สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงวาบรังสีแกมมาใหม่ ตาเปล่าก็เห็น

แสงวาบรังสีแกมมาใหม่ ตาเปล่าก็เห็น

24 เม.ย. 2551
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เวลา 6:12 น. ตามเวลาสากล ดาวเทียมสวิฟต์ ได้ตรวจพบแสงวาบรังสีแกมมาแห่งหนึ่งที่มีทิศทางมาจากกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ หลังจากมีการแจ้งข่าวให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้ทราบแล้ว กล้องโทรทรรศน์อื่นทั้งที่อยู่บนอวกาศและที่อยู่บนพื้นดินต่างติดตามแสงเรืองค้างที่ยังมองเห็นได้จากแสงวาบแห่งนี้ 

แสงวาบนี้ได้ชื่อว่า จีอาร์บี 080319 บี มีความสว่างในย่านแสงที่ตามองเห็นอยู่ระหว่างอันดับ และ นั่นหมายความว่ามันสว่างในระดับที่ตาเปล่าของมนุษย์มองเห็นได้เลยทีเดียว (คนทั่วไปมองเห็นดาวที่จางที่สุดถึงอันดับ 6) 

ในเย็นของวันเดียวกัน กล้องวีแอลทีในชิลีและกล้องฮ็อบบี-เอเบอร์ลีในเท็กซัสก็สามารถวัดค่าการเลื่อนไปทางแดงของแสงวาบนี้ได้ 0.94 ซึ่งถอดความมาเป็นระยะห่างจากโลกได้ 7.5 พันล้านปีแสง หรือกล่าวอีกอย่างว่าการระเบิดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 7.5 พันล้านปีก่อน นั่นหมายความว่าขณะที่แสดงวาบนี้ได้เกิดขึ้น เอกภพยังมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน และโลกก็ยังไม่เกิด 

"เราไม่เคยพบวัตถุดวงใดหรือการระเบิดครั้งใดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่อยู่ไกลจากเราถึงขนาดนี้มาก่อน" สตีเฟน ฮอลแลนด์ หนึ่งในคณะนักดาราศาสตร์ของสวิฟต์กล่าว  "ถ้าในตอนนั้นมีใครสักคนมองไปบนท้องฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นจริง เขาก็จะมองเห็นแสงจากครั้งนี้ได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ"

แสงวาบรังสีแกมมาส่วนใหญ่เกิดจากดาวฤกษ์ที่มีมวลมากใช้เชื้อเพลิงไปจนหมด เมื่อแกนของดาวเริ่มยุบลงกลายเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอน จะปล่อยรังสีแกมมาพลังงานสูงและลำของอนุภาคออกมาด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าแสง เมื่อลำอนุภาคนั้นกระทบเข้ากับกลุ่มแก๊สในอวกาศที่อยู่ข้างเคียง จะทำให้แก๊สนั้นร้อนและเปล่งแสงออกมา และแสงนี้นี่เองที่สว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 

แสงเรืองค้างของจีอาร์บี 080319 บี สว่างไสวกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไปถึง 2.5 ล้านเท่า นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดในเอกภพเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจพบ และยังเป็นวัตถุที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกด้วย เจ้าของสถิติก่อนหน้านี้คือดาราจักรเอ็ม 33 (ดาราจักรตะไล) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 2.9 ล้านปีแสง

ขณะนี้ข้อมูลจากจีอาร์บี 080319 บี ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ถอดความ นักดาราศาสตร์จึงยังตอบไม่ได้ว่าเหตุใดแสงวาบนี้จึงมีความสว่างมากมายถึงขนาดนั้น บางทีอาจเป็นเพราะมันมีพลังงานมากกว่าเนื่องจากมีมวลมากกว่า หมุนรอบตัวเองเร็วกว่า สนามแม่เหล็กของดาวรุนแรงกว่า หรืออาจเป็นเพราะว่าลำของอนุภาคที่พ่นออกมาบีบแคบและชี้ตรงมายังโลกพอดีก็ได้

ในวันที่พบจีอาร์บี 080319 บี ดาวเทียมสวิฟต์ยังได้พบแสงวาบรังสีแกมมาอีกสามแห่ง ซึ่งการพบแสงวาบถึงสี่แห่งในวันเดียวกันก็เป็นสถิติใหม่ของสวิฟต์อีกเช่นกัน


แสงวาบรังสีแกมมา <wbr>จีอาร์บี <wbr>080319 <wbr>บี <wbr>(GRB <wbr>080319B) <wbr>ลุกโพลงขึ้นเป็นช่วงสั้น <wbr>ๆ <wbr>ท่ามกลางดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์<br />

แสงวาบรังสีแกมมา จีอาร์บี 080319 บี (GRB 080319B) ลุกโพลงขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ท่ามกลางดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

แสงเรืองค้างจากจีอาร์บี 080319 บี บันทึกโดยกล้องรังสีเอกซ์ของดาวเทียมสวิฟต์

แสงเรืองค้างจากจีอาร์บี 080319 บี บันทึกโดยกล้องรังสีเอกซ์ของดาวเทียมสวิฟต์

ที่มา: