สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาราจักรถั่วเขียว

ดาราจักรถั่วเขียว

Nicknamed “green bean galaxies” because of their unusual appearance, these galaxies glow in intense light emitted from the surro

24 ธ.ค. 2555
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้พบดาราจักรประเภทใหม่ จากการใช้กล้องวีแอลที กล้องเจมิไนใต้ และกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย 

มิสชา ชีร์เมอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจมิไนในฮีโล ฮาวาย ได้สำรวจภาพถ่ายดาราจักรที่อยู่ห่างไกลจำนวนมากเพื่อค้นหากระจุกดาราจักร แต่เมื่อมาพบกับภาพของวัตถุดวงหนึ่ง เขาถึงกับตะลึง เพราะวัตถุที่พบนั้นดูเผิน ๆ คล้ายดาราจักร แต่กลับมีสีเขียวสด ซึ่งไม่เหมือนดาราจักรอื่นที่เขาเคยพบที่ไหนมาก่อน เขาได้ใช้กล้องวีแอลทีของอีเอสโอสำรวจซ้ำเพื่อค้นหาคำตอบว่าสีเขียวประหลาดนั้นมีที่มาจากอะไร

ดาราจักรนี้ได้ชื่อว่า เจ 224024.1-092748 (เจ 2240) J224024.1-092748 (J2240) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ อยู่ห่างจากโลก 3.7 พันล้านปีแสง แม้จะยังไม่ทราบที่มาของลักษณะที่แปลกประหลาด แต่ดาราจักรประเภทใหม่นี้ก็มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ อย่างน่ากินว่า "ดาราจักรชนิดถั่วเขียว" เนื่องจากลักษณะที่ปรากฏ 

ดาราจักรชนิดถั่วเขียวเป็นดาราจักรที่พบได้น้อยมาก โดยเฉลี่ยแล้วพบเพียงหนึ่งดาราจักรต่อ 2.2 พันล้านล้านล้านล้านลูกบาศก์ปีแสง

ในดาราจักรหลายแห่ง สสารรอบหลุมดำยักษ์ที่ใจกลางดาราจักรแผ่รังสีรุนแรงและทำให้แก๊สรอบข้างกลายเป็นไอออน ด้วยเหตุนี้บริเวณรอบหลุมดำจึงสว่างจ้า ในดาราจักรทั่วไปบริเวณสว่างจ้าดังกล่าวมักเป็นเพียงบริเวณแคบ ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งดาราจักร แต่ในกรณีของ เจ 2240 และดาราจักรถั่วเขียวดาราจักรอื่น ๆ ที่พบ บริเวณส่องสว่างดังกล่าวจะแผ่กว้างมากจนเต็มทั้งดาราจักร การที่มีพื้นที่ส่องสว่างมาก ดาราจักรชนิดนี้จึงสว่างมาก มองเห็นได้จากระยะไกล ๆ ส่วนสีเขียวของดาราจักรชนิดนี้เกิดจากไอออนออกซิเจน

นอกจากนี้คณะยังพบความน่าแปลกอีกอย่างหนึ่ง เขาพบว่าดาราจักรเจ 2240 มีหลุมดำใจกลางที่กัมมันต์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก เมื่อเทียบกับความสว่างและขนาดที่มันสร้าง นักดาราศาสตร์จึงตั้งทฤษฎีว่าบริเวณส่องสว่างนั้นอาจเป็นสิ่งหลงเหลือจากอดีตซึ่งหลุมดำยักษ์ยังกัมมันต์กว่านี้มาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าดาราจักรพวกนี้ต่อไปจะค่อย ๆ จางลงเมื่อพลังงานที่อ่อนลงแผ่มาแทนที่

นั่นย่อมหมายความว่านักดาราศาสตร์กำลังเห็นกระบวนการปิดตัวเองของดาราจักรกัมมันต์ต่อหน้าต่อตาผ่านการศึกษาดาราจักรประเภทนี้

ภาพดาราจักร เจ 2240 (J2240) จากกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย ดาราจักรนี้อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ห่างจากโลก 3,700 ล้านปีแสง

ภาพดาราจักร เจ 2240 (J2240) จากกล้องแคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย ดาราจักรนี้อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ห่างจากโลก 3,700 ล้านปีแสง (จาก CFHT/ESO/M. Schirmer)

ที่มา: