สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แคลสซีนีพบไฮโดรคาร์บอนบนไฮเพียเรียน

แคลสซีนีพบไฮโดรคาร์บอนบนไฮเพียเรียน

13 ก.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นครั้งแรกที่ยานแคสซีนีของนาซาได้เปิดเผยรายละเอียดของพื้นผิวของดวงจันทร์ไฮเพียเรียนของดาวเสาร์ ข้อมูลเบื้องต้นบ่งบอกว่าว่าสารเคมีพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตมีอยู่ทั่วไปในระบบสุริยะของเรา
ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปี 2548 ยานแคสซีนีเคยเข้าใกล้และถ่ายภาพดวงจันทร์ดวงนี้มาครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นได้แสดงรูปร่างพื้นผิวที่แปลกประหลาด มีพื้นผิวที่พรุนคล้ายฟองน้ำ และพบคาร์บอนไดออกไซด์แข็งกับน้ำแข็งอยู่ด้วย

การเข้าใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้อีกครั้ง ยานแคสซีนีได้วัดองค์ประกอบทางเคมีและหลุมอุกกาบาตบนไฮเพียเรียน รวมถึงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่จะทำให้เข้าใจว่าดวงจันทร์ดวงนี้กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถทำแผนที่แสดงชนิดวัสดุพื้นผิวของไฮเพียเรียนได้

"เรื่องที่สนใจเป็นพิเศษคือการที่พบไฮโดรคาร์บอน (สารที่มีคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบ) ซึ่งพบในดาวหาง อุกกาบาต และฝุ่นในดาราจักร" เดล ครุยแชงก์ นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ของศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซาและหัวหน้าคณะวิจัยกล่าว "โมเลกุลเหล่านี้เมื่อฝังอยู่ในน้ำแข็งและได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจะทำให้เกิดโมเลกุลทางชีวภาพขึ้นมา นี่ไม่ได้หมายความว่าเราพบสิ่งมีชีวิต แต่เป็นการพบหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนว่าสารเคมีพื้นฐานที่จำเป็นในการให้กำเนิดชีวิตมีอยู่ทั่วไปในเอกภพ"

สเปกโทรกราฟของยานแคสซีนีสามารถถ่ายภาพแสดงแร่ธาตุและเคมีบนดวงจันทร์ดวงนี้ และส่งกลับมายังโลก การค้นพบของแคสซีนีเป็นการยืนยันว่าบนดวงจันทร์ดวงนี้มีน้ำแข็งอยู่จริงตามที่เคยสำรวจมาก่อนหน้านี้จากกล้องภาคพื้นดิน นอกจากนี้ยังพบว่ายังปะปนด้วยน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง) ผสมอยู่ด้วย บริเวณที่พบน้ำแข็งคือส่วนที่ดูขาวโพลนจากภาพถ่ายระยะใกล้ น้ำแข็งเหล่านี้อยู่ในรูปผลึกเช่นเดียวกับบนโลก "น้ำแข็งบนพื้นผิวของไฮเพียเรียนส่วนใหญ่เป็นน้ำ (H2O) ปะปนกับฝุ่นอินทรีย์ แต่คาร์บอนไดออกไซด์ก็โดดเด่นเช่นกัน น้ำแข็งแห้งที่พบไม่ใช่น้ำแข็งแห้งบริสุทธิ์ แต่เป็นน้ำแข็งแห้งที่มีพันธะทางเคมีอยู่กับโมเลกุลชนิดอื่น" ครุยก์แชงก์อธิบาย

ข้อมูลยานสำรวจลำอื่นที่เคยสำรวจดวงจันทร์ของดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีเช่นแกนีมีดกับคัลลิสโตแสดงว่าโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ซับซ้อน หรือไม่ก็เกาะติดอยู่กับผิวหน้าของสสารชนิดอื่น "เราเชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วไปได้ระเหยออกไปจากดาวดวงจันทร์ของดาวเสาร์เป็นเวลานานแล้ว แต่คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกาะอยู่กับสสารอื่นยังคงอยู่ได้เพราะมีสเถียรภาพดีกว่า"

ไฮเพียเรียนเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับแปดของดาวเสาร์ โคจรรอบดาวเสาร์ครบรอบใช้เวลา 21 วัน

แผนที่องค์ประกอบของไฮเพียเรียนซ้อนบนภาพถ่าย ส่วนสีน้ำเงินคือส่วนที่มีน้ำแข็งอยู่มากที่สุด ส่วนสีแดงคือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (น้ำแข็งแห้ง) ส่วนสีม่วงคือบริเวณที่มีน้ำแข็งกับคาร์บอนไดออกไซด์แข็งผสมกัน ส่วนสีเหลืองคือส่วนที่คาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับสารชนิดอื่นที่ยังระบุชนิดไม่ได้ (ภาพจาก NASA/JPL/University of Arizona/Ames/Space Science Institute)

แผนที่องค์ประกอบของไฮเพียเรียนซ้อนบนภาพถ่าย ส่วนสีน้ำเงินคือส่วนที่มีน้ำแข็งอยู่มากที่สุด ส่วนสีแดงคือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (น้ำแข็งแห้ง) ส่วนสีม่วงคือบริเวณที่มีน้ำแข็งกับคาร์บอนไดออกไซด์แข็งผสมกัน ส่วนสีเหลืองคือส่วนที่คาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับสารชนิดอื่นที่ยังระบุชนิดไม่ได้ (ภาพจาก NASA/JPL/University of Arizona/Ames/Space Science Institute)

ที่มา: