สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บรรยากาศบนดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่น

บรรยากาศบนดาวเคราะห์ระบบสุริยะอื่น

8 มี.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
การศึกษาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อนักดาราศาสตร์สามารถตรวจหาองค์ประกอบของบรรยากาศบนดาวเคราะห์ได้ แต่ก็ต้องประหลาดใจกับสิ่งที่พบ

คณะนักดาราศาสตร์ที่นำโดย คาร์ล กริลล์แมร์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์สปิตเซอร์และ เดวิด ชาบงโน จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน รายงานว่าสามารถวัดสเปกตรัมโดยตรงจากดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นเป็นครั้งแรก 

ดาวเคราะห์ที่นักดาราศาสตร์คณะนี้สำรวจ มีชื่อว่า เอชดี 189733 บี (HD 189733b) เป็นดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่เบากว่าและเย็นกว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย อยู่ห่างออกไป 60 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวหมาจิ้งจอก และเป็นดาวเคราะห์ที่มีแนวโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกที่สุด การสำรวจอาศัยสเปกโทรกราฟอินฟราเรดที่ติดอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา 

"มันเหมือนกับการได้ไปสูดบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงนั้นเข้าในปอดจริงๆ" ชาบงโนเปรียบเปรย "แต่เราก็ต้องประหลาดใจกับสิ่งที่พบ หรือจะว่ากันให้ถูกต้อง เราต้องประหลาดใจกับสิ่งที่เราไม่พบ"

"เราคาดหวังว่าจะได้เห็นโมเลกุลทั่วไปอย่างเช่น น้ำ มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ แต่กลับไม่พบเลย สเปกตรัมที่พบราบเรียบ ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวของโมเลกุลใดเลย" กริลล์แมร์อธิบาย

ดาวเอชดี 189733 บี เป็นดาวเคราะห์ประเภท "พฤหัสร้อน" ซึ่งหมายถึงเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่และหนักมาก โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยวงโคจรเล็กมาก ในกรณีของดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบโคจร 2.2 วัน มีมวลและขนาดใหญ่กว่าพฤหัสบดี อยู่ห่างจากดาวฤกษ์เพียงสาม 4.8 ล้านกิโลเมตร อุณหภูมิของดาวเคราะห์ดวงนี้จึงสูงมากถึง 930 องศาเซลเซียส

ดาวเอชดี 189733 บี ได้รับเลือกให้เป็นเป้าหมายในการสำรวจเนื่องจากมีแนวโคจรผ่านหน้าดาวแม่ ดังนั้นบางช่วงดาวจะผ่านหน้าดาวฤกษ์ และบางช่วงก็หายไปอยู่ด้านหลัง ช่วงที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวเคราะห์จะบังแสงจากดาวฤกษ์ไปบางส่วน  ทำให้แสงสว่างจากดาวฤกษ์ลดลงเล็กน้อย ในทางกลับกัน เมื่อดาวเคราะห์อ้อมไปอยู่หลังดาวฤกษ์ แสงจากดาวเคราะห์ก็ถูกดาวฤกษ์บัง แสงจากทั้งระบบก็จะลดลงเล็กน้อยเช่นกัน การสำรวจการบังในช่วงที่ดาวเคราะห์อ้อมไปอยู่ด้านหลังช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถคัดกรองเอาสัญญาณของดาวฤกษ์ใกล้เคียงดวงอื่นออกไป เหลือเเฉพาะแสงจากดาวเคราะห์เพียงอย่างเดียวได้

การคำนวณตามทฤษฎีไม่ว่าจะมาจากนักดาราศาสตร์สำนักใดล้วนระบุตรงกันว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะแสดงสเปกตรัมของไอน้ำเด่นชัดที่สุด สเปกตรัมของมีเทนก็ควรจะมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  แล้วเหตุใดกลับไม่พบสเปกตรัมของไอน้ำและมีเทนบนดาวเคราะห์ดวงนี้เลย 

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวเคราะห์ไม่ว่าที่ใดล้วนมีกำเนิดแบบเดียวกัน และเนื่องจากบริเวณรอบดวงอาทิตย์มีโมเลกุลของน้ำและมีเทนอยู่มาก ดังนั้นรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่คล้ายดวงอาทิตย์ก็ควรมีโมเลกุลสองชนิดนี้มากเช่นเดียวกัน เขาเชื่อว่าสาเหตุที่ตรวจไม่พบน่าจะเป็นเพราะมีบางอย่างมาบดบังโมเลกุลสองชนิดนี้อยู่

ผู้ที่มาช่วยคลี่คลายปมปริศนาข้อนี้เป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่ง ชื่อ เอชดี 209458 บี (HD 209458b) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่ง สำรวจโดยคณะนักดาราศาสตร์ที่นำโดย เจอเรมี ริชาร์ดสัน จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด นักดาราศาสตร์คณะนี้วัดสเปกตรัมของดาวเคราะห์นี้ได้เช่นกันและพบสัญญาณของซิลิเกตซึ่งเป็นโมเลกุลที่ประกอบด้วยซิลิคอนและออกซิเจน บนโลกเราจะพบโมเลกุลประเภทนี้ในก้อนหิน แต่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนระอุบนดาวเคราะห์เหล่านั้น ซิลิเกตจะอยู่ในรูปของฝุ่นเม็ดเล็กจิ๋วที่ก่อกันเป็นก้อนเมฆได้

"เราเชื่อว่าดาวเคราะห์ทั้งสองดวงน่าจะปกคลุมไปด้วยเมฆซิลิเกต" ชาบงโนกล่าว "คาดว่าดาวเคราะห์สองดวงนี้คงจะดูดำมืด ดำกว่าดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะของเรา"

หนทางที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ทฤษฎีนี้ก็คือต้องศึกษาดาวเคราะห์ประเภทพฤหัสร้อนดวงอื่นเพิ่มขึ้น แล้วดูว่ามีสัญญาณแบบเดียวกันในสภาพบรรยากาศบนดาวดวงนั้นหรือไม่ 

ภาพวาดดาวเคราะห์ เอชดี 189733 บี (HD 189733b) ตามจินตนาการของศิลปิน เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ดวงอื่นดวงแรกที่นักดาราศาสตร์วัดสเปกตรัมอินฟราเรดได้ ดาวเคราะห์ดวงนี้ดูเหมือนไม่มีโมเลกุลพื้นฐานเช่นน้ำหรือมีเทนเลย นักดาราศาสตร์คาดว่าโมเลกุลเหล่านั้นอาจมีอยู่แต่ถูกบดบังด้วยชั้นเมฆซิลิเกตอยู่ (ภาพจาก David A. Aguilar (CfA))

ภาพวาดดาวเคราะห์ เอชดี 189733 บี (HD 189733b) ตามจินตนาการของศิลปิน เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ดวงอื่นดวงแรกที่นักดาราศาสตร์วัดสเปกตรัมอินฟราเรดได้ ดาวเคราะห์ดวงนี้ดูเหมือนไม่มีโมเลกุลพื้นฐานเช่นน้ำหรือมีเทนเลย นักดาราศาสตร์คาดว่าโมเลกุลเหล่านั้นอาจมีอยู่แต่ถูกบดบังด้วยชั้นเมฆซิลิเกตอยู่ (ภาพจาก David A. Aguilar (CfA))

ที่มา: