สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อยสองร่างในหนึ่งเดียว

ดาวเคราะห์น้อยสองร่างในหนึ่งเดียว

23 มี.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเคราะห์น้อยเป็นวัตถุที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมานานแล้ว หนึ่งในสมบัติสำคัญที่นักดาราศาสตร์อยากรับรู้เป็นอย่างมาก ก็คือองค์ประกอบ การได้ทราบว่าดาวเคราะห์น้อยประกอบขึ้นจากอะไร จะเป็นประโยชน์มากหากเกิดกรณีที่มีดาวเคราะห์น้อยดวงใดมุ่งหน้ามาหาโลก ก็จะรู้ว่าจะมีวิธีรับมืออย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด
ดาวเคราะห์น้อย 25143 อิโตะกะวะ (25143 Itokawa) เป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกขนาดย่อมดวงหนึ่ง ยานอวกาศฮะยะบุซะของญี่ปุ่นได้เคยไปสำรวจในระยะใกล้มาแล้วในปี 2548 นอกจากนี้ สตีเฟน ลอรี จากมหาวิทยาลัยเคนต์และคณะ ได้เฝ้ามองดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างละเอียดมาเป็นเวลากว่า 12 ปี ด้วยกล้องโทรทรรศน์เอ็นทีทีขนาด 3.58 เมตร ในลาซียา ประเทศชิลี 
จากการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวเคราะห์น้อยเป็นเวลานาน ทำให้ลอรีและคณะวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์น้อยที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยได้อย่างแม่นยำ ความเปลี่ยนแปลงนี้มีค่าน้อยมาก เพียง 0.045 วินาทีต่อปีเท่านั้น  การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ยาร์คอฟสกี-โอคีฟ-รัดเซียฟสกี-แพดแดก หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ยอร์ป (YORP) 
ปรากฏการณ์ชื่อยาวเหยียดนี้เป็นปรากฏการณ์คล้ายปรากฏการณ์ยาคอฟสกี ที่อธิบายว่าดาวเคราะห์น้อยดูดซับแสงอาทิตย์และคายออกมาอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่าง และองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยนั้น จากการสำรวจอย่างใกล้ชิดของยานฮะยะบุซะ ทำให้นักดาราศาสตร์สร้างแบบจำลองด้านรูปร่างและอุณหภูมิของดาวเคราะห์น้อยนี้ได้ และพบความไม่ธรรมดาของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้
จากแบบจำลองที่สร้างขึ้นมานี้ ลอรีและคณะพบว่าจุดศูนย์กลางมวลของดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะอยู่ห่างจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นไปถึง 21 เมตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุเดียวคือ เนื้อดาวทั้งสองข้างของดาวเคราะห์น้อยมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน และต่างกันถึงเท่าตัว นั่นหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ประกอบขึ้นกับวัตถุสองดวงที่มีองค์ประกอบต่างกันมาเกาะติดกันเป็นวัตถุดวงเดียวที่มีรูปร่างเหมือนเมล็ดถั่ว นักดาราศาสตร์สันนิษฐานมานานแล้วว่าดาวเคราะห์น้อยหลายดวงน่าจะเกิดขึ้นมาจากวัตถุขนาดเล็กมาเกาะติดกันในลักษณะนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานสนับสนุนจากการสำรวจจริง
การค้นพบนี้ไม่ได้หมายความว่าโลกจะมีความเสี่ยงจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนมากขึ้นหรือน้อยลงแต่อย่างใด แต่ข้อมูลใหม่นี้จะมีประโยชน์ในการศึกษาสมบัติต่าง ๆ ของดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น รวมถึงการเบี่ยงเบน และการไปลงจอดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ผังแสดงความหนาแน่นของส่วนประกอบของดาวเคราะห์น้อย 25143 อิโตะกะวะ ((25143) Itokawa)

ผังแสดงความหนาแน่นของส่วนประกอบของดาวเคราะห์น้อย 25143 อิโตะกะวะ ((25143) Itokawa)

ภาพดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะ (Itokawa) จากยานฮะยะบุซะ

ภาพดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะ (Itokawa) จากยานฮะยะบุซะ

ที่มา: