สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์จอมอึด โดนดาวกลืนแล้วยังรอด

พบดาวเคราะห์จอมอึด โดนดาวกลืนแล้วยังรอด

This discovery can help us learn about the future of planetary systems including ours.

28 ธ.ค. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์คณะหนึ่ง นำโดย สตีฟ คาวาเลอร์ จากมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตต ได้สำรวจการกระเพื่อมของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งชื่อ เคไอซี 05807616 (KIC 05807616) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์อายุมากที่ผ่านพ้นช่วงของการเป็นดาวยักษ์แดงมาได้สองปี และได้พบสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน นั่นคือดาวเคราะห์ที่รอดพ้นจากการถูกดาวฤกษ์กลืน
ดาวยักษ์แดงคือดาวฤกษ์ที่พองขึ้นจนมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนับพันเท่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในดาวฤกษ์มวลปานกลางเมื่อถึงเวลาที่ใกล้หมดอายุขัย ดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นดาวฤกษ์ที่จะต้องกลายเป็นดาวยักษ์แดงเช่นกันในอีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้น ดวงอาทิตย์จะกลืนกินดาวเคราะห์ชั้นในอย่างดาวพุธ ดาวศุกร์ และอาจรวมถึงโลกด้วย
นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวได้สังเกตพบการผันแปรของความสว่างสองชุดที่มีคาบ 5.76 และ 8.23 ชั่วโมง บนดาวเคไอซี 05807616 จึงได้ลองเปรียบเทียบข้อมูลที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านี้โดยเคปเลอร์เหมือนกัน และพบว่าข้อมูลทั้งสองชุดพ้องกัน
แสดงว่าความผันแปรนั้นเกิดขึ้นจริง ไม่ได้เกิดจากการวัดผิดพลาด แต่ปัญหาคือ มันเกิดจากอะไร?
คาวาเลอร์เคยศึกษาคาบการกระเพื่อมของดาวฤกษ์มาก่อน เขาทราบว่าความผันแปรรายคาบตามที่เคปเลอร์ตรวจพบนั้นช้าเกินกว่าจะเกิดจากการกระเพื่อมของดาวฤกษ์ได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้แสงจากดาวฤกษ์มีความผันแปรนั้นต้องเกิดจากสาเหตุอื่น 
นักดาราศาสตร์เชื่อว่าความสว่างที่ผันแปรของดาวเกิดจากดาวเคราะห์สองดวง ชื่อว่า เคโอไอ 55.01 และ เคโอไอ 55.02 แสงจากดาวที่สะท้อนพื้นผิวดาวเคราะห์ และอุณหภูมิที่แตกต่างระหว่างด้านกลางวันและกลางคืนของดาวเคราะห์ ซึ่งคำนวณต่อไปได้ว่า ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ มีขนาดเล็กกว่าโลก ดวงหนึ่งมีขนาด 76 เปอร์เซ็นต์ และอีกดวงหนึ่งมีขนาด 87 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น นับเป็นหนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่เล็กที่สุด
ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ 0.6 และ 0.76 เปอร์เซ็นต์ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เท่านั้น นั่นหมายความว่าสภาพบนดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ต้องร้อนสุดขีดซึ่งประมาณได้ว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 9,000 องศาเซลเซียส
ที่น่าสนใจก็คือ ด้วยรัศมีวงโคจรเพียงเท่านี้ หมายความว่าช่วงที่ดาวฤกษ์ได้กลายเป็นดาวยักษ์แดง ดาวได้กลืนดาวเคราะห์ทั้งสองเข้าไปในเนื้อดาวเลยทีเดียว บางทีดาวเคราะห์ทั้งสองนี้อาจเคยเป็นดาวเคราะห์แก๊สแบบดาวพฤหัสบดีมาก่อน แล้วถูกความร้อนจากดาวฤกษ์พลักดันแก๊สที่เปลือกนอกให้หลุดออกไปหมดจนเหลือแต่แกนขนาดเล็กดังที่ปรากฏ สถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอัตราการสูญเสียมวลที่ผิดปรกติของดาวฤกษ์ดวงนี้ด้วย
"นี่เป็นภาพในอนาคตของระบบสุริยะของเราในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า" คาวาเลอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังปัญหาต่อไปที่ยังรอคำตอบก็คือ ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้รอดจากสภาพอันเลวร้ายมาได้อย่างไร 
ดาวเคราะห์รอดจากการถูกดาวฤกษ์กลืนไปในช่วงที่เป็นดาวยักษ์แดง

ดาวเคราะห์รอดจากการถูกดาวฤกษ์กลืนไปในช่วงที่เป็นดาวยักษ์แดง (จาก Stéphane Charpinet/Institut de Recherche en Astrophysique et Planétologie in Toulouse, France)

ที่มา: