สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โซโฮพบดาวหางดวงที่ 3,000

โซโฮพบดาวหางดวงที่ 3,000

17 ก.ย. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
          เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 หอสังเกตการณ์โซโฮ (SOHO--Solar and Heliospheric Observatory) ได้ค้นพบดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกดวงหนึ่ง
          
          แม้ดาวหางดวงนี้อาจไม่ใช่ดาวหางที่โดดเด่นนัก แต่ก็มีความหมายสำคัญ เพราะเป็นดาวหางดวงที่ 3,000 ที่ค้นพบจากภาพที่ถ่ายโดยหอสังเกตการณ์นี้ จึงนับเป็นหลักชัยที่สง่างามและเป็นการสำแดงให้เห็นว่า โซโฮคือนักล่าดาวหางหมายเลขหนึ่งตลอดกาลที่ไร้ผู้ต่อกร 

          และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ดาวหางดวงที่ 3,000 ของโซโฮนี้ ตรวจพบโดยคนไทยที่ชื่อเป็นที่คุ้นหูในวงการดาราศาสตร์บ้านเราเป็นอย่างดี นั่นคือ นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์ไทย 

          "ผมดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหลักชัยสำคัญนี้ของโซโฮ และขอขอบคุณโครงการโซโฮ อีซา และนาซา ที่ได้ให้โอกาสนี้แก่ผม และขอบคุณสหายนักล่าดาวหางทั่วโลกที่ใด้ให้ความรู้แก่ผมอย่างมากมาย" นายวรเชษฐ์กล่าว

          หอสังเกตการณ์โซโฮ เป็นโครงการร่วมระหว่างอีซาและนาซา เป็นดาวเทียมที่ทำหน้าที่เป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้า มีภารกิจหลักคือการสังเกตดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมนอกชั้นบรรยากาศของโลก โซโฮจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์และบริเวณใกล้เคียงตลอดเวลา เฝ้าสังเกตระดับและความเปลี่ยนแปลงของลมสุริยะ การปะทุต่าง ๆ บนดวงอาทิตย์ เช่น การพ่นมวลคอโรนาหรือซีเอ็มอี นับจากที่โซโฮได้ขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อปี 2538 หอสังเกตการณ์นี้ได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดวงอาทิตย์เป็นอย่างมาก นับเป็นผู้บุกเบิกการสำรวจดวงอาทิตย์ยุคใหม่เลยทีเดียว

          ส่วนบทบาทของการเป็นนักล่าดาวหางของโซโฮถือเป็นผลพลอยได้ที่ไม่ได้อยู่ในภารกิจที่วางไว้แต่แรก การที่ภาพถ่ายดวงอาทิตย์จากกล้องของโซโฮกินพื้นที่รอบดวงอาทิตย์เป็นบริเวณกว้างถึง 40 ล้านกิโลเมตรที่ระยะของดวงอาทิตย์ จึงมีโอกาสที่จะถ่ายติดดาวหางที่เข้ามาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ได้ โดยปกติการสังเกตดาวหางจำพวกนี้จากโลกจะทำได้ยากมากเพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจนถูกแสงจ้าจากดวงอาทิตย์กลบเสียหมด แต่ด้วยความสามารถในการรับมือกับแสงจ้าจากดวงอาทิตย์ของโซโฮ โดยเฉพาะกล้องลาสโก (LASCO--Large Angle and Spectrometric Coronagraph)  จึงเป็นโอกาสให้ตรวจจับดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น

          โจ เกอร์แมน นักวิทยาศาสตร์ของภารกิจโซโฮจากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดในกรีนเบลต์ แมรีแลนด์ กล่าวว่า "ตอนแรกเราหวังบ้างว่าโซโฮอาจมีโอกาสพบดาวหางสักนาน ๆ ครั้ง แต่ไม่มีใครคิดว่าพอเอาเข้าจริงจะพบปีละเกือบสองร้อยดวงแบบนี้"

          ความสำเร็จในการค้นหาดาวหางของโซโฮ ส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากสาธารณชนด้วย นาซาได้ดำเนินโครงการหนึ่งชื่อว่า ซันเกรซเซอร์ โดยเผยแพร่ภาพที่ถ่ายจากโซโฮพร้อมให้ผู้คนดาวน์โหลดไปได้ในเกือบจะทันที เมื่อนักล่าดาวหางได้ภาพไปก็จะต้องกวาดค้นสังเกตจุดเล็ก ๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นดาวหาง เมื่อพบแล้วจึงแจ้งกลับไปยังโครงการเพื่อยืนยันการค้นพบและหาวงโคจร แน่นอนว่านี่เป็นงานที่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างมาก ในจำนวนดาวหาง 3,000 ดวงที่โซโฮค้นพบ มีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ที่มาจากโครงการนี้ ผู้ที่ค้นพบมีตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ ครู นักเขียน และมีแม้แต่เด็กวัย 13 ขวบ

          ดาวหางดวงนี้จะมีชื่อว่าดาวหางโซโฮ ไม่ได้มีชื่อว่าดาวหางวรเชษฐ์หรือดาวหางบุญปลอดตามบุคคลผู้ค้นพบ เพราะการค้นพบครั้งนี้เป็นการพบจากภาพถ่ายของโซโฮที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตามชื่อของนายวรเชษฐ์จะถูกจารึกไว้ที่ไอเอยูในฐานะผู้ค้นพบคนแรก

ภาพที่ค้นพบดาวหางดวงที่ 3,000 ของโซโฮ วงกลมสีทึบคือแผ่นป้องแสงของกล้องที่บังดวงอาทิตย์เพื่อลดแสงจ้า จุดจาง ๆ กลางกรอบเล็กคือดาวหาง ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 วรเชษฐ์ บุญปลอด จากประเทศไทยเป็นผู้ตรวจพบดาวหางดวงนี้เป็นคนแรก

ภาพที่ค้นพบดาวหางดวงที่ 3,000 ของโซโฮ วงกลมสีทึบคือแผ่นป้องแสงของกล้องที่บังดวงอาทิตย์เพื่อลดแสงจ้า จุดจาง ๆ กลางกรอบเล็กคือดาวหาง ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 วรเชษฐ์ บุญปลอด จากประเทศไทยเป็นผู้ตรวจพบดาวหางดวงนี้เป็นคนแรก

ที่มา: