สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวแคระน้ำตาลใกล้บ้าน

ดาวแคระน้ำตาลใกล้บ้าน

26 พ.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเทียมไวส์กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ได้ค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นดาวแคระน้ำตาลที่เย็นที่สุดเท่าที่รู้จัก และยังอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเพียง 7.2 ปีแสงเท่านั้น
ดาวแคระน้ำตาลดวงนี้ชื่อ ไวส์ เจ085510.83-071442.5 (WISE J085510.83-071442.5)
ดาวแคระน้ำตาล เป็นวัตถุที่มีต้นกำเนิดแบบเดียวกับดาวฤกษ์ แต่มีมวลน้อยเกินกว่าที่จะจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่แกนกลางได้ แม้กระนั้นดาวแคระน้ำตาลทั่วไปก็ยังมีความร้อน ยังเปล่งแสงออกมาได้จากกระบวนการอื่น ดาวแคระน้ำตาลที่อุณหภูมิต่ำที่สุดที่เคยค้นพบมีอุณหภูมิพื้นผิวใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้องบนโลกเท่านั้น แต่นั่นก็ยังไม่แปลกเท่ากับ ไวส์ เจ085510.83-071442.5 ที่มีอุณหภูมิหนาวยะเยือกถึง -48 ถึง -13 องศาเซลเซียส
เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่แม้จะมีการสำรวจท้องฟ้าอย่างละเอียดละออมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังมีวัตถุใกล้บ้านที่ยังหลงหูหลงตาให้พบอยู่อีก ทั้งนี้เป็นเพราะสายตาอันเฉียบคมของดาวเทียมไวส์และสปิตเซอร์ ทำให้ตรวจจับวัตถุที่เย็นเฉียบและมืดมิดเช่นนี้ได้
ไวส์สำรวจท้องฟ้าในย่านความยาวคลื่นย่านอินฟราเรดถึงสองรอบ ในบางพื้นที่อาจมากถึงสามรอบ วัตถุที่อาจมองไม่เห็นในย่านความยาวคลื่นปกติกลับมองเห็นได้เด่นชัดในภาพแสงอินฟราเรด
เมื่อนักวิทยาศาสตร์สังเกตพบจุดแสงของ ไวส์ เจ 085510.83-071442.5 เป็นครั้งแรก สังเกตเห็นว่าวัตถุดวงนี้เปลี่ยนตำแหน่งเร็วมาก จึงได้สังเกตเพิ่มเติมด้วยกล้องสปิตเซอร์และเจมิไนใต้ที่ตั้งอยู่ในชิลี ข้อมูลจากสปิตเซอร์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วัดอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ และเมื่อประมวลข้อมูลจากไวส์และสปิตเซอร์ที่สังเกตวัตถุดวงนี้จากตำแหน่งต่าง ๆ ในวงโคจรรอบโลกเข้าด้วยกัน ทำให้วัดแพรัลแลกซ์ ได้ ซึ่งผลก็คือระยะห่างของวัตถุดวงนี้นั่นเอง 
ดาวไวส์ เจ 085510.83-071442.5 มีมวลอยู่ประมาณ 3-10 เท่าของดาวพฤหัสบดี ด้วยมวลระดับนี้ ทำให้มีความคล้ายดาวเคราะแก๊สยักษ์ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นดาวเคราะห์ของระบบสุริยะที่ใดที่หนึ่งที่หลุดออกมาเป็นดาวเคราะห์อิสระ แต่นักดาราศาสตร์ยังคงให้น้ำหนักไปที่ดาวแคระน้ำตาลมากกว่า เนื่องจากดาวแคระน้ำตาลเป็นวัตถุที่พบได้ทั่วไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง วัตถุดวงนี้ก็จะเป็นดาวแคระน้ำตาลที่มีมวลต่ำที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่รู้จัก
ผังแสดงระยะห่างของดาวฤกษ์และวัตถุคล้ายดาวฤกษ์ใกล้ดวงอาทิตย์

ผังแสดงระยะห่างของดาวฤกษ์และวัตถุคล้ายดาวฤกษ์ใกล้ดวงอาทิตย์

ที่มา: