดียวกับ 3200 เฟทอนว่า "ดาวหางหิน" เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนความร้อนทำให้พ่นฝุ่นออกมาจากพื้นผิว และทอดยาวออกไปเป็นหางเช่นเดียวกับดาวหาง 

คณะของจีวิตเชื่อว่า ฝุ่นเกิดขึ้นเพราะพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยแตกออกเนื่องจากความร้อน คล้ายกับแผ่นโคลนท้องบึงที่แตกระแหงเป็นเกล็ดเมื่อน้ำแห้ง

การพบหางขนาดเล็กของ 3200 เฟทอน ในครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าวัตถุดวงนี้เป็นวัตถุต้นกำเนิดของฝนดาวตกคนคู่จริง แต่ปริศนาของฝนดาวตกคนคู่ยังไม่หมด เพราะยังมีคำถามใหม่เกิดขึ้นมาอีกว่า หางขนาดเล็กอย่างนั้นจะทำให้เกิดฝนดาวตกระดับดาวเด่นประจำปีอย่างคนคู่ได้อย่างไร

นักดาราศาสตร์ประเมินปริมาณของสสารที่พ่นออกมาทางหางของ 3200 เฟทอนโดยอาศัยข้อมูลจากสเตอริโอได้ว่า มีมวลประมาณ 30,000 กิโลกรัม ปริมาณนี้อาจฟังดูมาก แต่ยังถือว่าน้อยเกินกว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบถาวรที่จะป้อนให้แก่ฝนดาวตกคนคู่ได้

ต่อประเด็นนี้ เดวิด จีวิต สันนิษฐานว่า เฟทอนอาจเคยเกิดการปะทุครั้งใหญ่มาก่อน เหมือนฟืนในกองไฟที่มีการปะทุเป็นระยะ 

ดังนั้น การจะไขปัญหานี้ได้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องให้สเตอริโอเฝ้าติดตามเฟทอนต่อไป เพื่อสังเกตว่ามีการปะทุขึ้นบ้างหรือไม่

    ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟทอน (3200 Phaethon) ถ่ายโดยยานสเตอริโอ ปรากฏหางสั้น ๆ ด้วย

    ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟทอน (3200 Phaethon) ถ่ายโดยยานสเตอริโอ ปรากฏหางสั้น ๆ ด้วย

    ที่มา: