สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงวาบลึกลับบนดาวพฤหัสบดี

แสงวาบลึกลับบนดาวพฤหัสบดี

17 มิ.ย. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ มิถุนายน 2553 ได้เกิดเหตุบางอย่างขึ้นกับดาวพฤหัสบดี เกิดจุดสีขาวสว่างวาบขึ้นบนยอดเมฆจนมองเห็นได้แม้แต่จากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบนโลก เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ได้ในกล้องวิดีโอโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั้งจากออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางเข้าชน
หนึ่งในผู้ที่ถ่ายภาพแสงวาบครั้งนี้ได้บรรยายเหตุการณ์ว่า แสงวาบเกิดขึ้นแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอยเหมือนกับว่ามันจมลงไปทั้งดวง 
"การที่ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้นับเป็นเรื่องแปลก นักดาราศาสตร์เคยเห็นการพุ่งชนดาวพฤหัสมาก่อนแล้ว และการชนทุกครั้งจะต้องทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง" เกลน ออร์ตัน นักวิทยาศาสตร์จากเจพีแอลตั้งข้อสงสัย
ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่ชิ้นส่วนดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี ชนดาวพฤหัสบดีในปี 2537 หลังการชนมองเห็นดวงจ้ำขึ้นบนบรรยากาศที่ตำแหน่งชน ซึ่งประกอบด้วยเศษชิ้นส่วนดาวหางที่แตกสลายปนกับแก๊สบนบรรยากาศดาวพฤหัสบดี และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนี้เองก็มีวัตถุพุ่งชนดาวพฤหัสบดีอีกครั้ง ซึ่งก็ทิ้งรอยคล้ายกันไว้เช่นกัน
คำอธิบายหนึ่งก็คือ แสงวาบนั้นไม่ได้เกิดจากวัตถุใดพุ่งชน หากแต่เป็นฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดี 
แต่ออร์ตันไม่เห็นด้วยกับสมมุติฐานฟ้าแลบ ด้วยเหตุผลคือ ยานสำรวจของนาซาได้เคยเห็นฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งล้วนแต่พบในด้านกลางคืน ไม่เคยพบในด้านที่เป็นกลางวันเลย ฟ้าแลบที่จะเกิดในด้านกลางวันแล้วสว่างอย่างที่พบนั้นจะต้องรุนแรงกว่าฟ้าแลบที่เคยพบเห็นอย่างมากมายเกินจินตนาการ ซึ่งดาวพฤหัสบดีก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์รุนแรงเช่นนั้นไม่ได้
ปรากฏการณ์นี้มีการบันทึกภาพได้จากหลายพื้นที่ต่างกัน เช่นในออสเตรเลีย และในฟิลิปปินส์ ดังนั้นสมมุติฐานที่ว่าแสงวาบนั้นเกิดขึ้นบนบรรยากาศโลกที่บังเอิญมีดาวพฤหัสบดีอยู่ฉากหลังพอดีนั้นก็ต้องตกไปเช่นกัน แสงนี้จะต้องเกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดีอย่างแน่นอน
จุดแสงเกิดที่ละติจูดที่เป็นกึ่งกลางของแถบศูนย์สูตรด้านใต้ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในสองแถบขนาดใหญ่ของดาวเคราะห์ดวงนี้ และแถบใต้นี้เองก็เพิ่งเป็นข่าวไปไม่นาน เนื่องจากจู่ ๆ แถบใต้ที่เคยเป็นแถบคล้ำก็หายไป เหลือไว้เพียงพื้นผิวขาวนวลเนียนดูแปลกตา ออร์ตันอธิบายว่า ความจริงแถบนี้ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกปกคลุมด้วยเมฆเซอร์รัสระดับสูงชั่วคราวเท่านั้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่มองไม่เห็นร่องรอยจากการชนก็เพราะว่าถูกเมฆเซอร์รัสบังไปเหมือนกัน
ออร์ตันไม่คิดเช่นนั้น เพราะแสงวาบเกิดขึ้นที่ระดับสูงกว่าระดับเมฆเซอร์รัสเสียอีก ฉะนั้น ถ้ามีก็ต้องเห็น 
ตอนนี้เหลือสมมุติฐานเดียวที่น่าจะใช้ได้นั่นคือ วัตถุที่พุ่งชนมีขนาดเล็ก จึงทิ้งเศษวัสดุไว้น้อย
เพื่อให้หายสงสัย นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลช่วยติดตามหาซากการชนในวันที่ มิถุนายน แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ช่วยคลี่คลายอะไร แม้แต่กล้องที่มีความไวสูงอย่างฮับเบิลก็ยังมองไม่เห็นร่องรอยใด ๆ 
นี่อาจหมายความว่าวัตถุที่พุ่งชนไม่ได้ทะลวงเข้าไปใต้เมฆแล้วระเบิดเป็นลูกไฟยักษ์อย่างที่คาดคิดกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้น การระเบิดจะต้องทิ้งร่องรอยเป็นเถ้าสีคล้ำขึ้นมาเหนือเมฆแล้วตกลงไปบนยอดเมฆให้เห็นแล้ว  
ปริศนาแสงวาบบนดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ มิถุนายน ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
ภาพแสงวาบบนดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เกิดขึ้นตรงตำแหน่งที่เคยมีแถบคล้ำด้านใต้

ภาพแสงวาบบนดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เกิดขึ้นตรงตำแหน่งที่เคยมีแถบคล้ำด้านใต้ (จาก Anthony Wesley of Broken Hill, Australia)

ก้อนเมฆดำที่เกิดจากเศษของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในปี 2537

ก้อนเมฆดำที่เกิดจากเศษของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีในปี 2537

ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีจากกล้องมุมกว้าง 3 ของฮับเบิล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ในกรอบเล็กแสดงพื้นที่บริเวณที่เกิดแสงวาบขึ้นเมื่อวันที่ 3 แต่ไม่มีร่องรอยของการชนใด ๆ

ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีจากกล้องมุมกว้าง 3 ของฮับเบิล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ในกรอบเล็กแสดงพื้นที่บริเวณที่เกิดแสงวาบขึ้นเมื่อวันที่ 3 แต่ไม่มีร่องรอยของการชนใด ๆ (จาก NASA, ESA)

ดาวพฤหัสบดีในยามปกติ มีแถบคล้ำขนาดใหญ่สองแถบ แต่ตอนนี้แถบคล้ำด้านใต้ได้หายไปแล้ว คาดว่าเกิดจากมีเมฆเซอร์รัสบดบังอยู่ชั่วคราว

ดาวพฤหัสบดีในยามปกติ มีแถบคล้ำขนาดใหญ่สองแถบ แต่ตอนนี้แถบคล้ำด้านใต้ได้หายไปแล้ว คาดว่าเกิดจากมีเมฆเซอร์รัสบดบังอยู่ชั่วคราว

ที่มา: