สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์คล้ายโลกในเขตเอื้ออาศัยรอบดาวดวงอื่นดวงแรก

ดาวเคราะห์คล้ายโลกในเขตเอื้ออาศัยรอบดาวดวงอื่นดวงแรก

26 เม.ย. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในที่สุดกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ของนาซา ก็พบสิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักที่พยายามค้นหามานานนับปีแล้ว นั่นคือ ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงโลกในระบบสุริยะอื่นที่อยู่ในเขตเอื้ออาศัย
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์-186 เอฟ (Kepler-186f) เป็นบริวารของดาวแคระแดงดวงหนึ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นดาวฤกษ์ชนิดสเปกตรัมเอ็ม ซึ่งเป็นชนิดดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ดาราจักรทางช้างเผือก คาดว่ามีถึง 70 เปอร์เซ็นต์
นักวิทยาศาสตร์ให้นิยามคำว่าเขตเอื้ออาศัยไว้ว่า เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ในระยะพอเหมาะ มีอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่ทำให้น้ำบนพื้นผิวของดาวเคราะห์อยู่ในสภาพของเหลวได้ 
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่โคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัยมาแล้ว แต่ดาวเคราะห์เหล่านั้นล้วนมีขนาดใหญ่ ดวงที่เล็กที่สุดในจำนวนนั้นใหญ่กว่าโลกไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์  ส่วนเคปเลอร์-186 มีขนาดใกล้เคียงโลกมากกว่า
เคปเลอร์-186 เอฟ เป็นบริวารของดาวแคระแดงชื่อ เคปเลอร์-186 มีคาบการโคจร 130 วัน ที่ผิวดาวเคราะห์ได้รับพลังงานประมาณหนึ่งในสามของที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ หากไปยืนบนดาวเคราะห์ดวงนี้ตอนใกล้เที่ยง จะมองเห็นดาวเคปเลอร์-186 ซึ่งเป็นดวงอาทิตย์ของที่นั่นสว่างใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ที่มองจากโลกในเวลาก่อนลับขอบฟ้าประมาณ ชั่วโมง
เอลิซา ควินทานา นักวิจัยจากสถาบันเซตีของนาซา กล่าวว่า "ดาวแคระชนิดเอ็มเป็นชนิดที่มีมากที่สุด นี่อาจเป็นสัญญาณแรกที่บ่งชี้ว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นน่าจะมาจากดาวเคราะห์ของดาวแคระชนิดเอ็ม"
อย่างไรก็ตาม ทอมัส บาร์เคลย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเบย์แอเรียของศูนย์วิจัยเอมส์ ให้ข้อสังเกตว่า "การที่ดาวเคราะห์โคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัย ไม่ได้แปลว่าดาวเคราะห์นั้นจะอยู่อาศัยได้ อุณหภูมิบนดาวเคราะห์ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของบรรยากาศอย่างมาก" 
แม้จะทราบขนาดของเคปเลอร์-186 เอฟ แต่ยังไม่ทราบมวลและองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานเชิงสถิติบ่งชี้ว่าดาวเคราะห์ขนาดเท่านี้น่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน
ระบบสุริยะเคปเลอร์-186 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 500 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวหงส์ นอกจากเคปเลอร์-186 เอฟแล้ว ระบบนี้ยังมีดาวเคราะห์อีกสี่ดวง ได้แก่ เคปเลอร์-186 บี, เคปเลอร์-186 ซี, เคปเลอร์-186 ดี และ เคปเลอร์-186 อี ซึ่งมีการค้นพบไปก่อนหน้านี้ ดาวเคราะห์ร่วมครอบครัวทั้งสี่นี้ล้วนแต่ร้อนเกินกว่าจะเป็นเขตเอื้ออาศัย เนื่องจากโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก มีคาบโคจร 4, 7, 13 และ 22 วันตามลำดับ
ภาพวาดในจินตนาการของเคปเลอร์-186 เอฟ (Kepler-186f) ดาวเคราะห์ต่างระบบขนาดเท่าโลกที่โคจรในเขตเอื้ออาศัย

ภาพวาดในจินตนาการของเคปเลอร์-186 เอฟ (Kepler-186f) ดาวเคราะห์ต่างระบบขนาดเท่าโลกที่โคจรในเขตเอื้ออาศัย

ผังเปรียบเทียบระหว่างระบบสุริยะของเรากับระบบสุริยะของเคปเลอร์-186

ผังเปรียบเทียบระหว่างระบบสุริยะของเรากับระบบสุริยะของเคปเลอร์-186

ที่มา: