สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เรื่องเซดนา ยังไม่จบ

เรื่องเซดนา ยังไม่จบ

28 ก.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปลายปีที่แล้ว นักดาราศาสตร์ได้พบวัตถุขนาดใหญ่ดวงหนึ่งนอกวงโคจรพลูโต มีชื่อว่า 2003 VB12 และมีชื่อสามัญว่า เซดนา สร้างความตื่นเต้นจนเป็นข่าวพาดหัวว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบ และทิ้งคำถามสำคัญฝากนักดาราศาสตร์เอาไว้ว่า เซดนามาจากไหน

เซดนามีวงโคจรรีมาก อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 75-985 หน่วยดาราศาสตร์ มีขนาดใหญ่มาก และอยู่พ้นขอบเขตของดงวัตถุไคเปอร์ จึงไม่อาจจัดให้เซดนาเป็นวัตถุประเภทที่รู้จักได้ง่ายนัก 

แม้สถานะและต้นกำเนิดของเซดนาจะยังคลุมเครือ แต่นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเซดนาต้องไม่ได้กำเนิดขึ้น ณ ตำแหน่งปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะจานพอกพูนมวล (accretion disc) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสร้างดาวเคราะห์ของระบบสุริยะไม่แผ่ออกไปไกลขนาดนั้น

ล่าสุดวารสาร แอสทรอนอมิคัลเจอร์นัล ฉบับเดือนพฤศจิกายน ได้รายงานว่า นักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของทฤษฎีต่าง ๆ ที่อธิบายต้นกำเนิดของเซดนา หลังจากที่พิจารณาตัดตัวเลือกออกไปได้ทีละข้อ จนเหลือทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุด คือทฤษฎีที่อธิบายว่า ในช่วงที่ระบบสุริยะเพิ่งกำเนิดขึ้น มีอายุยังไม่ถึง 100 ล้านปี ซึ่งในขณะนั้น ดวงอาทิตย์ยังเป็นสมาชิกของกระจุกดาวเปิด และแถบไคเปอร์กับเมฆออร์ตยังไม่เกิดขึ้น มีดาวฤกษ์ดวงอื่นในกระจุกดาวเดียวกันผ่านเข้ามาในระยะไม่กี่ร้อยหน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์ (ระยะ หน่วยดาราศาสตร์เท่ากับระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงอาทิตย์) สนามความโน้มถ่วงของดาวดวงนี้ได้รบกวนให้เซดนามีวงโคจรเป็นเช่นปัจจุบัน นอกจากเซดนาแล้ว ยังมีวัตถุอีกดวงหนึ่งที่ถูกรบกวนในลักษณะเดียวกันก็คือ 2000 ซีอาร์ 105 ซึ่งมีวงโคจรรีมากแบบเดียวกับเซดนา (45-415 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์) 

  

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยังกล่าวถึงทฤษฎีอีกทฤษฎีหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เช่นกัน นั่นคือ ทั้งเซดนาและ 2000 ซีอาร์ 105 เคยเป็นดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์มวลต่ำหรือดาวแคระน้ำตาลดวงหนึ่ง ต่อมาบังเอิญเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะไม่กี่ร้อยหน่วยดาราศาสตร์ จึงถูกดวงอาทิตย์แย่งมาเป็นบริวาร  

ภาพวาดดาวเซดนาตามจินตนาการของศิลปิน (ภาพจาก NASA/JPL/Caltech/R. Hurt)

ภาพวาดดาวเซดนาตามจินตนาการของศิลปิน (ภาพจาก NASA/JPL/Caltech/R. Hurt)

ผังวงโคจรของเซดนาเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ

ผังวงโคจรของเซดนาเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ

ที่มา: