สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เพื่อนบ้านใหม่ดวงอาทิตย์

เพื่อนบ้านใหม่ดวงอาทิตย์

21 พ.ย. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยิ่งกล้องโทรทรรศน์พัฒนาไปมากขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งค้นพบดาวใหม่มากขึ้นเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบระบบดาวหลายดวงเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง ดาวที่พบใหม่นี้ไม่ใช่ดาวที่อยู่ไกลโพ้น แต่เป็นดาวเพื่อนบ้านของดวงทิตย์นี้เอง เหตุที่เพิ่งค้นพบเนื่องจากเป็นดาวที่แสงจางมากจนไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน 

การค้นพบนี้เป็นผลงานของ โครงการวิจัยรีคอนส์ (RECONS--Research Consortium on Nearby Stars) งานของรีคอนส์มีเป้าหมายที่การศึกษาดาวฤกษ์ในละแวกใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ทั้งในด้านมวล ช่วงวิวัฒนาการ และอัตราส่วนของระบบดาวหลายดวงว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ภารกิจของนักวิจัยคือหาสมบัติด้านต่าง ๆ ของดาวฤกษ์และดาวแคระน้ำตาลใกล้ดวงอาทิตย์ เช่น ตำแหน่ง ความสว่าง สี รวมถึงการวัดสเปกตรัมเพื่อหาองค์ประกอบของบรรยากาศ วัตถุที่คาดว่าจะได้พบได้แก่ดาวที่มีมวลต่ำมาก เช่นดาวสเปกตรัมเอ็ม แอล และที อาจรวมถึงราวแคระน้ำตาลด้วย

วัตถุใหม่ที่พบทั้ง 20 ดวงเป็นดาวแคระแดงทั้งหมด นับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีการค้นพบดาวที่ค้นพบใหม่ที่อยู่ภายในรัศมี 10 พาร์เซกมาแล้ว 34 ดวง ปัจจุบันมีวัตถุวัตถุนอกระบบสุริยะที่อยู่ภายในรัศมี 10 พาร์เซกจากดวงอาทิตย์ที่พบแล้วทั้งสิ้น 348 ดวง ในจำนวนนี้เป็นวัตถุที่พบโดยโครงการรีคอนส์ถึง 239 ดวง รวม 20 ที่พบใหม่นี้ด้วย ดาวแคระแดงเป็นวัตถุที่จางที่สุดชนิดหนึ่งแต่ก็มีมากที่สุดในทางช้างเผือกด้วย คาดว่าดาวในดาราจักรทางช้างเผือกเป็นดาวแคระแดงถึงร้อยละ 69 

ระยะทางของดาวเหล่านี้พบโดยวิธีที่เป็นแบบฉบับที่สุดนั่นคือใช้หลักการแพรัลแลกซ์ตรีโกณโดยใช้กล้องขนาด 0.9 เมตรที่หอดูดาวเซอร์โรโตโลโลอินเตอร์อเมริกัน  วิธีนี้ใช้หลักการทางตรีโกณมิติ ที่หาระยะห่างของดาวโดยวัดการเปลี่ยนตำแหน่งปรากฏของดาวเมื่อโลกเปลี่ยนตำแหน่งไป  กล้องนี้มีความสามารถในการวัดตำแหน่งของดาวที่แม่นยำมากเพียงหนึ่งในพันของพิลิปดา ทำให้นักดาราศาสตร์วัดระยะทางได้จนมีความผิดพลาดต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่ระยะต่ำกว่า 300 ปีแสงได้

ด้วยความที่ดาวพวกนี้อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงเป็นเป้าหมายที่ดีในการค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นด้วย และอาจรวมถึงการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวดาวเคราะห์เหล่านั้นด้วย

ดาราจักรทางช้างเผือก ดาราจักรที่เป็นที่อยู่ของดวงอาทิตย์และระบบสุริยะของเรา

ดาราจักรทางช้างเผือก ดาราจักรที่เป็นที่อยู่ของดวงอาทิตย์และระบบสุริยะของเรา

ที่มา: