สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ยานสตาร์ดัสต์พบสิ่งที่อาจเป็นฝุ่นจากนอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก

ยานสตาร์ดัสต์พบสิ่งที่อาจเป็นฝุ่นจากนอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก

16 ก.ย. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งได้กวาดหาอนุภาคจากแผงเก็บฝุ่นของยานสตาร์ดัสต์ พบว่ามีอนุภาค อนุภาคที่น่าจะมาจากนอกระบบสุริยะ หรือที่เรียกว่า ฝุ่นระหว่างดาว ซึ่งอาจเกิดจากการซูเปอร์โนวาเมื่อหลายล้านปีก่อนและผ่านการแปรสภาพโดยสภาพแวดล้อมอันสุดขั้วในอวกาศ ถ้าเป็นจริง อนุภาคเหล่านี้ก็จะเป็นตัวอย่างฝุ่นจากนอกระบบสุริยะตัวอย่างแรกที่ยืนยันได้
ยานสตาร์ดัสต์ เป็นยานสำรวจดาวหาง มีภารกิจในการเก็บอนุภาคฝุ่นจากดาวหางเพื่อนำกลับมาวิเคราะห์บนโลก ยานได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2542 และกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 หลังจากนั้นกล่องเก็บอนุภาคของยานก็ถูกนำไปเก็บไว้เพื่อการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์
กล่องเก็บอนุภาคของยานมีรูปร่างเหมือนถาดหลุมที่อัดไว้ด้วยวุ้นอากาศที่ทำจากซิลิกา กล่องเก็บอนุภาคนี้เปิดรับอนุภาคจากดาวหางขณะที่ยานเข้าใกล้ดาวหางดวงหนึ่งในระยะ 240 กิโลเมตรในปี 2547 อีกด้านหนึ่งของกล่องเก็บอนุภาคเปิดรับฝุ่นจากนอกระบบสุริยะซึ่งเปิดรับตลอดระยะเวลา ปีของการเดินทางของยาน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่า ฝุ่นเหล่านี้เป็นฝุ่นจากห้วงอวกาศนอกระบบสุริยะของเราจริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นจริง อนุภาคเหล่านี้ก็จะช่วยอธิบายถึงต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของฝุ่นระหว่างดาวได้เป็นอย่างดี
อนุภาคที่พบมีองค์ประกอบทางเคมีหลากหลายกว่าที่นักดาราศาสตร์คาดไว้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะยิ่งอนุภาคยิ่งเล็กยิ่งหลากหลาย ทั้งทางโครงสร้างและประวัติศาสตร์ที่มา ส่วนอนุภาคที่ค่อนข้างใหญ่ขึ้นมา จะไม่แตกต่างกันมากนัก มีโครงสร้างเป็นปุยคล้ายเกล็ดหิมะ
นอกจากเม็ดฝุ่นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังพบแนวของฝุ่นที่ทะลวงเข้าไปในแผงกักฝุ่น แต่ไม่พบเม็ดฝุ่น บางแนวมีทิศทางตรงกับทิศทางที่ยานเคลื่อนที่ เกิดจากอนุภาคที่เคลื่อนที่เร็วมาก อาจเร็วกว่า 16 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อชนจึงระเหยไปจนหมด นอกจากนี้ยังพบแนวฝุ่นที่เกิดจากอนุภาค 29 อนุภาคที่กระทบกับตัวยานแล้วกระดอนมาเข้าแผงกักฝุ่นอีกด้วย
นอกจากนี้ในอลูมินัมฟอยล์ที่อยู่ระหว่างชั้นของแผงกักฝุ่นยังพบว่ามีฝุ่นเกาะอยู่สี่อนุภาค แม้ว่าอลูมินัมฟอยล์ไม่ได้มีหน้าที่เก็บฝุ่นก็ตาม ในจำนวนนี้ สามอนุภาคมีขนาดเพียงไม่กี่สิบไมครอน ประกอบด้วยสารประกอบกำมะถัน ซึ่งนักดาราศาสตร์บางคนยังแย้งว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในฝุ่นระหว่างดาว คณะตรวจสอบเบื้องต้นมีแผนที่จะวิเคราะห์ฟอยล์อีก 95 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเพื่อดูว่าอาจมีอนุภาคอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อที่จะได้เข้าใจความหลากหลายในต้นกำเนิดของฝุ่นระหว่างดาว
ซูเปอร์โนวา ดาวยักษ์แดง และดาววิวัฒน์ เป็นวัตถุที่ปล่อยฝุ่นออกมา และสร้างธาตุหนักจำพวกคาร์บอน ไนโตรเจน และออกซิเจนที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต อนุภาคสองอนุภาคที่พบในครั้งนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเรียกเล่น ๆ ให้แล้วว่า โอไรอัน กับ ไฮลาบรูก จะถูกตรวจสอบปริมาณของไอโซโทปออกซิเจน ซึ่งจะเป็นหลักฐานชั้นดีที่จะยืนยันได้ว่า เป็นฝุ่นจากนอกระบบสุริยะจริงหรือไม่
แนวทางฝุ่นระหว่างดาวที่ใหญ่ที่สุดที่พบในแผงกักฝุ่นของยานสตาร์ดัสต์ แนวเส้นนี้มีความลึก 35 ไมครอน อนุภาคที่ทำให้เกิดแนวร่องนี้อาจมาจากนอกระบบสุริยะ

แนวทางฝุ่นระหว่างดาวที่ใหญ่ที่สุดที่พบในแผงกักฝุ่นของยานสตาร์ดัสต์ แนวเส้นนี้มีความลึก 35 ไมครอน อนุภาคที่ทำให้เกิดแนวร่องนี้อาจมาจากนอกระบบสุริยะ

ยานสตาร์ดัสต์

ยานสตาร์ดัสต์

ที่มา: