สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แมงกุดจี่ก็ดูดาวเป็น

แมงกุดจี่ก็ดูดาวเป็น

6 พ.ค. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
แมงกุดจี่ หรือด้วงขี้ควาย เป็นแมลงปีกแข็งที่กินมูลสัตว์เป็นอาหาร เมื่อพบกองมูลสัตว์ มันจะปั้นให้เป็นก้อนกลมและกลิ้งไปยังรังเพื่อจัดการกับอาหารอันโอชะหรือใช้เลี้ยงลูก

การหาทิศทางเพื่อนำอาหารกลับสู่รังด้วยเส้นทางที่ลัดตรงที่สุด เป็นเรื่องสำคัญยิ่งของแมงกุดจี่ เนื่องจากการหาอาหารของแมลงชนิดนี้เป็นเกมที่มีการแย่งชิงกันอย่างดุเดือด

นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งพบว่า แมงกุดจี่ชนิดหนึ่งในแอฟริกาใต้ (Scarabaeus satyrusใช้แสงจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์ และทางช้างเผือก ในการบอกทิศทางเพื่อกลิ้งอาหารกลับรัง 

มีสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่พบว่ารู้จักใช้ดาวในการนำทาง เช่น นก แมวน้ำ และมนุษย์ นี่เป็นครั้งแรกที่พบว่าแมลงใช้ประโยชน์จากดวงดาวด้วย และเป็นครั้งแรกที่พบว่าสัตว์ใช้ทางช้างเผือกในการบอกทิศทาง 

จากการทดลองในภาคสนาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าในคืนที่ฟ้าใส แมงกุดจี่กลิ้งก้อนมูลสัตว์เป็นเส้นทางที่ไม่คดเคี้ยว แต่ในคืนที่ฟ้าปิดมีเมฆปกคลุม เส้นทางกลิ้งมูลจะคดเคี้ยววกวนเหมือนหลงทิศ

แม้จะถูกมองว่าเป็นแมลงที่โสโครกแสนต่ำต้อย แต่สายตาของแมงกุดจี่ก็ทอดยาวไกลไปถึงทางช้างเผือก 

เมื่อทดลองซ้ำโดยนำแมงกุดจี่มาใส่หมวกเพื่อปิดท้องฟ้า บางตัวให้สวมหมวกใส มองทะลุเห็นท้องฟ้าได้ บางตัวสวมหมวกทึบมองไม่เห็นท้องฟ้า ผลปรากฏว่า ตัวที่เห็นท้องฟ้าหาทางกลับบ้านได้ตรงและลัดกว่าตัวที่มองไม่เห็นท้องฟ้า เป็นการยืนยันว่าแมงกุดจี่มองท้องฟ้าในการหาทิศทางจริง แต่สิ่งที่มันใช้จะเป็นดวงดาวหรือไม่ นักดาราศาสตร์ยังตั้งข้อกังขา เนื่องจากแมงกุดจี่มีดวงตาเล็ก ซึ่งไม่น่าจะมีกำลังแยกภาพดีพอจะมองเห็นจุดดาวได้

เพื่อเป็นการพิสูจน์ คณะนักวิจัยจึงย้ายการทดลองไปทำในโดมของท้องฟ้าจำลองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อทดลองซ้ำด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ กัน เช่น ฉายเฉพาะดาวสว่าง ฉายเฉพาะแถบทางช้างเผือก หรือฉายดาวทั้งหมดเลียนแบบฟ้าจริง 

ผลการทดลองในท้องฟ้าจำลองให้ผลสอดคล้องกับภาคสนาม แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อฉายภาพเฉพาะทางช้างเผือกเพียงอย่างเดียว แมงกุดจี่หาทิศทางได้ดีเท่ากับเมื่อฉายภาพดาวทั้งท้องฟ้า ส่วนการฉายภาพแบบอื่นมีประโยชน์ในการบอกทิศน้อยกว่า

ใครที่ยังดูดาวไม่เป็น จงอายแมงกุดจี่

ที่มา: