สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แก๊สเรือนกระจกส่งผลกระทบต่อดาวเทียม

แก๊สเรือนกระจกส่งผลกระทบต่อดาวเทียม

3 มี.ค. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการวิจัยนาวีสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบว่าบรรยากาศโลกชั้นบนสุดของโลกกำลังเย็นลงและหดลง อันเป็นผลมาจากระดับของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทั้งดีและเสียต่อดาวเทียมและการบินอวกาศ

รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ความหนาแน่นเฉลี่ยของบรรยากาศโลกชั้นบนสุดเหนือพื้นโลก 90 กิโลเมตรขึ้นไปที่เรียกว่า เทอร์มอสเฟียร์ ลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

การศึกษานี้กระทำโดยการติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุอวกาศ 27 ชิ้นที่โคจรรอบโลกมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีและมีจุดใกล้โลกที่สุดตั้งแต่ 200-800 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับกระสวยอวกาศซึ่งมีระดับวงโคจรปรกติที่ 300-450 กิโลเมตร และสถานีอวกาศนานาชาติมีระดับวงโคจรประมาณ 400 กิโลเมตร แม้บรรยากาศบริเวณนี้จะเบาบางมากเพียงหนึ่งในล้านล้านเท่าของบรรยากาศบนผิวโลก แต่ก็มากพอที่จะต้านการเคลื่อนที่ของดาวเทียม ทำให้ดาวเทียมเคลื่อนที่ช้าลงและวงโคจรคล้อยต่ำลงจนตกลงสู่โลกในที่สุด จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการโคจรของวัตถุเหล่านี้ ทำให้ทราบความหนาแน่นเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่วัตถุได้ผ่านมา 

ตามทฤษฎี การที่บรรยากาศลดความหนาแน่นลงเกิดจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่น ๆ ในบรรยากาศเพิ่มขื้น ที่บรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ แก๊สเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้น แต่ที่บรรยากาศระดับสูงกว่า 12 กิโลเมตรขึ้นไปกลับเพิ่มความประสิทธิภาพในการแผ่ความร้อนสู่อวกาศ จึงทำให้บรรยากาศเย็นลง ยิ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีมากขึ้น บรรยากาศชั้นบนก็เย็นลง หดลง และลดระดับลง 

แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย ดาวเทียมจะมีอายุอยู่ในวงโคจรได้นานขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ขยะอวกาศที่เป็นอันตรายต่อดาวเทียมและการบินอวกาศก็อยู่ในวงโคจรได้นานขึ้นด้วย จึงมีโอกาสชนเข้ากับยานอวกาศหรือดาวเทียมมากขึ้น

(ภาพจาก NASA)

(ภาพจาก NASA)

ที่มา: