สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลพบดาวเคราะห์น้อยแตกสลาย

ฮับเบิลพบดาวเคราะห์น้อยแตกสลาย

17 มี.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ มีนาคมที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้บันทึกภาพของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์เคยเห็นการแตกสลายของวัตถุท้องฟ้ามาแล้วหลายครั้ง แต่วัตถุเหล่านั้นคือดาวหาง ซึ่งการแตกสลายเป็นเรื่องไม่แปลก เนื่องจากดาวหางเป็นวัตถุที่เปราะบาง แต่สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่มีโครงสร้างภายในแข็งแรง การแตกสลายเป็นชิ้นย่อยถึง 10 ชิ้น จึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีการพบเห็นมาก่อน

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า พี/2013 อาร์ (P/2013 R3) โครงการสำรวจท้องฟ้าแคทาลีนาและแพนสตารส์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 ตั้งแต่ในครั้งนั้นได้มีการตั้งข้อสังเกตแล้วว่าวัตถุดวงนี้มีรูปร่างมัวไม่ชัดเจน ต่อมาในวันที่ ตุลาคม หอสังเกตการณ์ดับเบิลยู.เอ็ม.เคก บนยอดเขามานาเคอาในฮาวายพบว่าวัตถุนั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนเกาะกลุ่มเคลื่อนที่ไปด้วยกัน โดยมีชั้นของฝุ่นห่อหุ้มเป็นก้อนใหญ่เกือบเท่าโลก 

แต่เมื่อสำรวจด้วยกล้องฮับเบิลซึ่งมีกำลังแยกภาพดีกว่ามาก จึงสามารถแยกแยะได้ว่าแท้จริงแล้วประกอบด้วยวัตถุชิ้นย่อยถึง 10 ชิ้น แต่ละชิ้นมีหางฝุ่นทอดออกไปคล้ายดาวหาง ชิ้นที่ใหญ่ที่สุด ชิ้นมีขนาดใหญ่เกือบ 400 เมตร 

ข้อมูลจากฮับเบิลยังแสดงอีกว่าแต่ละชิ้นกำลังแยกออกจากกันอย่างช้า ๆ ด้วยอัตรา 1.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดาวเคราะห์ดวงนี้เริ่มแยกออกจากกันเมื่อต้นปีที่แล้ว 

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุการแตกสลาย นักดาราศาสตร์คิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดจากการชนกับวัตถุอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้น การแตกสลายจะต้องเป็นไปอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน และไม่น่าจะเกิดจากการที่วัตถุสลายจากการปริแตกโดยแรงดันจากภายในด้วย

ดังนั้นจึงความเป็นไปได้ทางเดียว นั่นคือดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้หมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นทีละน้อย จนในที่สุดก็ถึงจุดที่แตกหลุดออก การแตกสลายด้วยสาเหตุนี้เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการยืนยันจากการสังเกตการณ์

หากเป็นเช่นนี้จริง ดาวเคราะห์น้อย พี/2013 อาร์ จะต้องเป็นวัตถุที่มีโครงสร้างเปราะบางเป็นทุนอยู่แล้ว ซึ่งอาจเกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กมากระทบกันแล้วเกาะติดกัน คาดว่า พี/2013 อาร์ เกิดขึ้นมาจากกระบวนการนี้เมื่อหนึ่งพันล้านปีก่อน

ก่อนหน้านี้ไม่นาน นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่สาดหางออกเป็นหกหาง มีชื่อว่า พี/2013 พี ซึ่งคาดกันว่าอาจเกิดการแตกสลายจากสาเหตุเดียวกัน 

ดาวเคราะห์น้อย พี/2013 อาร์ มีมวลรวมประมาณ  200,000 ตัน การแตกสลายนี้จะทำให้เกิดสะเก็ดดาวจำนวนมาก สะเก็ดดาวส่วนใหญ่จะจบลงด้วยการตกลงสู่ดวงอาทิตย์ แต่จะมีส่วนหนึ่งที่มีโอกาสพุ่งเข้ามาสู่บรรยากาศโลก ส่องสว่างไสวให้คนบนโลกเห็นเป็นดาวตก

    ภาพชุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แสดงลำดับขั้นตอนของดาวเคราะห์น้อยกำลังแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2556 ชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาพมีรัศมีประมาณ 180 เมตร

    ภาพชุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แสดงลำดับขั้นตอนของดาวเคราะห์น้อยกำลังแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2556 ชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาพมีรัศมีประมาณ 180 เมตร

    ที่มา: