สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โจทย์ใหม่จากเมสเซนเจอร์

โจทย์ใหม่จากเมสเซนเจอร์

27 ก.พ. 2551
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
การไปเยือนดาวพุธของยานเมสเซนเจอร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ให้ภาพของดาวพุธต่างไปจากที่นักดาราศาสตร์เคยเข้าใจอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่คิดว่าดาวพุธมีลักษณะคล้ายดวงจันทร์ของเราหลายอย่าง แต่ข้อมูลจากเมสเซนเจอร์กลับบอกอีกอย่างหนึ่ง

หลังจากการเดินทางเป็นระยะทางกว่าสามพันล้านกิโลเมตรและใช้เวลาสามปีครึ่ง ยานเมสเซนเจอร์ (MESSENGER--MErcury Surface, Space ENvironment, GEochemistry and Ranging) ขององค์การนาซา ก็ได้ไปถึงดาวพุธอันเป็นจุดหมายปลายทางเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เป็นยานลำแรกที่ไปถึงดาวพุธในรอบสามสิบปี ยานลำก่อนหน้านี้คือยานมาริเนอร์ 10 ซึ่งไปสำรวจดาวพุธในปี 2518 

"การเข้าใกล้ดาวพุธครั้งนี้เปิดเผยภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน" ชอน โซโลมอน  จากสถาบันคาร์เนกีวอชิงตัน หัวหน้าผู้สอบสวนของโครงการเมสเซนเจอร์กล่าว
กล้องและอุปกรณ์นานาชนิดบนยานเมสเซนเจอร์ได้ถ่ายภาพดาวพุธกว่า 1,200 ภาพและส่งกลับมายังโลก นักดาราศาสตร์ได้พบหน้าผาขนาดใหญ่หลายแห่งที่เหยียดยาวนับร้อยกิโลเมตร หน้าผาเหล่านี้แสดงถึงการเลื่อนของแผ่นดินในยุคอดีตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พบบนดวงจันทร์

นอกจากนี้ยังมีภาพของหลุมอุกกาบาตที่แตกต่างจากหลุมที่พบบนดวงจันทร์ หลุมหนึ่งที่ยานถ่ายภาพมาได้มีลักษณะที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนไม่ว่าจะเป็นที่อื่นบนดาวพุธหรือดวงจันทร์ นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อลักษณะนี้ว่า "แมงมุม" 

หลุมแมงมุมนี้อยู่กลางหลุมขนาดใหญ่ชื่อแคลอริส มีคูร่องที่มีพื้นราบกวาดเป็นแนวรัศมีรอบหลุมนับร้อยเส้น กลางรูปแมงมุมนี้มีหลุมอุกกาบาตหนึ่งหลุมใกล้ศูนย์กลาง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่แน่ใจว่าหลุมนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับการเกิดรูปแมงมุมนี้หรือไม่ 

เมื่อครั้งที่ยานมาริเนอร์ 10 สำรวจดาวพุธ ได้เคยประเมินว่าหลุมแคลอริสมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,280 กิโลเมตร แต่ภาพจากเมสเซนเจอร์ได้ให้ภาพที่ชัดเจนว่ามีขนาด 1,540 กิโลเมตร  นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่ราบก้นหลุมนี้ยังสะท้อนแสงได้มากกว่าพื้นผิวด้านนอก สมบัติเช่นนี้ตรงข้ามกับหลุมบนดวงจันทร์ที่พื้นที่นอกหลุมจะคล้ำกว่าพื้นที่ในหลุม

แมกนิโตสเฟียร์และสนามแม่เหล็กรอบดาวพุธที่ยานตรวจพบขณะเฉียดเข้าใกล้ก็ดูเหมือนจะต่างจากเมื่อครั้งที่ยานมาริเนอร์ 10 มาเยือนด้วย ยานเมสเซนเจอร์พบว่าสนามแม่เหล็กของดาวพุธปกติจะราบเรียบและก็มีบางจุดที่มีแรงกดดันภายในแมกนิโตสเฟียร์

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นบนโลก สนามแม่เหล็กของดาวพุธเกิดจากปรากฏการณ์ไดนาโมที่อยู่ภายในชั้นโลหะหลอมเหลวที่อยู่ใจกลางเนื้อดาวเคราะห์ ในจำนวนดาวเคราะห์หินทั้งสี่ดวงในระบบสุริยะของเรา มีเพียงดาวพุธและโลกเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ สนามแม่เหล็กเบี่ยงเบนลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดโครงสร้างแบบฝักห่อหุ้มโลก เป็นการปกป้องพื้นผิวโลกมิให้สัมผัสถูกอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์รวมทั้งจากแหล่งกำเนิดอื่นนอกระบบสุริยะด้วย 
นักดาราศาสตร์คาดว่า การผันแปรในลักษณะเดียวกันก็น่าจะเกิดขึ้นบนสนามแม่เหล็กของดาวพุธด้วย แต่ธรรมชาติที่แท้จริงและความเร็วในการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดาวพุธเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครทราบ 

คาดว่าในการเข้าเฉียดดาวพุธอีกสองครั้งในอนาคตของยานเมสเซนเจอร์อาจให้เข้าใกล้คำตอบยิ่งขึ้น


พื้นผิวดาวพุธ ถ่ายโดยกล้องมุมแคบของยานเมสเซนเจอร์ แสดงหน้าผาสูงชันทอดยาวตามแนวตั้งอยู่ทางขอบขวาของภาพ ภาพนี้มีความกว้าง 200 กิโลเมตร (ภาพจาก NASA/JHUAPL/CIW)

พื้นผิวดาวพุธ ถ่ายโดยกล้องมุมแคบของยานเมสเซนเจอร์ แสดงหน้าผาสูงชันทอดยาวตามแนวตั้งอยู่ทางขอบขวาของภาพ ภาพนี้มีความกว้าง 200 กิโลเมตร (ภาพจาก NASA/JHUAPL/CIW)

"หลุมแมงมุม" อยู่ก้นแอ่งแคลอริส บนพื้นผิวดาวพุธ

"หลุมแมงมุม" อยู่ก้นแอ่งแคลอริส บนพื้นผิวดาวพุธ

ที่มา: