สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ซูเปอร์โลกกลายเป็นซูเปอร์ไอโอ

ซูเปอร์โลกกลายเป็นซูเปอร์ไอโอ

7 มี.ค. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อต้นปีที่แล้ว มีการพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีลักษณะใกล้เคียงโลกมากที่สุด 
ดาวเคราะห์นี้มีชื่อว่า คอรอต-7 บี (CoRoT-7b) 
แต่การศึกษาในระยะต่อมา เริ่มพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ดูจะไม่ค่อยคล้ายโลกสักเท่าไหร่ แต่กลับใกล้เคียงดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีมากกว่า 
ดวงจันทร์ไอโอโคจรอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีมาก จึงถูกแรงน้ำขึ้นลง (tidal force) ของดาวพฤหัสดีเค้นคลึงอย่างหนักจนร้อนระอุไปทั้งดวง และจากการศึกษาของ รอรี บานส์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ณ ซีแอตเทิล ก็พบว่า คอรอต-7 บี น่าจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับไอโอ
ยิ่งกว่านั้น สภาพของคอรอต-7 บี อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าไอโอ เนื่องจากโคจรรอบดาวฤกษ์ในระยะใกล้ชิด ไม่ได้โคจรรอบดาวเคราะห์อย่างไอโอ ความร้อนจากดาวฤกษ์จึงช่วยเผาคอรอต-7 บี ให้อีกแรงหนึ่งจนมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 1,000 1,500 องศาเซลเซียส 
"ความร้อนระดับนี้ มากพอที่จะทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีบึงหรือแม้แต่มหาสมุทรของหินหนืดได้เลยทีเดียว" บานส์กล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบการหมุนรอบตัวเองเท่ากับการโคจรรอบดาวฤกษ์ นั่นหมายความว่ามีเพียงด้านเดียวเท่านั้นที่หันเข้าหาดาวฤกษ์ ทำนองเดียวกับที่ดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าหาโลก
"ด้านหนึ่งของดาวเคราะห์อาจมีพื้นผิวหลอมเหลว ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เดือดคลั่งจากภูเขาไฟ" บานส์อธิบายต่อ
นักดาราศาสตร์ค้นพบคอรอต-7 บี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศของฝรั่งเศสชื่อ คอรอต ซึ่งค้นหาดาวเคราะห์โดยการสังเกตการลดลงของแสงดาวฤกษ์ที่เกิดจากดาวเคราะห์ผ่านหน้า นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบประกาศว่านี่คือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่เล็กที่สุดที่เคยค้นพบมา มีขนาดใหญ่กว่าโลกเพียงสองเท่า 
ต่อมาเมื่อนักดาราศาสตร์วัดมวลและความหนาแน่นของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ จึงยืนยันได้ว่ามันเป็นดาวเคราะห์หิน และกำหนดประเภทของดาวเคราะห์สำหรับเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ซูเปอร์โลก"
แต่ถึงตอนนี้ นักดาราศาสตร์คงต้องเปลี่ยนประเภทเสียใหม่เป็น "ซูเปอร์ไอโอ"
คอรอต-7 บี อยู่ห่างจากโลกมากเกินกว่าที่เทคโนโลยีในปัจจุบันจะติดตามการโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ ดังนั้นสภาพที่แท้จริงของ คอรอต-7 บี ก็คงจะต้องเป็นปริศนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม บานส์ยังฝากความหวังไว้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ว่ากล้องนี้น่าจะมองเห็นพวยแก๊สมหึมาที่พ่นออกมาจากภูเขาไฟบนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้บ้าง แม้จะยอมรับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งยวดก็ตาม
ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 1 ดาวเคราะห์คอรอต-7 บี (CoRoT-7b) อาจมีลักษณะใกล้เคียงกับดวงจันทร์ดวงนี้

ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 1 ดาวเคราะห์คอรอต-7 บี (CoRoT-7b) อาจมีลักษณะใกล้เคียงกับดวงจันทร์ดวงนี้ (จาก NASA/JPL)

ที่มา: