สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์ใหม่ ชื่อสุดเซ็กซี่

พบดาวเคราะห์ใหม่ ชื่อสุดเซ็กซี่

24 ส.ค. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเดือนที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์จากคาลเทคได้รายงานว่า ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงใหม่ ดวง ในจำนวนนี้ เป็นบริวารของดาวเอชดี 200964 สองดวง และเป็นบริวารของดาว 24 เซกซ์แทนต์อีกสองดวง
ดาวเอชดี 200964 เป็นดาวฤกษ์อายุมากใกล้สิ้นอายุขัย อยู่ห่างจากโลก 223 ปีแสง ดาวเคราะห์สองดวงของดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีทั้งคู่ โคจรอยู่ห่างกันแค่ 52.3 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะใกล้กันมากที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยพบเห็น  ลองเปรียบเทียบกับดาวยักษ์คู่ระบบสุริยะของเรา ดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ อยู่ห่างกัน 531 ล้านกิโลเมตร
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยคิดว่าจะได้พบเห็น เพราะดาวเคราะห์ยักษ์ที่อยู่ใกล้กันมากเช่นนี้ มีโอกาสที่จะทำลายกันเองได้ง่ายหากโคจรผิดจังหวะ จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าดาวเคราะห์คู่นี้รอดมาได้อย่างไรถึงปัจจุบัน
เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองเป็นดาวเคราะห์ใหญ่มาก และอยู่ใกล้กันมาก อิทธิพลด้านแรงดึงดูดที่มีต่อกันจึงสูงมาก เช่นกรณีของดาวเคราะห์แก๊สคู่นี้ ออกแรงดึงดูดกันแรงกว่าที่โลกดึงดูดดวงจันทร์ถึง 700 เท่า
ส่วนดาวเคราะห์อีกคู่หนึ่งก็โคจรอยู่ใกล้กันมากเช่นกันที่ระยะ 112.6 ล้านกิโลเมตร แต่ดาวคู่นี้ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจมากกว่า โดยเฉพาะต่อสื่อหรือบุคคลนอกวงการดาราศาสตร์ นั่นเพราะชื่อที่แสนสะดุดหูนั่นเอง
ดาวเคราะห์สองดวงนี้ โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ชื่อ 24 เซกซ์แทนต์ ซึ่งหมายถึงเป็นดาวฤกษ์ลำดับที่ 24 ในกลุ่มดาวเซกซ์แทนต์ ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 244 ปีแสง 
ตามธรรมเนียมทั่วไปการตั้งชื่อดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น จะใช้ชื่อของดาวฤกษ์แม่นั้นขึ้นต้น แล้วต่อท้ายด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กหนึ่งตัว เริ่มตั้งแต่ตัวบี (b) ดวงแรกที่ค้นพบ ก็จะได้ตัวบี (b) ดวงที่สองก็ใช้ตัวซี (c) เช่นนี้เรื่อยไป ส่วนอักษรเอ (a) สงวนไว้สำหรับเรียกดาวฤกษ์แม่เอง
ในกรณีบริวารสองดวงของดาว 24 เซกซ์แทนต์ จึงได้ชื่อว่า 24 เซกซ์แทนต์บี (24 Sextantis b) และ 24 เซกซ์แทนต์ซี (24 Sextantis c) ซึ่งเขียนย่อได้เป็น 24 เซกซ์บี (24 Sex b) กับ 24 เซกซ์ซี (24 Sex c) ซึ่งนี่ก็คือที่มาของชื่อชวนสะดุดหูของดาวเคราะห์ดวงนี้นั่นเอง
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแบบดาวพฤหัสบดี <wbr>ตามจินตนาการของศิลปิน<br />

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแบบดาวพฤหัสบดี ตามจินตนาการของศิลปิน
(จาก NASA/JPL-Caltech)

ภาพถ่ายของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น เอชอาร์ 8799 บี ซี และ ดี

ภาพถ่ายของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น เอชอาร์ 8799 บี ซี และ ดี (จาก NASA/JPL-Caltech/Palomar Observatory)

ที่มา: