สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บันทึกซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 ของอินเดียนแดง

บันทึกซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 ของอินเดียนแดง

22 มิ.ย. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อหนึ่งสหัสวรรษที่แล้ว บรรพบุรุษของเราได้มีโอกาสเห็นดาวดวงหนึ่งทางท้องฟ้าซีกใต้ที่สว่างที่สุดในประวัติศาสตร์ มีความสว่างถึงประมาณหนึ่งในสี่ของพระจันทร์เต็มดวง มีบันทึกถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นจากบันทึกของชาวเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

นักดาราศาสตร์ยุคปัจจุบันพิสูจน์ได้ว่าดาวสว่างที่บันทึกนั้นมีอยู่จริง ความจริงเป็นซูเปอร์โนวาหรือดาวระเบิด เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1006 จึงมีชื่อว่า ซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 เกิดขึ้นห่างจากโลก 7,100 ปีแสง คาดว่าขณะระเบิดมีอันดับความสว่างสูงสุดถึง -7.5

ซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สว่างที่สุดที่มนุษย์เคยมองเห็นในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา แต่น่าแปลกที่แม้จะมีบันทึกจากหลายอารยธรรมและหลายส่วนของโลก แต่ไม่พบว่ามีบันทึกของชาวอเมริกันพื้นเมืองเลย

จอห์น บาเรนไทน์ จากหอดูดาวอาปาเชพอยนต์ในนิวเม็กซิโกและกิลเบิร์ต เอสเคอร์โด จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ในทูซอน เชื่อว่าเขาได้พบบันทึกซูเปอร์โนวาครั้งนั้นฉบับอเมริกันพื้นเมืองแล้ว ถ้าเป็นจริง การค้นพบครั้งนี้ก็เป็นยืนยันว่าชาวอเมริกันพื้นเมืองก็รู้จักบันทึกเหตุการณ์บนฟากฟ้ามาตั้งแต่โบราณกาลเหมือนกัน

บันทึกนี้เป็นภาพสลักบนก้อนหิน อยู่ในอุทยานไวท์แทงกส์ ใกล้เมืองฟีนิกส์ มลรัฐแอริโซนา พื้นที่นี้ครอบครองโดยชาวโฮโฮแคม ในช่วงปีค.ศ. 500-1100 ภาพสลักแสดงวง ๆ หนึ่งที่มีเส้นแฉกเป็นแนวรัศมีอยู่ใต้สัญลักษณ์รูปแมงป่อง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นภาพของดาวสว่างที่เกิดขึ้นใกล้รูปแมงป่องบนท้องฟ้า และซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 ก็อยู่ในกลุ่มดาวหมาป่า ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มดาวแมงป่อง

การค้นคว้าขั้นต่อไปคือการหาอายุของภาพสลักนี้โดยกระบวนการทางเคมี หากผลออกมาปรากฏว่าภาพสลักนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก็ทำให้สมมุติฐานว่าภาพนี้เกี่ยวข้องกับซูเปอร์โนวาน่าเชื่อมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ เคยมีการค้นพบภาพบนแผ่นหินคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในนิวเม็กซิโกมาแล้วหลายก้อน หนึ่งในจำนวนนั้นที่มีชื่อเสียงมากคือก้อนที่มีรูปดาวแฉกและจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้กัน พบในอนุสรณ์สถานแห่งชาติหุบเขาชาโค นักดาราศาสตร์เคยสงสัยว่าอาจเป็นภาพของท้องฟ้าในเช้าวันหนึ่งเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1054 ซึ่งจันทร์เสี้ยวปรากฎใกล้ซูเปอร์โนวาปี 1054 (ซูเปอร์โนวาที่เป็นต้นกำเนิดของเนบิวลาปู) อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้ไม่ได้รับการยอมรับมากนักแล้ว
ก้อนหินแกะสลักก้อนนี้อาจเป็นการฉลองครบรอบ 1000 ปีของซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 ดาวสว่างมีประกายแฉกทางกลางภาพเยื้องไปทางขวาอาจเป็นซูเปอร์โนวาดวงนั้น ดาวทางด้านบนและทางซ้ายอาจเป็นกลุ่มดาวแมงป่อง (ภาพจาก John Barentine, Apache Point Observatory)

ก้อนหินแกะสลักก้อนนี้อาจเป็นการฉลองครบรอบ 1000 ปีของซูเปอร์โนวาแห่งปี 1006 ดาวสว่างมีประกายแฉกทางกลางภาพเยื้องไปทางขวาอาจเป็นซูเปอร์โนวาดวงนั้น ดาวทางด้านบนและทางซ้ายอาจเป็นกลุ่มดาวแมงป่อง (ภาพจาก John Barentine, Apache Point Observatory)

ภาพจำลองของท้องฟ้าวันที่ 1 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1006 ณ สถานที่ที่พบก้อนหินแกะสลัก ซูเปอร์โนวาอยู่ที่ขอบฟ้ากลางภาพ โดยมีกลุ่มดาวแมงป่องพาดเป็นแนวโค้งทางซ้ายและด้านบน (ภาพจาก Gilbert A. Esquerdo, Planetary Science Institute, Tucson, and SAO)

ภาพจำลองของท้องฟ้าวันที่ 1 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1006 ณ สถานที่ที่พบก้อนหินแกะสลัก ซูเปอร์โนวาอยู่ที่ขอบฟ้ากลางภาพ โดยมีกลุ่มดาวแมงป่องพาดเป็นแนวโค้งทางซ้ายและด้านบน (ภาพจาก Gilbert A. Esquerdo, Planetary Science Institute, Tucson, and SAO)

ที่มา: