สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ด้วยแว่นขยาย

พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ด้วยแว่นขยาย

26 เม.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เครื่องมือของนักดาราศาสตร์ไม่ได้มีแค่กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวเท่านั้น บางครั้งก็ใช้แว่นขยายด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้นักดาราศาสตร์ใช้แว่นขยายค้นพบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะของเราอยู่ไกลออกไปนับหมื่นปีแสง

การค้นพบครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างนักสำรวจสองคณะคือ คณะสำรวจไมโครเลนซิงทางดาราศาสตร์ (Moa-Microlensing Observations in Astrophysics) และคณะสำรวจเลนส์ความโน้มถ่วงเชิงแสง (Ogle-Optical Gravitational Lensing Experiment) ร่วมกับนักดาราศาสตร์เล่นที่มีเครื่องมือชั้นดีอีกจำนวนหนึ่ง

ดาวเคราะห์ใหม่ดวงนี้อยู่ห่างออกไป 17,000 ปีแสงในกลุ่มดาวคนยิงธนู เป็นบริวารของดาวแคระแดงดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีเพียง 1.5 เท่า อยู่ห่างจากดาวแม่ออกไปประมาณสามเท่าของระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ 

การค้นพบนี้อาศัยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ไมโครเลนซิง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งบังดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งพอดี แรงโน้มถ่วงจากดาวที่บังจะเบนแสงจากดาวที่อยู่ข้างหลังให้ชี้เข้าหาโลก เหมือนเลนส์ของแว่นขยายที่ขยายแสงให้สว่างขึ้น นักดาราศาสตร์สามารถวิเคราะห์มวลของวัตถุที่บังได้จากการวิเคราะห์กราฟความสว่างที่ปรากฏ

การค้นพบครั้งนี้ ดาวดวงหนึ่งบังดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป 24,000 ปีแสง ใกล้กับใจกลางทางช้างเผือก และระหว่างที่มีการบังกันพบว่ามีการเพิ่มความสว่างเป็นช่วงสั้น ๆ ซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งตีความได้ว่า เป็นผลจากดาวอีกดวงหนึ่งที่มีมวลประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์ของดวงที่ใหญ่กว่ามาบังด้วย วัตถุดวงนี้ก็คือดาวเคราะห์ของดาวนั้นนั่นเอง การค้นพบครั้งนี้เป็นการพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรก

ความจริงก่อนหน้านี้ในปี 2536 เคยมีรายงานการค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นด้วยปรากฏการณ์เลนส์จุลภาคมาก่อนแล้ว แต่ในครั้งนั้นไม่เป็นที่รับรองเนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจมีน้อยเกินไป 

คาดว่าปรากฏการณ์เลนส์จุลภาคนี้จะมีบทบาทสำคัญในการค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นในอนาคตอันใกล้นี้ และจะมีศักยภาพในการตรวจหาดาวเคราะห์ที่มีมวลต่ำถึงระดับดาวเนปจูนหรืออาจจะเท่ากับโลกก็ได้ 

เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ต้องหาศัยความบังเอิญที่ดาวสองดวงมาบังกันพอดี ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก การค้นหาด้วยวิธีนี้จึงจำเป็นต้องสำรวจดาวฤกษ์จำนวนมากนับล้าน ๆ ดวง เป็นข่าวดีที่ขณะนี้การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานดาราศาสตร์ระดับโลก และมีการสร้างกล้องใหม่ที่จะทำหน้าที่เฉพาะกิจนี้เพิ่มขึ้น 

ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปินของดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่พบด้วยปรากฏการณ์เลนส์จุลภาค (ภาพจาก NASA/JPL)

ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปินของดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่พบด้วยปรากฏการณ์เลนส์จุลภาค (ภาพจาก NASA/JPL)

ที่มา: