สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ของดาวเอชดี 69830

ดาวเคราะห์ของดาวเอชดี 69830

2 มิ.ย. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
        นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ของดาวฤกษ์ดวงอื่นอีกแล้ว คราวนี้พบทีเดียวสามดวง และยังมีมวลประมาณดาวเนปจูนเท่านั้น

    ดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้เป็นบริวารของดาว เอชดี 69830 เป็นดาวฤกษ์ดวงเล็กที่อยู่ห่างจากโลกเพียง 41 ปีแสงในกลุ่มดาวท้ายเรือ ดาวดวงนี้มีอันดับความสว่าง 5.95 ซึ่งอยู่ในระดับที่พอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ค้นพบโดยการใช้กล้อง 3.6 เมตรของหอดูดาวอีเอสโอที่อยู่ในลาซียา ประเทศชิลี 

    ดาวเคราะห์ทั้งสามมีมวลอย่างต่ำอยู่ระหว่าง 10-18 เท่าของโลก จากการวัดความเร็วตามแนวรัศมีอย่างแม่นยำ ทำให้ทราบว่า ดาวเคราะห์ทั้งสามโคจรรอบดาวแม่ด้วยคาบ 8.67, 31.6 และ 197 วัน อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ 0.08, 0.19 และ 0.63 หน่วยดาราศาสตร์ตามลำดับ

    ดาวเคราะห์ดวงในสุดอาจเป็นดาวเคราะห์หินแบบเดียวกับโลก ส่วนดวงนอกสุดก็ยังอยู่ในเขตอบอุ่น เขตอบอุ่นนี้หมายความว่าอยู่ห่างจากดาวฤกษ์กำลังเหมาะ ไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป อยู่ในช่วงที่น้ำอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวได้ ซึ่งถือว่าเป็นสภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต แม้มวลมหาศาลของดาวเคราะห์จะทำให้สภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์นั้นต่างจากโลกมากก็ตาม ดาวดวงนอกนี้เป็นดาวเคราะห์มวลระดับนี้ดวงแรกที่อยู่ในเขตอบอุ่น นอกจากนี้คาดว่าระบบนี้ยังมีแถบดาวเคราะห์น้อยอีกด้วย วงโคจรของแถบดาวเคราะห์น้อยนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวเคราะห์สองดวงนอกหรืออาจจะอยู่ห่างกว่า 0.8 หน่วยดาราศาสตร์

    ความแม่นยำสุดยอดนี้ต้องยกให้เป็นผลงานของอุปกรณ์ชื่อฮาปส์ (HARPS) ของหอดูดาวลาซียา ปัจจุบันถือว่าเป็นอุปกรณ์ค้นหาดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่นที่เที่ยงตรงที่สุดบนโลก มีความละเอียดพอที่จะตรวจจับความเร็วที่ผันแปรไปเพียง 2-3 เมตรต่อวินาทีซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับระดับของสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นในสเปกโทรกราฟทั่วไปเท่านั้น

    ระบบสุริยะของ เอชดี 69830 มีความคล้ายคลึงกับระบบสุริยะของเราหลายอย่างจึงนับเป็นระบบที่น่าสนใจเป็นพิเศษ การศึกษาระบบของดาวดวงนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงความหลากหลายของระบบสุริยะได้ดีที่สุดในบรรดาระบบสุริยะอื่นทั้งหมดนับแต่ที่พบเป็นครั้งแรกเมื่อ 11 ปีก่อน

ผังแสดงวงโคจรของระบบสุริยะเอชดี 68930 นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ทั้งสามมีต้นกำเนิดอยู่ห่างกว่าตำแหน่งปัจจุบัน (เส้นประ) สองดวงในเกิดขึ้นที่ระยะใกล้กว่าแนวน้ำแข็ง จึงประกอบด้วยหินเป็นหลักและมีแก๊สปกคลุม ส่วนดวงนอกสุดเกิดขึ้นพ้นแนวน้ำแข็ง โครงสร้างภายในจึงมีชั้นน้ำแข็งหนาอยู่ระหว่างแกนหินและเปลือกแก๊ส

ผังแสดงวงโคจรของระบบสุริยะเอชดี 68930 นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ทั้งสามมีต้นกำเนิดอยู่ห่างกว่าตำแหน่งปัจจุบัน (เส้นประ) สองดวงในเกิดขึ้นที่ระยะใกล้กว่าแนวน้ำแข็ง จึงประกอบด้วยหินเป็นหลักและมีแก๊สปกคลุม ส่วนดวงนอกสุดเกิดขึ้นพ้นแนวน้ำแข็ง โครงสร้างภายในจึงมีชั้นน้ำแข็งหนาอยู่ระหว่างแกนหินและเปลือกแก๊ส

ที่มา: