สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ค้นหาดาวเคราะห์จากปรากฏการณ์ผ่านหน้าดาวฤกษ์

ค้นหาดาวเคราะห์จากปรากฏการณ์ผ่านหน้าดาวฤกษ์

30 มิ.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจยังติดตาตรึงใจหลาย ๆ คน เป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้มองย้อนอดีตไปสมัยที่เจมส์ คุก ออกเดินทางไกลสังเกตปรากฏการณ์นี้เพื่อค้นหาขนาดของระบบสุริยะ

ปัจจุบัน แม้การผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นดาวพุธหรือดาวศุกร์จะเหลือความสำคัญเพียงด้านทางประวัติศาสตร์ แต่ปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้ กำลังจะเป็นเครื่องมือใหม่ของนักดาราศาสตร์สำหรับค้นหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น

หลังจากที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่จากการผ่านหน้าดาวฤกษ์เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ในลักษณะเดียวกันอีกถึงสองดวง สองดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ยักษ์แบบเดียวกับดาวพฤหัสบดี และมีวงโคจรแคบมาก การค้นพบนี้เป็นผลงานของโครงการสำรวจปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงที่มีชื่อว่าโอเกิล ซึ่งได้พบว่ามีดาวฤกษ์สองดวงหรี่แสงลงเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากดาวเคราะห์ผ่านหน้า

หลังจากนั้นนักดาราศาสตร์ จึงได้สำรวจเพิ่มเติมโดยใช้กล้องเควเยงของกลุ่มกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีที่มีขนาดหน้ากล้องถึง 8.2 เมตร วัดการเลื่อนดอปเพลอร์ของดาวฤกษ์ที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ที่โคจรรอบอยู่ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของความสว่างและการเคลื่อนที่ตามแนวรัศมีทำให้ทราบมวลของดาวเคราะห์ได้

ดาวเคราะห์ดวงแรกชื่อ โอเกิล-ทีอาร์-113 (OGLE-TR-113) โคจรรอบดาวฤกษ์ชนิดเอฟดวงหนึ่งในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ อยู่ห่างออกไป 6,000 ปีแสง มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ มีรัศมีวงโคจรเพียง 3.4 ล้านกิโลเมตร หรือแคบกว่าวงโคจรของดาวพุธถึง 17 เท่า โคจรรอบดาวแม่ครบรอบทุก 1.43 วัน 

ดาวเคราะห์อีกดวงชื่อ โอเกิล-ทีอาร์-132 (OGLE-TR-132) เป็นบริวารของดาวแคระสเปกตรัมเคอีกดวงหนึ่ง อยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือเหมือนกัน อยู่ห่างออกไป 1,200 ปีแสง มีมวลใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ 4.6 ล้านกิโลเมตร โคจรรอบดาวแม่ครบรอบทุก 1.69 วัน

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวฤกษ์ เส้นกราฟที่เป็นแอ่ง แสดงถึงการลดความสว่างฉับพลันที่เกิดจากการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ ภาพบนเป็นของดาวโอเกิล-ทีอาร์-113 ภาพล่างเป็นของดาวโอเกิล-ทีอาร์-132 (ภาพจาก ESO)

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวฤกษ์ เส้นกราฟที่เป็นแอ่ง แสดงถึงการลดความสว่างฉับพลันที่เกิดจากการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ ภาพบนเป็นของดาวโอเกิล-ทีอาร์-113 ภาพล่างเป็นของดาวโอเกิล-ทีอาร์-132 (ภาพจาก ESO)

ที่มา: